รัฐแก้ปัญหาการเมืองมากกว่าคอร์รัปชัน! บทวิเคราะห์ ป.ป.ช. CPI ไทยตกมา 110 โลก

รัฐแก้ปัญหาการเมืองมากกว่าคอร์รัปชัน! บทวิเคราะห์ ป.ป.ช. CPI ไทยตกมา 110 โลก

ป.ป.ช.แพร่บทวิเคราะห์สาเหตุ CPI ดัชนีการรับรู้ทุจริตประจำปี 64 ตกเหลือ 35 คะแนน อยู่อันดับ 110 โลก ชี้ 4 ปัจจัยหลัก การติดสินบน-ทุจริตช่วงโควิด-19 รัฐบาลแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่าคอร์รัปชัน สถานการณ์แทบไม่เปลี่ยนแปลง ขาดการดำเนินการชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บทวิเคราะห์คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) 2021 (พ.ศ. 2564) ของประเทศไทย หลังจากได้คะแนน 35 คะแนน อยู่อันดับ 110 โลก ตกลงจากปี 2020 (พ.ศ. 2563) ที่ได้ 36 คะแนน และอันดับ 104 ของโลก

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า เมื่อวันอังคารที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศเยอรมณี หรือเมื่อประมาณ 12.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2021 (พ.ศ. 2564) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ ครองตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนสูงสุด 88 คะแนน ในขณะที่ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน (10 ประเทศ) ซึ่งประเทศสิงค์โปร์ ได้คะแนนสูงสุด คือ 85 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก

รัฐแก้ปัญหาการเมืองมากกว่าคอร์รัปชัน! บทวิเคราะห์ ป.ป.ช. CPI ไทยตกมา 110 โลก

ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ในปี 2021 ลดลงจากปี 2020 โดยพบว่า จากแหล่งข้อมูลทั้ง 9 แหล่ง ประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่ง คงที่ 4 แหล่ง และลดลง 4 แหล่ง ดังนี้

คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่งข้อมูล ได้แก่ แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ได้ 26 คะแนน (ปี 2020 ได้ 20 คะแนน) 

V-DEM วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งในปี 2016 มีการวัดในอาเซียน เพียง 4 ประเทศ แต่ต่อมาในปี 2017 จนถึงปัจจุบัน มีการวัดในประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

ในแหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) มีประเด็นที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ตามคำถามที่ว่า การทุจริตทางการเมืองเป็นที่แพร่หลายมากน้อยเพียงใด (How pervasive is political corruption?)

คะแนนเพิ่มขึ้น จากการวิเคราะห์บรรยากาศทางการเมืองในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้จัดให้มี การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคการเมืองต่าง ๆ สามารถทำกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งสื่อมวลชน และภาคประชาชนได้มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ส่งผลให้บรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยมีมากขึ้น รวมถึงการตอบคำถามของผู้เชี่ยวชาญ ในรูปแบบ Expert survey แสดงให้เห็นทัศนคติที่ดีขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ ความโปร่งใสในการบริหารเงินงบประมาณ และการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อีกทั้งในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีวิจัยที่ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น

รัฐแก้ปัญหาการเมืองมากกว่าคอร์รัปชัน! บทวิเคราะห์ ป.ป.ช. CPI ไทยตกมา 110 โลก

คะแนนคงที่ 4 แหล่งข้อมูล ได้แก่

1. แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 37 คะแนน (ปี 2020 ได้ 37 คะแนน) 

BF (TI) ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1) ด้านการเมือง 2) ด้านเศรษฐกิจ และ 3) ด้านการจัดการของรัฐบาล ทั้งนี้ BF (TI) จะมีการเผยแพร่ผลทุก 2 ปี โดยมีรูปแบบการวิจัยเป็น Qualitative expert survey ซึ่งการเผยแพร่ชุดข้อมูลล่าสุดเป็นรายงานฉบับ ปี 2020 

ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ตลอดจนการดำเนินการต่าง ๆ แต่จากการรับรู้ของผู้ประเมินยังคงขาดความเชื่อมั่นในการลงโทษผู้กระทำการทุจริต รวมถึงขาดความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดการรับรู้ถึงความจริงจังของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตยังไม่ชัดเจน 

2. แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU)  (ได้ 37 คะแนน) ปี 2020 ได้ 37 คะแนน

EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ/ส่วนรวม การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้น ๆ มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรมตรวจสอบผู้บริหาร/ผู้ใช้อำนาจ ธรรมเนียมการให้สินบน เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ EIU มีการสำรวจเก็บข้อมูลประมาณเดือนกันยายนของทุกปี โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญของ EIU จำนวน 2 - 3 คน

ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการจัดทำรายละเอียดทั้งแผนการใช้จ่าย เป้าหมาย และแหล่งที่มาของรายได้ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ  และการแต่งตั้งข้าราชการ ผ่านรูปแบบหรือช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ รวมถึงการเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของภาครัฐ แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญของ EIU อาจเห็นว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะดำเนินการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมาในเรื่องความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง การตรวจสอบการจัดการงบประมาณในกรณีต่าง ๆ จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญยังคงมองสถานการณ์ประเทศไทยไม่ต่างจากเดิม 

3. แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน (ปี 2020 ได้ 35 คะแนน)

ในแหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) มีประเด็นที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต คือ “ความเสี่ยงของการที่บุคคลหรือบริษัทจะต้องเผชิญกับการติดสินบนหรือการคอร์รัปชันในรูปแบบอื่นเพื่อที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น เพื่อให้ได้รับสัญญาเพื่อการนำเข้าและส่งออก หรือเพื่อความสะดวกสบายเกี่ยวกับงานด้านเอกสารต่าง ๆ มีมากน้อยเพียงใด” ซึ่งถูกประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศ ซึ่งได้รับข้อมูลจากกลุ่มลูกค้า ผู้ทำสัญญากับภาครัฐ นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้รับงานอิสระ และเครือข่ายนักข่าว

ถึงแม้รัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน แต่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้รับข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง (กลุ่มลูกค้า ผู้ทำสัญญากับภาครัฐ นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้รับงานอิสระ และเครือข่ายนักข่าว) เห็นว่าการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการติดสินบนหรือสิ่งตอบแทนสำหรับการพิจารณาสัญญาและการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ตลอดจนการคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น 


4. แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน (ปี 2020 ได้ 32 คะแนน)

ในแหล่งข้อมูล Political Risk Services International Country Risk Guide (ICRG) มีประเด็นที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต คือ “การประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง ซึ่งรูปแบบของการคอร์รัปชันที่นักธุรกิจมักพบได้โดยตรงและบ่อยครั้ง คือ การเรียกรับเงินหรือการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตการนำเข้าและส่งออก (Import and Export Licenses) การจ่ายสินบนเพื่อให้เข้าถึงการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา (Exchange Controls) และการเข้าถึงระบบการประเมินภาษี (Tax Assessments) รวมถึงการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Police Protection) และการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับอนุมัติการกู้ยืมเงิน (Loans) เป็นต้น ทั้งนี้ ได้ตระหนักถึงการคอร์รัปชันที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด ได้แก่ การคอร์รัปชันจากระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือญาติ การฝากเข้าทำงาน การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ การระดมทุนลับของพรรคการเมือง และการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างนักการเมืองกับภาคธุรกิจ

เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ข้อมูลแล้วเห็นว่า การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาการเรียกรับเงินหรือการจ่ายสินบนในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการตลอดจนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดการรับรู้ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา

รัฐแก้ปัญหาการเมืองมากกว่าคอร์รัปชัน! บทวิเคราะห์ ป.ป.ช. CPI ไทยตกมา 110 โลก

คะแนนลดลง 4 แหล่งข้อมูล ได้แก่

1. แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD)ได้ 39 คะแนน (ปี 2020 ได้ 41 คะแนน) 

IMD นำข้อมูลสถิติทุติยภูมิและผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ 4) โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ IMD สำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม – เมษายนของทุกปี ในแหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) โดยมีประเด็นที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตจากแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย คือ “มีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่”

คะแนนลดลง จากปัญหาการติดสินบนและการทุจริตที่สั่งสมมา ประกอบกับสถานการณ์โควิด–19     ที่เกิดขึ้น ยังปรากฏผ่านการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า มีการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิด–19 อาทิ การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงปัญหาการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการอนุมัติ-อนุญาต และการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการบางราย ถึงแม้รัฐบาลได้มีการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติ-อนุญาตที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากขึ้น แต่ยังมีการเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนขาดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ที่มีการนำมาใช้ จึงทำให้ผู้ประเมินอาจมองว่าปัญหาดังกล่าวไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา 

2. แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 36 คะแนน  (ปี 2020 ได้ 38 คะแนน) 

PERC สำรวจข้อมูลจากนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้น ๆ ได้แก่ นักธุรกิจจากสมาคมธุรกิจ ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ในเอเชีย ผู้แทนหอการค้าประเทศต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในแต่ละประเทศ ประกอบด้วย ผู้บริหารในประเทศ ผู้ที่มีสัญชาติเป็นบุคคลประเทศนั้น ๆ และผู้บริหารชาวต่างชาติ ใช้การสัมภาษณ์ซึ่งหน้า การสอบถามทางโทรศัพท์ ตลอดจนการตอบแบบสำรวจออนไลน์ เป็นต้น 

