“ปิยบุตร” ชง “ม็อบราษฎร” เปลี่ยนวิธีสู้ ลั่นทำแบบเดิมไม่มีทางสำเร็จ
“ปิยบุตร” โยนไอเดียถึง “ม็อบราษฎร” ขอให้เปลี่ยนท่าที-ปรับยุทธวิธีใหม่ จำเป็นต้องเปิดโต๊ะเจรจา เหตุสถานการณ์เปลี่ยน กลไกรัฐเดินหน้าบดขยี้เต็มที่ ลั่นถ้าทำแบบเดิมไม่มีทางสำเร็จ ขอร้องพรรคการเมือง-ส.ส.รับฟังข้อเสนอ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมให้เปิดใจ เชื่อปีหน้ายุบสภาแน่
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวในการแถลงความเห็นแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครอง ถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง “ม็อบราษฎร” ตอนหนึ่งว่า มีข้อเสนอประนีประนอมเพื่อหาทางออกร่วมกันกับทุก ๆ ฝ่าย ฝ่ายแรกคือกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการนำเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายเยาวชนคนหนุ่มสาว ประชาชน ที่รวมตัวกันในชื่อ “ราษฎร” จำเป็นต้องปรับวิธีการรณรงค์ วิธีการเรียกร้องเสียใหม่ ตรงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการห้าม ไม่ใช่เป็นเรื่องของการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ใช่เป็นเรื่องของการถอย แต่มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา การชุมนุมที่พุ่งถึงขีดสุดเมื่อปีที่แล้ว เกิดขึ้นในสถานการณ์แบบหนึ่ง แต่ ณ วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป กลไกรัฐเดินหน้าบดขยี้อย่างเต็มที่ ข้อเรียกร้องที่พูดมาไม่ได้รับการตอบสนอง
“หากใช้ยุทธวิธีเดิมต่อไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต่างอะไรกับการเอาหน้าเดินชนกำแพง หากให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริง ไม่สามารถใช้พลังของเยาวชนคนหนุ่มสาวเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของสถาบันการเมืองต่าง ๆ ของผู้ถืออำนาจรัฐ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และองคาพยพรายล้อมต่าง ๆ ด้วย” นายปิยบุตร กล่าว
เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ดังนั้นจำเป็นต้องพิจารณาว่าการนำเสนอข้อเสนอต่าง ๆ ทำอย่างไร ให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายรอยัลลิสต์ยอมที่จะฟัง ยอมที่จะถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล คิดว่าการใช้วิธี หรือท่าทีแบบเดิม ไม่มีทางให้เวทีบรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นได้แน่นอน ประกอบกับกลไกรัฐพร้อมบดขยี้ กระบวนการนิติสงครามเดินเครื่องเต็มที่ ตั้งข้อหาทุกอย่างเต็มไปหมด เมื่อ “ราษฎร” ไม่ได้มีอำนาจรัฐในมือ เป็นปัจเจกบุคล เป็นพลเมืองมือเปล่า จะสู้กับอำนาจรัฐที่ครบครันแบบนี้มันยากลำบากแน่นอน เห็นว่าจำเป็นต้องปรับวิธี เปลี่ยนท่าที เปลี่ยนวิธีการรณรงค์ เพื่อให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้มีพัฒนาการ มีความคืบหน้า หรือนำไปสู่ผลสำเร็จได้บ้าง หากเดินแบบเดิมเชื่อว่าไม่มีทางสำเร็จแน่ ๆ
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอฝากพรรคการเมืองต่าง ๆ และ ส.ส. คิดว่าบทบาท ส.ส. ย่อมมีความเป็นผู้นำวาระให้กับสังคม บางช่วง ส.ส. และพรรคการเมืองอาจเป็นผู้ตาม บางช่วงสถานการณ์แหลมคม เกิดวิกฤติการณ์มากขึ้น เราจำเป็นต้องมี ส.ส. และพรรคการเมืองที่เป็นผู้นำของสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แก้วิกฤติ ยุติความเห็นแตกต่างกันเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ จากผ่อนหนักเป็นเบาได้ ถ้าหากสถาบันการเมือง นำข้อเสนอเหล่านี้ไปผลักดัน ไม่ต้องทั้งหมด แม้เพียงเล็กน้อย แม้เพียงบางส่วนก็ยังดี เพราะนั่นจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า สถาบันการเมืองในระบบได้เปิดพื้นที่เหล่านี้บ้าง แม้เล็กน้อยก็ยังดี
