ส่องทีม“พรรคพลังประวิตร” "2 สาขา"แบ่งภารกิจค้ำรัฐบาล
การต่อรองทางการเมืองของ“พล.อ.ประวิตร”โดยมีฐานอำนาจจาก"พรรคพลังประชารัฐ-พรรคเศรษฐกิจ"เป็นแบ็คอัพ อาจจะเข้มข้นดุเดือดขึ้น แต่ภารกิจหลักที่ให้คำมั่นสัญญาต่อพรรคร่วม ก็ยังค้ำยันรัฐบาลไปจนครบวาระ
เรื่องวุ่นๆ ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังไม่จบลงง่ายๆ แม้ “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จะม้วนเสื่อหอบเอา 20 ส.ส. ออกจากพรรคพลังประชารัฐ เข้าสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย
เนื่องจาก “เสี่ยเบี้ยว” สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ซึ่งเป็น 1 ใน 21 ส.ส. ที่พรรคพลังประชารัฐมีมติขับออก ได้ยื่นหนังสือถึง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เพื่อขอให้ทบทวนมติพรรค ที่ให้สมาชิกออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2565
เนื้อหาในหนังสือ 8 หน้าที่ “สมศักดิ์” บรรยายถึงเหตุผลในการเสนอให้ทบทวน ได้เปิดเผยถึงขั้นตอนที่ผิดปกติในช่วงค่ำวันที่ 19 ม.ค.ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ โดยยืนยันว่า ไม่ได้สมัครใจถูกขับออกจากพรรค แต่ถูก “วิรัช รัตนเศรษฐ” อดีตประธานวิปรัฐบาลแจ้ง เพื่อจะเอาชื่อให้ไปอยู่กับ “ธรรมนัส” จึงเป็นเหตุให้ “สมศักดิ์” ต้องการให้หัวหน้าพรรคทบทวน
อย่างไรก็ตาม ข้อทักท้วงของ “สมศักดิ์” แม้จะทำเป็นลายลักษณ์อักษรส่งตรงถึง “ประวิตร” แต่ชั่วโมงนี้คงยากที่จะหยิบมาทบทวน แถมหากจะร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยากที่จะหยุดยั้งเกม “2 นครา” ของ “ประวิตร” ได้ เพราะรู้กันดีว่าองค์กรอิสระ “บิ๊กเนม” คนไหนคุมเบ็ดเสร็จ
ดังนั้นแม้ “ทีมบิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดจะเดินเกมสู้ คงยากที่จะต่อกร เพราะ “ประวิตร-ธรรมนัส” เดินเกมเร็ว-ลึกกว่าหลายก้าว ทางเลือก-ทางรอด อาจถูกบีบให้เหลือเพียงทางเดียว คือการเปิดโต๊ะเจรจาเกลี่ย “โควตารัฐมนตรี”กันใหม่
เมื่อ“ประวิตร”ครอง 2 พรรค จึงแบ่งทีม ส.ส.และวางทีมบริหารแต่ละพรรคเพื่อให้ขับเคลื่อนการเมืองสอดประสานกันได้อย่างราบรื่น รวมถึงการเดินเกมต่อรอง 2 ทาง
เพราะหากย้อนกลับไปดูที่ผ่านมา ตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง อำนาจด้านการบริหารของ “ประวิตร” ถูกลดบทบาทลงจากเดิมอย่างมาก ที่เคยผงาดคุมกระทรวงกลาโหม คุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเกือบทั้งหมด “เครือข่ายวงษ์สุวรรณ” แผ่บารมี อำนาจไปแทบทุกวงการ
จึงไม่แปลกเมื่อ “ประวิตร” ที่สามารถจัดวางกลไกทางการเมือง จนคุมเสียง ส.ส. ในสภาได้เกือบเบ็ดเสร็จ จะกลับมาต่อรองเอาอำนาจคืน และเมื่อมีมือ ส.ส. เป็นฐานอำนาจต่อรอง “ประวิตร” จึงต้องการกลับมามีบทบาทด้านการบริหาร แม้จะไม่ฟูลพาวเวอร์เหมือนเดิม แต่ขอคุมกระทรวงหลัก เพื่อต่อยอดงานการเมืองอีกครั้ง
สถานะพรรคพลังประชารัฐ จากนี้ไปจึงเสมือน "พรรคพี่" มี 97 ส.ส. โดย “ประวิตร” ยังนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคเหมือนเดิม และวางตัว “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คมนคม เจ้าของอาคารรัชดา ONE ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่เลขาธิการพรรคคนใหม่
