ครม.เห็นชอบขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการจัดส่งนศ.จังหวัดชายแดนภาคใต้
ครม. เห็นชอบขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ไม่ว่านับถือศาสนาใดก็ได้รับทุนการศึกษา
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบปรับรายละเอียดโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (ระยะที่ 10) พ.ศ.2562 – 2566 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
โดยเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “โครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย” และปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับทุนอุดหนุนการศึกษา จากนักศึกษาชาวไทยมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลุ่มผู้ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้ผลกระทบมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้รับทุนการศึกษาจะต้องไม่รับทุนการศึกษาอื่นซ้ำซ้อนในปีการศึกษาเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ของโครงการยังเดิม คือ จัดสรรทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 44 ทุน ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ จำนวน 27 ทุน (ทุนละ 40,000 บาท/ปี) และสาขาวิชาสังคมศาสตร์ จำนวน 17 ทุน (ทุนละ 30,000 บาท/ปี)
โดยจัดสรรทุนให้กับนักศึกษาเป็นรายจังหวัด ได้แก่
- จังหวัดปัตตานี 12 คน
- จังหวัดนราธิวาส 13 คน
- จังหวัดยะลา 8 คน
- จังหวัดสตูล 7 คน
- จังหวัดสงขลา เฉพาะ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และ อำเภอสะบ้าย้อย 4 คน
ซึ่งจะได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐหรือในกำกับของรัฐ 9 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
และได้ทำบันทึกความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยเพิ่มอีก 3 แห่ง เมื่อปี 2564 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยนเรศวร และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทั้งนี้ ผู้รับทุนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะต้องกลับไปปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อกลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายโครงการในครั้งนี้ จะเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ให้สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของรัฐได้เป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้กลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนาของตนเอง ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่อันเป็นการแก้ไขปัญหาด้านสังคมจิตวิทยา การศึกษา รวมถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย