จับผิด “ทักษิณ” รีโมทเพื่อไทย “5 คำร้องยุบพรรค” วิบากเลือกตั้ง
กว่าจะถึงเลือกตั้ง คาดว่าระหว่างทาง “เพื่อไทย”และ “นายใหญ่” แดนไกล คงถูกจับจ้องความเคลื่อนไหวอย่างหนัก ถึงการวางแผนแลนด์สไลด์ ดังนั้นทีเด็ดทีขาดจึงอยู่ที่ใครจะพลาด จนถูกสกัดไม่ให้ไปถึงฝัน
สถานการณ์การเมืองช่วงเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสปอตไลท์กำลังสาดแสงไปที่ “พรรคเพื่อไทย”
หลัง “โทนี่ วู้ดซัม” หรือ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาว ลั่นกลางไลฟ์สดของกลุ่ม CARE เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 มุ่งมาดปรารถนาว่าปี 2565 จะเป็นของขวัญให้คนไทย ไปรับใช้คนไทย ไปช่วงไหนจะกระซิบบอก “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก และที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย
เกิดแรงสะเทือนไปยังกลุ่ม “อนุรักษ์นิยม” ในไทยอย่างหนัก โดยเฉพาะ “ขั้วตรงข้าม” กับ “ระบอบทักษิณ” ออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อน มีการขุดสารพัดคดีความทุจริต อย่างน้อย 6 คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาจำคุก โทษรวม 12 ปี และยังเหลือคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีก 2 คดีสำคัญ คือกรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาคสอง และคดีอนุมัติการจัดซื้อเครื่องบินให้การบินไทย ส่งผลให้เกิดการขาดทุนอย่างหนัก เป็น “กำแพง” ขวางไม่ให้ “นายใหญ่” เข้าไทยได้อย่างเท่ ๆ
ไม่ใช่แค่เรื่องนี้ ยังมีกรณีล่าสุด “พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี” แกนนำ จปร.7 อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรียุค “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ออกมาปูดว่าถูก “ปลดฟ้าผ่า” พ้นพรรค โดนลดบทบาทไม่ถูกเชิญแม้แต่ไปร่วมเปิดตัวคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา
ร้อนถึง “ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคป้ายแดง ต้องออกมาชี้แจงทันควันว่า พล.อ.พัลลภ ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่ พร้อมยืนยันหนักแน่นว่า ไม่มีใครมีอำนาจสั่งการปลดได้ และคณะกรรมการบริหารพรรคไม่ยินยอมให้ “คนนอก” เข้ามาสั่งการได้
ทำเอา “นักร้อง” ขาประจำอย่าง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ที่พลิกขั้วย้ายมาซบพรรคพลังประชารัฐ และ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต.ให้ดำเนินการไต่สวนโดยพลันว่า เข้าข่ายผิดตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ฐานมีบุคคลภายนอกมา “ครอบงำ” พรรคหรือไม่ จนอาจเข้าข่ายถูก “ยุบพรรค” หรือไม่
ไม่ใช่แค่กรณีนี้เท่านั้น ที่ผ่านมาหลายครั้งหลายครา “ทักษิณ”หล่นวาจา หรือกระทำการทั้ง “ทางลับ-ทางแจ้ง” ครั้งใด นอกเหนือจากสร้างแรงสะเทือนไปยังฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังสร้าง“ความเดือดร้อน”ให้กับพรรคเพื่อไทยอีกด้วย
เอาแค่เฉพาะปี 2564 ที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่ “พรรคเพื่อไทย” ถูกยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต.ให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรค” กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมกรณีที่ถูกร้องไว้ ดังนี้