ภารกิจหลักของพลังประชารัฐ “ประวิตร” วางเอาไว้เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ใช้ต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาล จัดสรรโควตารัฐมนตรีให้ กลุ่ม-ก๊วน ภายในพรรค รวมถึงรัฐมนตรีโควตา “ประยุทธ์”
แม้จะมี ส.ส. มาจากหลายกลุ่ม-หลากก๊วน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า “ประวิตร” คุมอยู่ แม้จะมีหลายคนไม่พอใจการทำงานของ “ธรรมนัส” มีการเคลื่อนไหวโจมตีกันตลอดเวลา แต่เมื่อ “ประวิตร” ทุบโต๊ะ บรรดาแกนนำต่างยอมรับคำสั่ง พร้อมปฏิบัติตามโดยไม่แตกแถว
ด้าน "พรรคเศรษฐกิจไทย" เสมือน"พรรคน้อง" โดยจะมีอย่างน้อย 21 ส.ส.อาจจะมีเพิ่มจากพรรคเล็ก วางตัว "บิ๊กน้อย" พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คนสนิทนั่งหัวหน้าพรรค “อภิชัย เตชะอุบล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ถูกวางตัวเป็นเลขาธิการพรรคนี้ และ ร.อ.ธรรมนัส ที่จะมีบทบาทไม่ต่างกับหัวหน้าพรรคตัวจริง
โดยที่ทำการพรรคนี้ เป็นอาคารของว่าที่เลขาฯ อยู่ในซอยมหาดเล็กหลวง 3 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.
สำหรับทุน และนายทุน ว่ากันว่า “เสี่ยอภิชัย” จะเป็นผู้สนับสนุนทุน และหาแหล่งทุนสำหรับพรรคนี้ โดยจะมี “ป.ป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายประวิตร ร่วมด้วยช่วยกัน แต่ยังอยู่หลังม่าน ที่ปรึกษาพรรค
การเดินเกมนี้ คาดว่า “ประวิตร” คำนวณคณิตศาสตร์ทางการเมืองไว้ก่อนแล้วว่า ต้องมี ส.ส.พลังประชารัฐ โดนขับออกมาอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ราวๆ 20 เสียง เพื่อใช้ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอ
โดยจะนำไปเปรียบเทียบกับพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มี ส.ส. 13 เสียง แต่มีเก้าอี้รัฐมนตรี 2 เก้า โดย “ท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา นั่งเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้ม “ประภัตร โพธสุธน” นั่งเก้าอี้รมช.เกษตรและสหกรณ์ ดังนั้นหากจะให้พรรคเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล จำเป็นต้องจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีให้เหมาะสมกับจำนวนเสียง
ตามกระแสข่าว เป้าหมายของ “ประวิตร-เศรษฐกิจไทย” โฟกัสไปที่เก้าอี้ รมว.แรงงาน - รมว.ดีอีเอส- รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่คู่ขัดแย้งนั่งขวางอยู่
ทว่าบางกระแสข่าวเก้าอี้ที่ “ประวิตร-เศรษฐกิจไทย” ปรารถนามากที่สุดคือ รมว.มหาดไทย ซึ่งมี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นั่งขวางอยู่เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องติดตามการตัดสินใจของ “ประยุทธ์” ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อข้อเสนอของพรรคใหม่ของ “พี่ใหญ่” 3 ป.
ทั้งนี้ ความต้องการเข้ามาเขย่าโควตารัฐมนตรีพลังประชารัฐ จัดวางตำแหน่งใหม่ ก็เพื่อเอื้อต่อการทำพื้นที่สร้างผลงานของ ส.ส.เพื่อปูทางสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า
ต่อจากนี้การต่อรองทางการเมืองของ“พล.อ.ประวิตร”โดยมีฐานอำนาจจาก"พรรคพลังประชารัฐ-พรรคเศรษฐกิจ"เป็นแบ็คอัพ อาจจะเข้มข้นดุเดือดขึ้น แต่ภารกิจหลักที่ให้คำมั่นสัญญาต่อพรรคร่วม ก็ยังค้ำยันรัฐบาลไปจนครบวาระ
ส่วนความต้องการในเชิงบริหาร จะชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ได้มากแค่ไหน ก็ต้องวัดใจ"พล.อ.ประยุทธ์” น้องเล็ก ที่แม้ตัวจะใกล้กัน แต่ใจหนีออกห่างไปไกลลิบ