ทั้งนี้ PERC มีหลักเกณฑ์ในการสำรวจโดยการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นการถามคำถามที่แสดงให้เห็นถึงระดับการรับรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน โดยมีคำถามที่ใช้ในการสำรวจที่สำคัญ คือ ท่านจะให้คะแนนปัญหาการทุจริตในประเทศที่ท่านทำงานหรือประกอบธุรกิจเท่าใด 

คะแนนลดลง เนื่องจากมุมมองการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามอาจมองว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่าการสร้างมาตรการอย่างเป็นระบบในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริตที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด–19 ส่งผลต่อการบริหารจัดการของรัฐบาล เศรษฐกิจ สังคม และการดำรงชีวิตของประชาชน อีกทั้งปัญหาในเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ รวมถึงการทุจริตในวงกว้างเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งถูกมองว่าเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานของภาคธุรกิจ

3. แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) ได้ 42 คะแนน (ปี 2020 ได้ 43 คะแนน) 

ในแต่ละปี WEF ได้จัดทำรายงานการวัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั่วโลก (The Global Competitiveness Report: GCR) โดยรวบรวมข้อมูลด้านต่าง ๆ ผ่าน “แบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร” (The Executive Opinion Survey: EOS) ซึ่งถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อสำรวจความพึงพอใจของนักธุรกิจต่างประเทศ และนักธุรกิจภายในประเทศ ว่าการประกอบธุรกิจในประเทศเหล่านั้นมีความสะดวกระดับใด มีปัจจัยใดบ้างที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ โดยแบบสำรวจดังกล่าว มีข้อคำถามเกี่ยวกับ “ประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน” ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคิดคำนวณค่าคะแนน CPI ของประเทศไทย

โดย WEF จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม – มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งในปี 2021 แม้จะไม่ได้มีการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของแต่ละประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่จะใช้ดัชนีใหม่ที่พัฒนาขึ้นและนำมาใช้ชี้วัดเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา โดยเน้นในเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน 

คะแนนลดลง มุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริตแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐจะมีการตื่นตัวในการปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางนโยบาย Digital Government รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลสู่ระบบดิจิทัลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่ภาพลักษณ์การแข่งขันภายในประเทศ ยังคงถูกมองว่ามีการดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน หรือบริษัทขนาดใหญ่ให้มีอำนาจควบคุมตลาดในระดับสูง ส่วนภาพรวมของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับประเด็นสินบนและการแทรกแซงการดำเนินธุรกิจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบกับยังปรากฏกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่อย่างต่อเนื่อง

4. แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) ได้ 35 คะแนน (ปี 2020 ได้ 38 คะแนน)

WJP เป็นดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law) โดยมีเกณฑ์การวัด ประกอบด้วย 8 เกณฑ์ ได้แก่ ขีดจำกัดอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers) ปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government) สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights) ความสงบเรียบร้อยของสังคม (Order and Security) การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice) และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จะนำค่าคะแนนของแหล่งข้อมูล WJP เฉพาะเกณฑ์ที่ 2 คือ ปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) โดยผู้เชี่ยวชาญจะถามคำถามทั้งหมด 53 ข้อ เกี่ยวกับขอบเขตของเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว คำถามเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล รวมไปถึงระบบสาธารณสุข หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ตำรวจ และศาล

คะแนนลดลง เนื่องจากการรับรู้ของผู้ประเมินที่มองว่า ถึงแม้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความรู้ความเข้าใจตลอดจนปฏิบัติตามแนวทางเกี่ยวกับการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการยังขาดความชัดเจนและต่อเนื่อง ทั้งการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการใช้อำนาจหน้าที่ตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของส่วนรวม

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยระบุว่า แม้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโควิด-19 แต่รัฐบาลของนานาประเทศยังคงต้องให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพทางสังคม ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานตรวจสอบ รวมถึงการรับมือกับปัญหาการทุจริตข้ามชาติ ทั้งในเรื่องช่องว่างของกฎหมายเพื่อสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ 

ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยังคงมุ่งมั่นสานต่อและพัฒนาการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันทุกภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งภารกิจป้องกันการทุจริต ภารกิจปราบปรามการทุจริต และภารกิจตรวจสอบทรัพย์สิน รวมทั้งแสวงหาและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ เกิดสังคมโปร่งใส สุจริตอย่างแท้จริง อันจะส่งผลต่อการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป