"นโยบาย" ขายฝัน - บารมี "ผู้นำ" แผ่ว “ก้าวไกล” เสี่ยงสูญพันธุ์แลนด์สไลด์
แม้ช่วงหลัง “พรรคก้าวไกล” เริ่ม “รู้ทาง” ขยับมาเน้นนโยบายเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจ-ปากท้อง” มากขึ้น ควบคู่กับไปนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ก็ตาม ทว่าในช่วงอีกไม่ถึง 14 เดือนข้างหน้าจะมีการ “เลือกตั้งใหญ่” ก็ล่าช้ากว่าพรรคอื่น จนอาจไม่ทันการณ์แล้ว
เปิดศักราช “ปีเสือ” เป็นปีแห่งการเลือกตั้งอย่างแท้จริง โดยมีอย่างน้อย 4 จังหวัดที่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่
ในส่วนของชุมพร-สงขลา จบศึกกันไปแล้ว ด้วยชัยชนะของ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 เขต ยังเหลือเลือกตั้งซ่อมอีก 2 จังหวัด คือ ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร จะหย่อนบัตรในวันที่ 30 ม.ค.2565 แทน “สิระ เจนจาคะ” ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่ามีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส. กรณีเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
อีกเก้าอี้คือ ส.ส.ลำปาง เขต 4 แทน “วัฒนา สิทธิวัง” ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ “ใบเหลือง” กรณีถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับ “หัวคะแนน” ซื้อเสียง โดย กกต.ชงศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณาไปแล้ว
ในสมรภูมิ “เลือกตั้งซ่อม” ทั้ง 4 แห่งดังกล่าว มีอย่างน้อย 3 แห่งที่ “พรรคก้าวไกล” ส่งคนลงชิงชัย มี 2 แห่ง “พ่ายแพ้” ชนิดที่ว่า “สู้ไม่ได้”
1.การเลือกตั้ง ส.ส.ชุมพร เขต 1 “ค่ายสีส้ม” ส่งวรพล อนันตศักดิ์ ไรเดอร์หนุ่ม อายุ 25 ปี ยังอยู่ระหว่างเรียนคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ได้คะแนนไปเพียง 3,520 คะแนน
2.การเลือกตั้ง ส.ส.สงขลา เขต 6 ส่งธิวัชร์ ดำแก้ว อดีตนักกิจกรรม อดีตผู้ช่วย "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรค และเป็นหนึ่งในคนสนิทของกลุ่ม “3 สหายค่ายส้ม” ได้คะแนนไปเพียง 5,427 คะแนน
หากเทียบฟอร์มสมัยเป็น “พรรคอนาคตใหม่” ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พบว่า ผู้สมัคร ส.ส.จาก “ค่ายสีส้ม” ในเขต 1 ชุมพร ชาญวิทย์ ใจสว่าง ได้คะแนนไปถึง 10,347 คะแนน ส่วนสงขลา เขต 6 สัมพันธ์ ละอองจิตต์ ได้คะแนนมากถึง 11,966 คะแนน
เรียกได้ว่าคะแนนของ“อนาคตใหม่” เมื่อจำแลงเป็น“ก้าวไกล” ลดลงไปกว่า 50% สูสีกับคนกา“ไม่ประสงค์ลงคะแนน” เลยทีเดียว
ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้แบบ “แลนด์สไลด์” นั้น มีการวิเคราะห์กันว่า บริบททางการเมืองระหว่างก่อนการเลือกตั้งปี 2562 และปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากในช่วงปี 2562 คือปีแห่งการโหมโรงเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลายพรรคต่างทุ่มสรรพกำลังกันเต็มที่ ขณะเดียวกันประชาชนต่าง “กระเหี้ยนกระหือรือ” เพื่ออยากเลือกพรรคการเมืองที่ชอบ หลังการปกครองด้วย “รัฐทหาร” มานานถึง 5 ปี
“พรรคอนาคตใหม่” คือพรรคที่ “สดใหม่” ในทางการเมือง แถมชู “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ทายาทนักธุรกิจฉายา “ไพร่หมื่นล้าน” นั่งเก้าอี้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดนใจคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก เพราะเน้นนโยบายเกี่ยวกับการ “เปลี่ยนแปลง” ทั้งทางการเมือง และดันข้อเสนอลักษณะ “ทะลุเพดาน” ทำให้เบียดแย่งฐานแฟนคลับ “เสื้อแดงก้าวหน้า” และ “คนกลาง ๆ” ที่รำคาญ “ท็อปบู้ต” มาได้จำนวนไม่น้อย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า 3 แกนนำพรรค “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-พรรณิการ์ วานิช” มีฐานแฟนคลับจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว จากการออกมาทำกิจกรรม-สัมมนาวิชาการต่อต้านการรัฐประหาร ระหว่างปี 2557-2562 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้กระแส “อนาคตใหม่” ติดลมบนเข้าไปอีก
