กองทัพทำลายอำนาจในสังคม! “ธีรยุทธ” ปาฐกถาภูมิทัศน์ใหม่ไทยหลังโควิด-19
“ธีรยุทธ บุญมี” ปาฐกถาพิเศษ ม.รังสิต โชว์ภูมิทัศน์ใหม่สำหรับประเทศไทยหลังโควิด-19 มี 4 ขั้นตอน เผยคลื่นสึนามิทำการเปลี่ยนแปลง 3 ลูกกระทบไทย การดิสรัปชั่นของเทคโนโลยี ความเสื่อมของภาคสาธารณะ-การตายของสังคม ชี้ “กองทัพ” เข้าแทรกแซง-ทำลายล้างอำนาจต่าง ๆ ในสังคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ที่ ม.รังสิต ศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Post COVID-19: New Landscapes for Thailand” หรือ ภูมิทัศน์ใหม่สำหรับประเทศไทยหลังโควิด-19 โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. คลื่นสึนามิการเปลี่ยนแปลง 3 ลูกกระทบประเทศไทย ก่อนโควิด 19 โลกเผชิญ 2 คลื่นการเปลี่ยนแปลงใหญ่อยู่แล้ว คือ การเปลี่ยนแปลงจาก disruptive เทคโนโลยี และผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2008 สำหรับประเทศไทยมีอีกหนึ่งวิกฤติมาเพิ่มเติม คือวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความเสื่อมความชอบธรรมของภาคสังคมการเมืองประชาธิปไตยและการปกครอง และยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจาก COVID ด้วย
2. Disruption Technology เช่น AI, Big Data, IoT, Internet ส่งผลให้เกิดการยุบเปลี่ยนทั้งภาคการผลิต การบริการ การเงิน การธนาคาร การแพทย์ การศึกษา ระบบราชการ การเมือง และทุกภาคส่วน ทั้งสร้างสิ่งใหม่และขยายปัญหาเดิมของแต่ละประเทศ
3. ความเสื่อมของภาคสาธารณะและการตายของสังคมไทย
คำว่าสังคม (society, social) เกิดขึ้นพร้อมกับชนชั้นกลางและการเมืองประชาธิปไตย สังคมมีความหมายถึงการพบปะ เข้าสังคม รวมกลุ่มเพื่อถกเถียงหามติความเห็นที่ถูกต้องการติดต่อพูดคุยของสังคมนี้มีกติกามารยาทที่ละเอียดอ่อน ต้องมีความซื่อตรง เชื่อถือในข่าวสาร ทัศนะ ที่ให้แก่กัน อาจมีความเห็นต่าง ความขัดแย้ง แต่ส่วนใหญ่หาข้อสรุปหรือสงวนความคิดของตนได้ ภาคสาธารณะก็หมายถึงมิติทางวัตถุ อำนาจ และผลประโยชน์ของส่วนรวมทั้งหมด โดยที่มีตัวแทนทั้งในลักษณะบุคคลและสถาบัน คือ สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สถาบันวิชาการ มหาวิทยาลัย ครู อาจารย์ ปัญญาชน ฯลฯ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีดิจิตอลก็สร้างขีดความสามารถที่ทำให้เกิดการสื่อสารของทุกคนได้ เกิดเป็น ‘net media’ (ไม่ใช่ social media เพราะเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งเน้นการแสดงออกตัวตน (ไม่ใช่ทัศนะหรือความรู้ที่ถูกกลั่นกรองตรวจสอบยาวนาน) ความฉับไว ความต่าง แปลกใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มนำไปสู่การดูถูก ด้อยค่า ด่าทอ ใช้คำหยาบและความเกลียดชังด้วยอคติต่าง ๆ)
สังคมไม่ได้หายหรือตายไปเพียงเพราะคนไม่ได้ออกมาพบปะกัน แต่ยังตายเพราะคุณค่า ค่านิยม ขนบประเพณี ซึ่งสร้างความเป็นสังคมได้ล้มหายตายจากไปด้วย เราจะพบว่าค่านิยม เกียรติ ศักดิ์ศรีความเชื่อถือ (trust) ความซื่อตรงมีคุณธรรมintegrity ในหมู่มิตรสหาย ในทางวิชาการและวิชาชีพ ได้เสื่อมลงไปเรื่อย ๆ และแทบไม่มีการพูดถึงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น net idol จะไม่เน้นที่เกียรติ ศักดิ์ศรี คุณวุฒิ ความสามารถทางด้านต่าง ๆ แต่จะอยู่ที่ความสามารถในการสร้างความแปลกใหม่ ความน่าสนใจ และการเข้าถึงสถานการณ์ เหตุการณ์ event ต่าง ๆ ได้ จนเป็นที่ชื่นชอบของแวดวง
ภาคสาธารณะ (public sphere) จะเหลือเพียงมิติที่เป็นการบริการของภาครัฐ จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นต่อเมื่อกระทบต่อผู้คนกลุ่มต่าง ๆ เท่านั้น
การตายหรือเสื่อมของภาคสังคมและสาธารณะจะส่งผลอย่างมากต่อการส่งเสริม สถาปนา หรือถ่วงดุลการเมืองประชาธิปไตย ส่วนNet Media และอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคใหม่นี้จะทำหน้าที่นี้ได้หรือไม่ จะเป็นคำถามสำคัญต่อไป
4. ความเสื่อมของการปกครองไทย
ปัญหาที่ลึกซึ้งไปกว่าคำว่าเสถียรภาพของรัฐหรือรัฐบาลก็คือคำว่า “การปกครอง ‘ได้’ หรือ ‘ไม่ได้’” (governmentality) รัฐปกครองได้ไม่ได้หมายถึงการมีอำนาจในด้านต่าง ๆ เช่น อำนาจกองทัพ ศาล ตำรวจ การให้การศึกษา การรักษาพยาบาล ฯ แก่ประชาชน แต่หมายถึงการได้ใจของประชาชนด้วย การได้ใจหมายถึงรัฐต้องทำหน้าที่ได้ดี มีที่มา วัตรปฏิบัติที่ชอบธรรม ให้ความยุติธรรมและเท่าเทียมกันกับประชาชน
สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองประเทศเป็นแบบสมัยใหม่ คือ (1) เป็นรัฐทางอาณาเขตหรือพรมแดนที่มีประชาชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะคนไทยอาศัยอยู่ มีองค์อธิปัตย์ที่ชัดเจน (2) เป็นรัฐทางกฎหมาย (rechtsstaat) (3) เป็นรัฐการคลัง (fiscal state) เป็นรัฐบริหารจัดการโดยคติระบบปรัชญาสมัยใหม่ (4) เป็นรัฐที่ส่งเสริมสวัสดิการทางด้านสุขภาพ การศึกษา การเดินทาง ฯ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปใหญ่สุดและสถาปนารัฐไทยสมัยใหม่ได้ผล แต่อำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์และราชวงศ์ จนถึงปี 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยทหารและพลเรือน แม้จะใช้วาทกรรมประชาธิปไตยแต่อำนาจลงไปตัวประชาชนส่วนใหญ่น้อยมาก
ในสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการปฏิรูปใหญ่ที่เป็นช่วงสำคัญต่อจากการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 คือการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ความคิดการปกครองมีอิทธิพลความคิดของ NPA (New Public Administration) ที่มุ่งให้มีนโยบายและระบบราชการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น มีการส่งเสริมการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย การขยายบทบาทของเทคโนแครต นักวิชาชีพ และภาคเอกชน ซึ่งก็คือชนชั้นกลางและปัญญาชน จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งส่งผลให้มีการยอมรับการเลือกตั้งและระบบรัฐสภา รวมทั้งการมีเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และวงการศึกษา และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่มั่นคงชัดเจนขึ้น
