"พิชัย" เตือน8จุดเสี่ยงเศรษฐกิจปี65 ชี้ "ประยุทธ์" อยู่นานคนยิ่งลำบาก

"พิชัย" เตือน8จุดเสี่ยงเศรษฐกิจปี65 ชี้ "ประยุทธ์" อยู่นานคนยิ่งลำบาก

กุนซือเศรษฐกิจ เพื่อไทย เตือนรัฐบาลเจอ 8จุดเสี่ยงทางเศรษฐกิจปี65 คาดการณ์สาหัสหนัก ถึงขั้น ฟื้นไม่มี-หนีไม่พ้น

          นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยเชื่อว่าจะหนัก ถึงขั้นฟื้นไม่มี เพราะภาพรวมเศรษฐกิจติดลบ และขยายถึง 3%  หนีไม่พ้นจากปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำและติดลบนี้ จะทำให้หนี้พุ่งขึ้นไม่หยุด เพราะไม่มีรายได้เพียงพอที่จะใช้หนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะของรัฐบาล หนี้ครัวเรือนของประชาชน หนี้ธุรกิจ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมจะอยู่ยาก เพราะงบประมาณมีปัญหา รายได้ลด หนี้เพิ่ม  อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น และหากยังแก้ปัญหาด้วยมาตรการแจกเงินสะเปะสะปะต่อเนื่อง จะทำให้คนจนจริงลำบากจริง เข้าไม่ถึงและไม่ได้ประโยชน์ สภาพเศรษฐกิจทรุดหนัก อีกทั้งยังมี ปัญหาความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐและวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ   8 ปี 

 

 

           "เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะยังติดลบและหยุดนิ่งเป็นปีที่สามติดต่อกัน จากปี 2563 ที่ติดลบ -6.1% ปี 2564 จะขยายได้น่าจะไม่ถึง 1% และ ปี 2565 คาดว่าจะขยายได้ประมาณ 3% เท่านั้น ซึ่งรวม 3 ปีประเทศไทถอยหลังติดลบ ขณะที่ประเทศอื่นเดินไปข้างหน้าไกลแล้ว ตลอด7 ปีประเทศแย่ลงเรื่อยๆ โดยไม่เห็นทางว่าจะฟื้นอย่างไร" นายพิชัย กล่าว

           นายพิชัย กล่าวด้วยว่า ในปี 2565 มี 8 ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเผชิญ  คือ 

           1. ปัญหาการระบาดของไวรัสโอมิครอน และ โอกาสที่จะเกิดสึนามิของไวรัสโควิดทั้งสายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์เดลต้าพร้อมกัน   ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยหวังว่าวิกฤตไวรัสโควิดจะจบกลางปีนี้จริงตามการคาดหมาย มิเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มาก 

           2. ปัญหาเงินเฟ้อของโลกซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงไทย โดยเฉพาะเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากจะเกิดจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเร็วแล้ว ยังเกิดจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่ทำให้สินค้าขาดแคลนและมีราคาสูง โดยเฉพาะชิป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์   อีกทั้งระบบการขนส่งขาดแคลน และ ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นสูง จะส่งผลกระทบเพิ่มภาระต่อคนไทยที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในขณะที่รายได้ไม่เพิ่ม 

 

           3. ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้น จากภาวะเงินเฟ้อ โดยแนวโน้มสหรัฐอเมริกาจะขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีนี้และอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5% ภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น แต่ไทยคงต้องขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ ซึ่งจะทำให้หนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นมาก มีภาระต้นทุนทางการเงินมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น 

           นายพิชัย กล่าวด้วยว่า 4. ปัญหาการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) คือการขาดดุลงบประมาณ และ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด   

           5. ปัญหาการจัดทำงบประมาณ การจัดงบประมาณในปี 2566 จะเป็นปัญหา พราะการจัดเก็บรายได้ในปี 2564 พลาดเป้าไปถึง 3.07 แสนล้านบาท  อีกทั้งรัฐบาลจะประสบปัญหาการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่ม แม้จะเพิ่มเพดานเงินกู้จาก 60% เป็น 70% แต่ก็อาจจะยังไม่พอ ถ้ารัฐบาลยังหารายได้ไม่เป็น  นอกจากนี้ในภาวะที่คนไทยลำบากกันอย่างมากทั้งประเทศ แต่พลเอกประยุทธ์ ยังคิดจะซื้อเครื่องบินรบ F35 กันอีก เหมือนไม่สนใจความทุกข์ของประชาชนเลย

           6. ปัญหาหนี้ที่เพิ่มสูง ทั้งหนี้ภาครัฐ และ หนี้ภาคเอกชน


           7. ปัญหาการไร้ทิศทางเศรษฐกิจของไทย

 
           และ 8. ปัญหาการว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยล่าสุดตัวเลขคนว่างงานมีถึง 8.7 แสนคน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 20 ปี 

 

           "ทั้ง 8 ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มากและมีความเชื่อมโยงกัน และต้องเข้าใจและหาทางแก้ไขและรับมือไปพร้อมกัน ซึ่งเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้และไม่เข้าใจปัญหา   ดังนั้นผมไม่อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องดันทุรังอีกต่อไป เพราะจะไม่มีทางแก้ปัญหาได้ แต่จะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับประเทศมากขึ้น ยิ่งอยู่นานประชาชนจะยิ่งลำบากมากขึ้น" นายพิชัย กล่าว.