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอสุดท้ายถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยม จำเป็นต้องเปิดใจ เปิดพื้นที่ให้กว้างกว่านี้ เข้าใจดีว่าในความคิด ทัศนคติของพวกท่าน ไม่เหมือนกับเยาวชนคนหนุ่มสาวในรุ่นปัจจุบัน ในชั่วชีวิตของท่านไม่เคยเห็นคนรุ่น ๆ หนึ่งแสดงออกถึงขนาดนี้ อาจตกใจ อาจกังวลจนนำไปสู่ความเกลียดชัง นำไปสู่ความกลัว แต่คิดว่าเราใช้หลักเมตตาธรรมในฐานะเพื่อนร่วมชาติ คำว่าภราดรภาพที่ว่านี้แหละ เปิดพื้นที่ให้กับเขา ในเมื่อเป็นข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นแล้วว่าเยาวชนคนหนุ่มสาวมองไม่เหมือนคนรุ่นตน หรือรุ่นก่อนตน เข้าใจดีว่า หลายท่านไม่สบายใจ ไม่พอใจต่อท่าทีในการแสดงออกของเยาวชนหลายครั้ง แต่ให้อภัยต่อกัน ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เข้าใจดีว่าถ้าท่านเคารพสถาบันฯอย่างสูงสุด แล้วใครมาแสดงต่อสถาบันฯในแบบนี้ คงไม่พอใจ คงไม่สบายใจ นี่เป็นเรื่องปกติทั่วไป แต่เสนอว่าให้ใช้หลักเมตตาธรรมเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
“ถ้าหากไม่ใช้เรื่องเหล่านี้ แต่เลือกใช้อำนาจกด ใช้กลไกรัฐบดขยี้ กฎหมายจัดการ คิดว่าจะไม่นำไปสู่สถานการณ์ดีขึ้น นอกจากไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้แล้ว ทำให้ความคิดเขาเตลิดไปไกลมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ และนำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างรุ่น และการปะทะนี้ไม่ใช่เรื่องของคนภาคใดปะทะกับภาคใด คนเชียร์พรรคใดปะทะคนเชียร์พรรคใด บางคนเป็นสมาชิกครอบครัว บางคนเป็นลูกศิษย์ บางคนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา พวกเขาอยู่ในชีวิตประจำวัน เราไม่สามารถไล่ใครออกได้ เราต้องใช้ชีวิตร่วมกัน ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นแก่อนาคตบ้านเมือง ขอให้เปิดพื้นที่แก่พวกเขามากขึ้น” นายปิยบุตร กล่าว
เมื่อถามถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน มองอย่างไร พรรคการเมืองเตรียมการเลือกตั้งกันเต็มที่แล้ว นายปิยบุตร กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองถ้าให้วิเคราะห์ในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้านนอก คิดว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นแน่ในปี 2565 โดยจะเกิดปลายปี อย่างน้อยต้องผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯอีกสักรอบก่อน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลประคับประคองปัญหาขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้หรือไม่ เราจะเห็นว่ายังมีกฎหมายสำคัญไม่เข้าสภา เช่น พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯด้านสาธารณสุข หรือการกู้เงินด้วย เสร็จหมดแล้ว แต่ยังไม่เข้าสภา กฎหมายเหล่านี้สำคัญ หากเสียงแตกขึ้นมา จะกระทบกระเทือนสถานะของรัฐบาล มันเป็นไปได้หรือไม่ที่ความขัดแย้งกันภายใน พปชร. ยังจัดการไม่ได้อย่างแน่นอน ถ้าหากจัดการตรงนี้ได้ รัฐบาลพยายามลากยาวให้ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯอีกรอบ ก่อนยุบสภา ไทม์ไลน์ปีหน้า คงเริ่มจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.งบประมาณฯเข้า เมื่อทุกอย่างผ่านได้หมด คงยุบสภาได้แล้ว