ปี 2530-2540 เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกช่วงหนึ่ง มีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 วิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 เกิดวาทกรรมปฏิรูปเรื่องรัฐธรรมนูญและการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นโกงกินของนักการเมืองและราชการ กระแสนโยบาย NPM (New Public Management) แบบแทตเชอร์และเรแกน ส่งเสริม เกิดการขยายบทบาทของ NGOs กลุ่มคนจน เกษตรกร องค์กรอิสระ องค์กรมหาชนต่าง ๆ แต่ทักษิณซึ่งเป็นนักธุรกิจและการตลาดเปลี่ยนแนวทางจาก NPM ไปสู่การขายนโยบายและผลประโยชน์ตรงไปสู่ชาวบ้าน เกิดแนวการเมืองแบบประชานิยม แนวทางไทยรักไทยกระเทือนโครงสร้างของภาคสังคมของชนชั้นกลางและของกลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งรวมถึงกองทัพ ศาล ฯ
ประชานิยมไม่เหมือนกับการปฏิรูปในขั้นตอนอื่น ๆ เพราะมันไม่มีเป้าหมายที่เป็นโครงสร้างการกระจายอำนาจการเมืองและผลประโยชน์เศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่มีพลังมหาศาลเหมือนหลุมน้ำวนที่ดูดสิ่งกีดขวางเข้าไปทำลายจนหมดสิ้น จึงทำให้ฝ่ายอื่น ๆ มองเป็นภาวะอันตรายที่ต้องต่อต้าน สภาพที่ดำเนินไปเช่นนี้ยิ่งดำเนินไปก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น กลุ่มที่มองเฉพาะเห็นแต่ธรรมชาติของอำนาจ มองเป็นการทำลายล้างซึ่งกันและกัน ก็เข้าไปร่วมมากขึ้น จากกองทัพที่เข้าไปแทรกโดย “เหตุจำเป็น” จนยืดเยื้อไปถึงขั้น “ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่ในอำนาจต่อไป” มีการแทรกแซงอำนาจต่าง ๆ จนกระทั่งถึงระดับผู้พิพากษาการเมืองและศาลยุติธรรมบางส่วนก็เข้าไปในกระบวนการทำลายล้างนี้ โดยลืมภาระหน้าที่และหลักคือการสร้างความยุติธรรมให้สังคมของตนไป
ศ.ธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อไปคือ Reset ตัวเองใหม่หลัง COVID โดย COVID เป็นแรงกระทบใหญ่มากจนเราไม่อาจแน่ใจว่าจะเกิด New Normal ใหม่กับสังคมกลุ่มไหนหรือไม่ จะเกิดความพึงใจเป็นพิเศษ (preference) โดยไม่มีเหตุผลการทบทวนตัวเองประเมินและคาดการณ์ความรู้ ประสบการณ์เก่ากับ Normal ใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และเลือกทางเดินใหม่ ๆ ที่ยืดหยุ่นปลอดภัยและได้ผลดีทั้งระยะยาวและระยะสั้นได้ ผู้เขียนสรุปหนทางประเทศไทยในภูมิทัศน์ใหม่หลัง COVID-19 เป็นคำย่อ TECHดังนี้
1. หนทางที่เลือกอาจสรุปได้จากความจริงที่ว่า เรามีแรงงานที่ตกงานหรือว่างงานอยู่มาก ซึ่งไม่อาจได้รับการจ้างงานกลับไปได้ทั้งหมดเพราะบางธุรกิจล้มละลายไป งานระดับล่างยังถูกกดดันจากแรงงานราคาต่ำจากเพื่อนบ้าน ซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนงานใหม่ซึ่งทุกธุรกิจคงจะ reset ตัวเอง ก็คงจะเน้นทักษะในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งแรงงานไทยเราได้ชื่อว่าขาดแคลนอย่างยิ่งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ายังคงมีความจำเป็นที่จะต้องเน้นการเพิ่มทักษะในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับแรงงานไทย การเพิ่มผู้จบการศึกษาให้วิชาชีพด้านดังกล่าวก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทิศทางแรกของเราจึงเป็นตัว T คือ Technology ใหม่ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ผลิตตัวเทคโนโลยีเอง แต่เป็นผู้ใช้หรือผู้บริการการใช้ โดยอาศัยพื้นที่ สถานที่ infrastructure และ Human Capital ที่มีทักษะเพียงพอด้วย
