เลขาฯ ACT ซัดรัฐอ่อนด้อยแก้โกง-มาตรการใช้จริงได้น้อย หลัง CPI ไทยตกมา 110 โลก
“ดร.มานะ” เลขาธิการ “ACT” ออกโรงซัด “ภาครัฐ” อ่อนด้อยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน หลังคะแนน CPI ไทยตกเหลือ 35 คะแนน อยู่อันดับ 110 โลก ชี้แม้ภาคประชาชน-ธุรกิจตื่นตัว ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เปิดโปง แต่รัฐสนองตอบน้อยมาก มาตรการ-นโยบายน้อยมากที่ปฏิบัติได้จริง
จากกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทย ได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก ลดลงจากปีก่อนที่ได้รับ 36 คะแนน และเป็นอันดับที่ 104 ของโลกนั้น
อ่านข่าว: คะแนนลด-อันดับตก! ผล CPI ดัชนีรับรู้ทุจริตปี 64 ไทยได้ 35 คะแนนอยู่ที่ 110 โลก
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บางอย่างก็แย่ลงจริง ๆ แต่ว่าเรามีหลายอย่างที่ดีขึ้นอย่าชัดเจน โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงของภาคประชาชน ของภาคธุรกิจ ที่ปรับตัวในทางที่ดีขึ้น เรื่องความตื่นตัว ความพยายามที่จะทำทุกอย่างให้ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะภาคธุรกิจพยายามมากขึ้นชัดเจน
“ปัจจัยที่ดีมาก คือเรื่องเทคโนโลยี และการสื่อสาร เห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมาโซเชียลมีเดีย กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของภาคประชาชนในการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ การแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องไม่ชอบมาพากล ได้เห็นคนรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัว และเข้าใจในปัญหามากขึ้น พยายามจะแก้ปัญหามากขึ้น” ดร.มานะ กล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.มานะ กล่าวว่า แต่ในภาครัฐ และภาคการเมือง ยังอ่อนด้อยมากในเรื่องความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศ กลายเป็นภาระของสังคมไป เรื่องสำคัญคือ หลายปีมานี้ ในหน่วยงานภาครัฐ ได้ออกมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน มาตรการที่จะอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนอย่างโปร่งใส แต่ว่ามาตรการเหล่านั้นมีจำนวนน้อยมากที่ถูกปฏิบัติจริง ๆ ได้ผลงานจริง ๆ
“โดยสรุปคือ สำหรับภาคการเมืองแล้ว มีมาตรการ มีนโยบาย แต่ไม่ถูกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาของประเทศ มันจึงยังมีอุปสรรคอยู่มาก” ดร.มานะ กล่าว
ส่วนการผลักดันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ดร.มานะ กล่าวว่า สำหรับภาครัฐ มีเรื่องง่าย ๆ ที่เราอยากให้ช่วยกันทำ คือเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล อยากให้ช่วยกันทำให้ดีกว่านี้ ส่วน ACT ที่เป็นองค์กรของภาคประชาชน ภาคธุรกิจที่ทำเรื่องนี้ จะพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารมาสร้างเครื่องมือให้ประชาชน สามารถติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างง่าย ๆ และสะดวก
“สิ่งที่ทำแล้วเช่น ACTAI เว็บไซต์สำหรับติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณของภาครัฐจัดซื้อจัดจ้าง ปีนี้พยายามที่จะใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือให้ประชาชนได้ตรวจสอบภาครัฐมากยิ่งขึ้น” ดร.มานะ กล่าว
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชน ภาคธุรกิจพยายามผลักดันแก้ไขเรื่องนี้ แต่ภาครัฐไม่ตอบสนองต้องทำอย่างไร ดร.มานะ กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้จะคืบหน้าได้ ปัจจัยสำคัญกระแสของประชาชนที่ตื่นตัว และเข้าใจปัญหานี้ และช่วยกันบอกว่า เราต้องการเห็นประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างไร ผมเชื่อว่านักการเมือง และข้าราชการ จะต้องฟังประชาชนเหมือนกันว่า เขาจะต้องทำอย่างไร