“ก้าวไกล” ชนต่อปม “ทรู-ดีแทค” ควบรวม ซัด “ชัยวุฒิ” เห็นแต่ประโยชน์กลุ่มทุน
“พรรคก้าวไกล” ชนต่อปม “ทรู-ดีแทค” ควบรวมกิจการ “วิโรจน์” ซัด “ชัยวุฒิ” มองเห็นแต่ประโยชน์กลุ่มทุน ทั้งที่ รบ.มีหน้าที่ป้องกันการผูกขาดธุรกิจ เพื่อรักษาประโยชน์ประชาชน “วรภพ” เผยทวีปเอเชียมีแค่ “เกาหลีเหนือ-หมู่เกาะโซโลมอน” ที่มีผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายเดียว
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องการควบรวมบริษัทระหว่างทรูและดีแทค ว่า การที่รัฐมนตรีดีอีเอสกล่าวว่าการควบรวมบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือยักษ์ใหญ่ 2 เจ้าไม่ได้อยู่ในอำนาจการกำกับดูแลของตน และการควบรวมครั้งนี้เป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นว่า รัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้มองเห็นแต่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุน แต่ไม่เคยรู้จักหน้าที่ของตนเองว่า รัฐบาลมีหน้าที่ป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน
“เชื่อว่า กรณีนี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ที่จบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ คงจะคำนวณค่าดัชนี HHI เป็นอยู่แล้ว คงไม่ต้องให้ใครมาสอนวิธีการคำนวณให้ และควรต้องรู้อยู่แล้วว่า การควบรวมกิจการเครือข่ายโทรคมนามคม นั้นเป็นหน้าที่ที่รัฐมนตรี DES ต้องเข้าไปตรวจสอบดูแล ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยอย่างนี้ ป้ายชื่อกระทรวงด้านท้ายที่ระบุว่า “เพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ก็น่าจะผ่านตานายชัยวุฒิบ้างอยู่แล้ว” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาจาก พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ในข้อที่ 12 ก็ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะคำนวณอย่างไร ค่าดัชนีการผูกขาดตลาด เฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) ก่อนการควบรวมก็มีค่ามากกว่า 2,500 ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว และหากปล่อยให้มีการควบรวมดัชนีการผูกขาดตลาดก็จะทะลุไปถึงหลัก 5,000 กันเลยทีเดียว การเปลี่ยนแปลงของดัชนี HHI ขนาดนี้ ย่อมส่งผลทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมภายในประเทศมีการแข่งขันที่ลดลง มีสภาพที่ผูกขาดมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อค่าบริการ และคุณภาพบริการโทรคมนาคมกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ต่าง ๆ ไม่มากก็น้อยแน่ ๆ
ส่วนกรณีที่นายชัยวุฒิให้สัมภาษณ์ ธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้ให้บริการหลายเจ้าไม่ได้ หากมีหลาย ๆ เจ้า ต่างคนต่างลงทุนอาจเป็นการสิ้นเปลืองก็ได้ ทำให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า ถือเป็นการสะท้อนว่า นายชัยวุฒิ มองแต่มิติของนายทุนเท่านั้น ไม่ได้ห่วงใยในความเดือดร้อนประชาชนเลย เพราะถ้าการแข่งขันลดลง มีสภาพผูกขาดมากขึ้น นายทุนก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนปรับปรุงระบบเครือข่าย หรือพัฒนาระบบการให้บริการอะไรมากนัก คู่แข่งขันที่มีอยู่อีกแค่รายเดียว ก็ไม่ยากที่จะแบ่งเค้กกันโขกราคากับประชาชน และเมื่อถึงจุดนั้นประชาชนก็จำต้องยอมใช้บริการที่คุณภาพต่ำ ในราคาแพง อย่างไม่มีทางเลือก ในขณะที่นายทุนที่ก็จะกลายเป็นเสือนอนกินที่รวยเอา ๆ
“สภาพการแข่งขันในตลาดที่ลดลง ตลาดมีการผูกขาดมากขึ้น นายทุนมีแต่จะได้เปรียบ ผู้บริโภคมีแต่จะเสียเปรียบ เรื่องนี้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาก็ยังเข้าใจ นายชัยวุฒิ ก็น่าจะเข้าใจอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมนายชัยวุฒิ ถึงให้สัมภาษณ์อย่างนั้น หากรัฐมนตรีดีอีเอสและรัฐบาล ยังคงปล่อยปละละเลยแบบนี้ หากในอนาคต เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะขึ้น ย่อมต้องถือว่า นายชัยวุฒิ และรัฐบาลนี้ จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นายวิโรจน์ กล่าว
ขณะที่นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในเอเชีย มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่มีผู้ให้บริการรายเดียว ประเทศแรกที่เป็นต้นแบบของรัฐบาลไทย คือประเทศเกาหลีเหนือ ที่มีผู้ใช้มือถือเพียง 3.8 ล้านราย จากประชากร 26 ล้านราย ประเทศที่สอง คือ หมู่เกาะโซโลมอน ที่มีประชากร 700,000 คน คล้ายกับ 4 ประเทศในยุโรปที่มีผู้ให้บริการเพียงรายเจ้าเดียว อย่าง อันดอร์รา ที่มีประชากร 77,265 คน ยิบรอลตาร์ ที่มีประชากร 33,691 คน โมนาโก ที่มีประชากร 39,244 คน และ ซานมารีโน ที่มีประชากร 33,938 คน
“ประเทศไทยมีประชากร 69 ล้านคนนะครับ ตลาดโทรคมนาคมก็มีมูลค่าปีนึงกว่า 600,000 ล้านบาท ถ้าไม่คิดจะปกป้องประโยชน์ของประชาชนคนที่เสียภาษีเป็นเงินเดือนให้รัฐบาล ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากการผูกขาด อย่างน้อยก็อย่าถือหางกลุ่มทุนจนออกนอกหน้าขนาดนั้น เดี๋ยวประชาชนจะสับสนว่า รัฐบาลนี้ทำงานเพื่อประชาชนหรือเพื่อกลุ่มทุนกันแน่” นายวรภพ กล่าว