"วิลาศ" แฉพิรุธสร้างสภา แก้ไขแบบก่อนอนุมัติ-ไม่ตอบเอื้อ ผู้รับเหมาหรือไม่

"วิลาศ" แฉพิรุธสร้างสภา แก้ไขแบบก่อนอนุมัติ-ไม่ตอบเอื้อ ผู้รับเหมาหรือไม่

วิลาศ แถลงชี้พิรุธงานก่อสร้าง ส่วนภูมิสถาปัตย์ หลายรายการ ถูกแก้ไขแบบ โดยไม่ผ่านการอนุมัติ บางรายการถูกตรวจสอบและจ่ายเงินค่างวดแล้ว ปัด สภาฯ เอื้อผู้รับเหมาหรือไม่ จ่อร้อง ป.ป.ช. 30เรื่อง

          นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงที่รัฐสภา ต่อกรณีที่ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเตรียมยื่นให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ประเด็นไม้ปูพื้น และการทาสีห้องทำงานของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ตามที่ ว่าที่เรือตรี ยุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ในฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  ระบุว่าได้มีการตรวจสอบประเภทของไม้ที่นำมาก่อสร้าง และเป็นไม้ตะเคียนทองตามแบบที่กำหนด แต่ตนมีข้อมูลซึ่งผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จังหวัด และช่างไม้ พบข้อสงสัยว่าไม่ใช่ไม้ตะเคียนทอง หรือหากจะเป็นไม้ตะเคียนทอง อาจไม่ใช่ทั้งหมด ผสม ไม้ตะเคียนหิน ไม้ตะเคียนหย่อง เพราะประเทศไทยปิดป่าตั้งแต่ปี 2532 ไม้ตะเคียนทอง อาจเหลือไม่มากและอาจจะนำเข้ามาจากต่างประเทศ อีกทั้งพบว่าความยาวของไม้ที่ใช้นั้นไม่ตรงตามแบบที่กำหนดให้มีความยาว 3 เมตร แม้มีข้อยกเว้นให้ใช้ความยาวน้อยกว่าเมื่อมีจำเป็น แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ทั้งนี้จากการตรวจสอบว่ามีความยาว 1 - 1.5 เมตรปะปน

 

 

          นายวิลาศ แถลงถึงค่าความชื้อของไม้ที่สัญญากำหนดไม่เกิน 16% หากเกินกว่านี้ ทำให้มีร่องห่าง เกินกว่า 2 มิลลิเมตร โดยปัจจุบันพบว่าร่องไม้ห่างถึง 8 มิลลิเมตร และมีความแก้ไขแบบ เพื่อขยายร่องห่างของไม้  โดยใช้วิธีให้ผู้ออกแบบแสดงความเห็น ว่าการก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบ  คือ 8 มิลลิเมตรยอมรับได้ อีกทั้งพบการจ่ายเงินงวดแล้ว  ทั้งนี้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างนั้นสามารถทำได้ เพราะสัญญาข้อ 19 ระบุไว้ แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบ จากผู้รับเหมา ก่อนที่จะขออนุญาตหรือเสนอแบบใหม่ให้ผู้ว่าจ้างอนุมัติ ทั้งนี้ตนตอบไม่ได้ว่าคนที่รับผิดชอบของสภาฯ เอื้อให้ผู้รับเหมาหรือไม่

          นายวิลาศ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นการตรวจสอบกรณีงานก่อสร้างนั้นพบว่างานก่อสร้างทั้งโครงการมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแล้วทั้งสิ้น 209 รายการ และเตรียมลงนามเพื่อให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบอีก 184 รายการ โดยคาดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่เพราะเลขาธิการสภาฯ ต้องลงนามคู่กับผู้รับเหมาก่อสร้าง นอกจากนั้นแล้วในการตรวจสอบจากเรื่องที่ข้าราชการร้องเรียน ยังพบสิ่งที่ไม่ตรงแบบอีกหลายรายการ เช่นในส่วนของภูมิสถาปัตย์ เสาไฟฟ้าส่องสว่างภายในพื้นที่ พบว่ามีการทำผิดแบบประมาณ 97 ต้น โดยสัญญาระบุว่าต้องเป็นเหล็กล่อแท่งเดียว แต่พบว่าการก่อสร้างนำแผ่นเหล็กม้วนและเชื่อมต่อกัน

 

            หลอดไฟฟ้าส่องสว่าง 3.4 หมื่นหลอด พบว่านำยี่ห้อหลอดไฟที่ไม่ระบุในแบบมาติดตั้ง และเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมดทั้งที่ตามสัญญาต้องมีรูปแบบของหลอดไฟ 46 แบบ โดยกรณีดังกล่าวมีมูลค่าความเสียหาย 49 ล้านบาท

 

            ดินที่นำมาถมเพื่อสร้างถนนโดยรอบอาคารรัฐสภา ตามสัญญาระบุว่าต้องไม่มีเศษซากอื่นๆ ปะปน และต้องผ่านการร่อน แต่สิ่งที่พบคือมีเศษซากวัสดุอื่นปะปน เช่น ยางรถยนต์ และไม่ร่อน ซึ่งส่อจะทำให้ถนนทรุดได้ในอนาคต เป็นต้น

 

          นายวิลาศ แถลงด้วยว่าวันนี้ (13 ธ.ค.) ตนได้ทำหนังสือถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาฯ ต่อกรณีที่พบว่ามีผู้รับเหมาช่วงในโครงการ ทั้งที่ในสัญญาห้ามมีผู้รับเหมาช่วง  และ กรณีที่พบว่ากระจกตั้งแต่ชั้น 4 ของรัฐสภา ชนิดใสพิเศษ มีกระจกแตกรวม 24 แผ่น ทั้งนี้กระจกใสพิเศษนั้นต้องสั่งจากต่างประเทศ เพราะเมืองไทยไม่มีจำหน่าย  ดังนั้นขอให้เปิดเผยรายละเอียดการสั่งนำเข้า และ มี มาตรฐาน มอก. ด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดีขณะนี้ตนทำหนังสือเพื่อแจ้งทราบไปยังนางพรเพชร แล้ว 16 ฉบับและคาดว่าจะมีมากถึง 20 ฉบับเพื่อแจ้งการตรวจสอบที่ผิดปกติ นอกจากนั้นในการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบงานก่อสร้างรัฐสภา จะมีเรื่องร้องถึง 30 เรื่อง.