ปัจจัยสำคัญหนีไม่พ้นกรณีพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พรรค “แบงก์ร้อย” ของ “พรรคเพื่อไทย” เจอ “อุบัติเหตุทางการเมือง” จากปรากฎการณ์ 8 ก.พ. 2562 ส่งผลให้ถูกยุบ “นายใหญ่” ต้องวางเกมใหม่ด้วยการเทคะแนนบางส่วนมาให้ “อนาคตใหม่” ทำให้ “ค่ายสีส้ม” ผงาดได้รับคะแนนเสียงมากถึง 6.3 ล้านเสียง “ธนาธร” นำ 81 ส.ส.เข้าสภาฯ สวนกระแสที่ถูกค่อนขอดว่าคงได้ไม่ถึง 20 ที่นั่งก่อนหน้านี้
ทว่า หลังจากนั้นด้วย “เล่ห์กล” ทางการเมือง ทำให้ “ธนาธร-อนาคตใหม่” ไปไม่ถึงฝัน พรรคต้องถูกยุบ “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์” ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ส่งผลให้ ส.ส.หลายคนแปลงกายเป็น “งูเห่า” โยกย้ายไปพรรคอื่นหลายคน
“3 สหาย” ต้องวางเกมใหม่ ก่อนจำแลงกายเป็น “พรรคก้าวไกล” ดัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ทายาทนักการเมืองดัง โพรไฟล์จบเมืองนอก มาเป็นผู้นำพรรคแทน ทว่าตอนนี้เหลือ ส.ส.ในสังกัดอยู่เพียง 55 คน ก่อนจะมีกรณี “งูเห่า” เกิดขึ้นจนตอนนี้เหลือ ส.ส. เพียง 52 คนเท่านั้น
ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงทุกวัน และสถานการณ์โควิด-19 ระบาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ “แฟนคลับ”บางส่วนมองว่า “พรรคก้าวไกล”ตอบโจทย์ทางการเมือง แต่ไม่ตอบโจทย์“ปากท้อง” ส่งผลให้กระแสพรรคเริ่มแผ่วลงเรื่อย ๆ
นโยบายต่าง ๆ ของ “พรรคก้าวไกล” ในสภาฯ เน้นอภิปรายเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของ “สถาบันพระมหากษัตริย์” และ “เครือข่ายอำมาตย์” เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของ “กองทัพ-ตำรวจ” เป็นหลัก แต่ไม่สามารถมี “หมัดเด็ด” น็อครัฐบาลได้ ทำให้หลายคนมองว่าเป็นแค่เรื่อง “ขายฝัน” ไม่สามารถทำได้จริง ส่วนประเด็นเกี่ยวกับ “ปากท้อง” นั้น “จับต้องได้”น้อยมาก ทำให้ฐานแฟนคลับเริ่ม “บางตา” ลงไปทุกขณะ เหลือแต่ “หัวก้าวหน้า” ที่ยังคอยสนับสนุน
นอกจากนี้ยังถูก “พรรคเพื่อไทย” ที่เป็น “เพื่อนร่วมฝ่ายค้าน” ใช้วิธี “ช้อนฐานแฟนคลับ” ด้วยนโยบายด้านเศรษฐกิจ-ปากท้องมาเบอร์ 1 บางครั้งมีการแซะ-เหน็บแนม “ค่ายสีส้ม” ด้วย แถมหลายครั้งแฟนคลับของ 2 พรรคนี้มัก “ตีกันเอง” สาวไส้เรื่องต่าง ๆ ออกมาให้สาธารณชนรับรู้กัน ยิ่งส่งผลต่อคะแนนนิยมของ “ฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะ “พรรคก้าวไกล”
อีกปัจจัยสำคัญคือ “ตัวผู้นำ” ของพรรค หากเทียบกันแบบ “ปอนด์ต่อปอนด์” บารมี-ชื่อชั้นของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เหนือกว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อย่างมาก
“ธนาธร” คือทายาทนักธุรกิจ “หมื่นล้าน” ภาพลักษณ์ออกมาเป็น “คนหนุ่มต้านเผด็จการ” ตั้งแต่สมัยเป็นนักกิจกรรมช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ทำให้ได้รับคะแนนนิยมอย่างมาก ต่างกับ “พิธา” แม้มีโพรไฟล์จบเมืองนอก แต่เพิ่งมีบทบาททางการเมืองหลังเข้าสู่พรรคอนาคตใหม่เท่านั้น
แม้ช่วงหลัง “พรรคก้าวไกล” เริ่ม “รู้ทาง” ขยับมาเน้นนโยบายเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจ-ปากท้อง” มากขึ้น ควบคู่กับไปนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ก็ตาม ทว่าในช่วงอีกไม่ถึง 14 เดือนข้างหน้าจะมีการ “เลือกตั้งใหญ่” ก็ล่าช้ากว่าพรรคอื่น จนอาจไม่ทันการณ์แล้ว
ด้วย “นโยบายขายฝัน-บารมีผู้นำเริ่มแผ่ว” เป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่อาจชี้ขาดผล “เลือกตั้งซ่อม” ส.ส. ใน 2 จังหวัดภาคใต้จนแพ้ “แลนด์สไลด์” ในช่วงที่ผ่านมา และอาจส่งผลถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย
ส่วนในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.หลักสี่-จตุจักร “ก้าวไกล” จะพอ “กู้หน้า” ฟื้นกระแส คืนมาได้บ้างหรือไม่ ต้องลุ้นระทึกกันวันที่ 30 ม.ค.นี้