ช่วงปลายปี 2564 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ขุนพลข้างกาย “นายใหญ่” ได้รับการแต่งตั้งจากพรรคเพื่อไทยเป็น “ผู้อำนวยการพรรค” ถูก “เรืองไกร” เจ้าเดิมร้องเรียนต่อ กกต.ว่า อาจเข้าข่ายขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย รวมถึงข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เนื่องจาก “หมอเลี้ยบ” เคยถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ 2 คดี อาจมีลักษณะต้องห้ามเป็นสมาชิกพรรค ดังนั้นการปรากฏตัว และปราศรัยบนเวทีของพรรคเพื่อไทย อาจเข้าข่าย “ครอบงำพรรค” ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ได้
ย้อนกลับไปไม่ไกลนัก เกิดกรณีวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักขึ้นอีก เมื่อปรากฏคลิปวีดีโอการพูดคุยกันระหว่าง “เกรียง กัลป์ตินันท์” แกนนำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ภาคอีสาน กับ “ทักษิณ” โดยมีบทสนทนาบางส่วนที่ “เกรียง” ถามแกมขอร้องให้ “ทักษิณ” ตัดสินใจส่ง “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” อดีตภริยานายทักษิณมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ทว่า “ทักษิณ” ปฏิเสธ และออกตัวแทนว่า “คุณหญิงอ้อ” ไม่ลงเล่นการเมือง เพราะไม่ถนัดการปราศรัย
แม้ว่าเรื่องนี้ “ครุฑกฎหมาย” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมา “การันตี” ว่า การสนทนาดังกล่าวเป็นแค่การพูดคุย และไม่ได้เกิดขึ้นที่พรรค ดังนั้นอาจไม่เข้าข่ายบุคคลภายนอก “ครอบงำพรรค” อย่างไรก็ดีบรรดา “นักร้อง” ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต.ให้วินิจฉัยกรณีนี้แล้ว
ถัดมากรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าการปราศรัยของ 3 แกนนำ “ม็อบราษฎร” เข้าข่าย “ล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากเนื้อหาคำปราศรัยบางห้วงบางตอน ต้องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และจัดตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมกับมีคำสั่งว่าห้ามมีการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต
แต่ “นายใหญ่” กลัวไม่มีซีนเรื่องนี้ ออกตัวหนุนแก้ไข มาตรา 112 จนโดนกระแสโจมตีกลับอย่างหนัก สุดท้ายต้อง “กลับลำ” บอกเสียงอ่อยว่า มาตรา 112 ไม่มีปัญหา แต่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง
นี่ยังไม่นับว่ามีบุคลากรใน “พรรคเพื่อไทย” เช่น ชัยเกษม นิติศิริ มือกฎหมายรุ่นใหญ่ของพรรค ลงนามในแถลงการณ์ของพรรค ออกตัวให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ทำเอาคนในพรรคสะดุ้งโหยง ปัดกันพัลวันว่าไม่ใช่มติของพรรคแต่อย่างใด
กรณีนี้ถูก “นักร้อง” มืออาชีพเก็บข้อมูลไว้แล้ว และมีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อให้วินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวของ “พรรคเพื่อไทย” เข้าข่ายเป็นการสนับสนุนการล้มล้างการปกครองหรือไม่
ย้อนกลับไปอีก กรณีมติคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย “ขับไล่” 2 ส.ส. คือ “พรพิมล ธรรมสาร” ส.ส.ปทุมธานี (ปัจจุบันสังกัดพรรคภูมิใจไทย) และ “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” ส.ส.อุตรดิตถ์ (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ) ถูกร้องเรียนต่อ กกต.ว่า การขับไล่ 2 ส.ส.ดังกล่าว อาจเข้าข่ายผิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ประกอบมาตรา 124 ที่วางหลักการไว้ว่า ส.ส.เป็นอิสระ มีเอกสิทธิ์ในการออกคะแนนเสียงหรือไม่
ทั้งหมดคือคดีความของ “พรรคเพื่อไทย” กำลังอยู่ในสถานะ “สุ่มเสี่ยง” อย่างมาก โดยเฉพาะกรณีของ “พล.อ.พัลลภ” และกรณี “การแก้ไข มาตรา 112” ที่จะนำไปสู่การถูกร้อง “ยุบพรรค” ได้
กว่าจะถึงเลือกตั้ง คาดว่าระหว่างทาง “เพื่อไทย”และ “นายใหญ่” แดนไกล คงถูกจับจ้องความเคลื่อนไหวอย่างหนัก ถึงการวางแผนแลนด์สไลด์ ดังนั้นทีเด็ดทีขาดจึงอยู่ที่ใครจะพลาด จนถูกสกัดไม่ให้ไปถึงฝัน