ส่องสถิติ “รัฐมนตรี” ตอบกระทู้ “วุฒิสภา” ตอบ108เรื่อง หนี76ครั้ง

ส่องสถิติ “รัฐมนตรี” ตอบกระทู้ “วุฒิสภา” ตอบ108เรื่อง หนี76ครั้ง

การหนี ตอบกระทู้ถามสดของ "รัฐมนตรี" ต่อที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อ17 มกรา ไม่ใช่ครั้งแรก และจากสถิติของ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พบว่า มีมากถึง 76 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึง ภาวะรับผิดชอบของรัฐบาล ต่องานตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ

        จากกรณีที่รัฐมนตรี ไม่ร่วมเข้าประชุมวุฒิสภา เพื่อตอบกระทู้ถามสดของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เมื่อ 17 มกราคม ทำให้  คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ออกมาโวย ผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า "การตั้งกระทู้ถามของ ส.ว. ที่ผ่านการจับสลากเพื่อคัดเลือก จำนวน 3 กระทู้นั้น ต้องตกไปทั้งหมด เพราะรัฐมนตรีติดภารกิจ ไม่สามารถมาตอบได้ และตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ให้ถือว่าการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาดังกล่าวต้องตกไป"

 

        การไม่มาตอบกระทู้ถามสด หรือ กระทู้ถามด้วยวาจา ของรัฐมนตรีต่อที่ประชุมวุฒิสภา ไม่ใช่ครั้งแรก แต่การออกมากระทุ้งการรับผิดชอบต่อฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะ "สมาชิกวุฒิสภา" เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจ ว่า "รัฐบาล" มีความพยายามหลีกเลี่ยง ที่จะขึ้นเวที ซักถามหรือไม่

 

        สำหรับกระทู้ถามสด เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา มี 3 กระทู้ และ รัฐมนตรี ไม่มาตอบทั้งหมด ประกอบด้วย 1.การแก้ไขหวยเกินราคา ถามโดยนายวันชัย สอนสิริ ตั้งถามนายกรัฐมนตรี, 2.การปกปิดข้อมูลโรคระบาดในสุกร และการแก้ปัญหาราคาหมูแพง ถามโดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ตั้งถามนายกฯ และ 3.กลไกโฆษณานโยบายหาเสียงเลือกตั้ง  ถามโดยนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ตั้งถามนายกรัฐมนตรี

 

        ถือเป็นประเด็นร้อนที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง

ส่องสถิติ “รัฐมนตรี” ตอบกระทู้ “วุฒิสภา” ตอบ108เรื่อง หนี76ครั้ง

        สำหรับสถิติที่ "รัฐมนตรี" หลีกเลี่ยงตอบกระทู้นั้น ระบบฐานข้อมูลด้านกระทู้ถามของวุฒิสภา ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดทำนั้น ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2562 พบมียอดจำนวนกระทู้ถาม  ทั้งสิ้น 275 เรื่อง  แบ่งเป็น กระทู้ถามด้วยวาจา จำนวน  80 เรื่อง, กระทู้ถามทั่วไป จำนวน 195 เรื่อง

 

       ขณะที่สถานะของกระทู้ถามทั่วไป และกระทู้ถามด้วยวาจาว่า พบว่า ตอบแล้ว 108 เรื่อง, ตกไป 76 เรื่อง, รอบรรจุเข้าระเบียบวาระ 30 เรื่อง, รอตอบ 13 เรื่อง , ขอเลื่อน 2 เรื่อง, อยู่ระหว่างการพิจารณา 4 เรื่อง และ โอนไปตอบในราชกิจจานุเบกษา 42 เรื่อง 

       สำหรับการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจา จำนวน 80 เรื่องนั้น พบว่ากระทู้ที่ตกไปมากกว่าจำนวนที่ตอบแล้ว โดยที่ตกไปมี  44 เรื่อง ตอบแล้ว 32 เรื่อง และ อยู่ระหว่างการพิจารณา 4 เรื่อง  

 

       โดยเรื่องที่ตกไป อาทิ การทบทวนมาตรการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาลดโทษให้กับนักโทษที่ก่อคดีอุทฉกรรจ์ ตั้งถามโดย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว., ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน , การติดตามยึดทรัพย์จำเลยในคดีทุจริตโครงการระบายข้าว , วัคซีนป้องกันโควิด-19, การช่วยเหลือพระสงฆ์ช่วยโควิด-19 ตั้งถามโดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว., มาตรการควบคุมป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์อู่อั่น ตั้งถามโดยนายอำพล จินดาวัฒนะ ส.ว., มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ถามโดยนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ,การจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งถามโดย นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. เป็นต้น

ส่องสถิติ “รัฐมนตรี” ตอบกระทู้ “วุฒิสภา” ตอบ108เรื่อง หนี76ครั้ง

       ส่วนกระทู้ถามทั่วไป จำนวน 195 เรื่อง นั้น มีสาระสำคัญ อาทิ ตกไป 32 เรื่อง , ตอบในราชกิจจานุเบกษา 50 เรื่อง สำหรับกระทู้ถามทั่วไปที่ตกไปนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตร, สิ่งแวดล้อม, โรคระบาดในพืช รวมถึงโควิด-19 ที่ตั้งถามถึงนโยบายรัฐและมาตรการควบคุม เป็นต้น

          อย่างไรก็ดีการเก็บสถิติของ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ต่อกระทู้ถาม นั้น ไม่ระบุ วันและเวลาที่ตั้งคำถามหรือบรรจุในวาระของที่ประชุมวุฒิสภา จึงไม่อาจทราบได้ว่า กระทู้เก่าเก็บที่สุดของ "ส.ว." คือ เรื่องใด

 

           ทว่า การบันทึกสถิติ "รัฐมนตรี" หนีตอบกระทู้ ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นสำนึก และความรับผิดชอบต่องานสภาฯ  

 

           โดยเฉพาะ การหลีกเลี่ยงไม่ตอบกระทู้ โดยระบุเหตุผล สั้นๆ ง่ายๆ ว่า "ติดภารกิจ"   ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ฝ่ายบริหาร" ต้องการใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ จากฝ่ายสภา.