2. ตัวย่อที่ 2 คือ E (Education) หรือการศึกษา เป็นความคิดสวนกระแส เพราะภาพลักษณ์การศึกษาไทยคือความย่ำแย่ ไม่ได้เรื่อง แต่สิ่งนี้ยังมีความจำเป็นต่อประเทศ และยังมีโอกาสเป็นภาคสำคัญของเศรษฐกิจได้ ถ้าคำนึงถึงว่าไทยเป็นศูนย์กลางของ ASEAN มีฐานะเป็นแหล่งสำคัญใน supply chain เพราะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่มากมาย ความจำเป็นของการศึกษาเพื่อดึงดูดเอาเยาวชน แรงงานฝีมือ นายช่าง หรือวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อมาเรียนต่อ reskill ฯ มีความเป็นไปได้มาก ถ้าเรามีการลงทุนและส่งเสริมการศึกษาแบบต่าง ๆ ได้ดี วิธีการน่าจะเป็นแบบคำนึงความต่าง เช่น ใช้ทั้งปรัชญาเพื่อความเป็นเลิศ (search of excellence) ในอดีต กับ search of standard ในปัจจุบันผสมผสานกัน ใช้หลักการตลาดทั้ง input output ของการศึกษา เป็นต้น
3. ตัวย่อที่ 3คือ C ตัวแรกคือ Culture หรือวัฒนธรรม ซึ่งควรทำให้มากกว่าเป็นเพียงอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม (cultural industry) แต่ให้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ เป็นทั้ง culture capital หรือ cultural capitalism ไปเลย ในทำนองสวิสเซอร์แลนด์และญี่ปุ่นที่ทำให้เป็นวัฒนธรรมของประเทศและตัวคน สวิสคือชาติที่มีธรรมชาติ ประวัติศาสตร์เฉพาะตน มีความซื่อตรงมีหลักการที่มั่นคง ญี่ปุ่นซึ่งมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ผู้คนที่มีระเบียบวินับ มีความก้าวหน้าทันสมัยในทุก ๆ ด้าน โดยหวังจะสถาปนาอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นเหมือนกับสวิสหรือญี่ปุ่นได้ ไทยเราเองแม้จะไม่ได้มีนโยบายและการปฏิบัติที่เข้มแข็งในเรื่องนี้ แต่เราก็มีจุดเด่นจุดแข็งที่เป็นอัตลักษณ์พิเศษของคนไทย เช่น เป็นคนง่าย ๆ ยิ้มแย้ม มีอัธยาศัยที่ดี มีอาหารที่อร่อยหลากหลาย ฯลฯ การมียุทธศาสตร์ส่งเสริมด้านอื่น แง่มุมอื่น ๆ มาสร้างให้เป็นอัตลักษณ์ของชาติของคนไทย จะมีส่วนช่วยสร้างรายได้ในประเทศได้
C ตัวที่ 2 คือ Care หมายถึง Caring รวมทั้ง Hospitality Industry การดูแลคนแก่ ซึ่งก็อยู่ในจุดแข็งที่เรามีทั้งในตัวบุคคลและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงแรม บ้านพัก อยู่แล้ว
C ตัวที่ 3 คือ Creativity หรือการสร้างสรรค์ ซึ่งในด้านดิจิตอลและเทคโนโลยียังมีพื้นที่ว่างให้เติมเต็มอยู่ไม่รู้จบ ทั้งในด้านการเขียนโปรแกรม แอพ และการประยุกต์ด้านต่าง ๆ การส่งเสริมการศึกษา วิจัย การลงทุนของสตาร์ทอัพจะยังมีความสำคัญอีกนาน
4. H มี 2 ตัว คือ Health และ Happiness เราเคยมีเป้าหมายให้ประเทศเป็น Hub ของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ หลัง COVID ก็อาจยังมีความจำเป็นและเป็นภาคส่วนที่มีโอกาสหาช่องทางใหญ่ ๆ ได้อีกมาก
ส่วน Happiness เป็นคำรวมที่หมายถึงการสรรหาสิ่งที่จะตอบสนองการหาความสุขที่เหมาะสมของทั้งแขกต่างชาติและคนไทยเอง ซึ่งอาจจะใช้คำสุขภาวะหรือ Wellness ก็ได้ ซึ่งได้เน้นไว้ในหลาย ๆ จุดที่พูดถึงอยู่แล้ว แต่การตระหนักถึงสังคมที่คำนึงถึงการสร้างองค์รวมความสุขและสุขภาวะให้ประชาชนก็เป็นเป้าหมายสูงส่งที่แม้จะยากเข้าถึง แต่ก็อาจจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติหรือกำหนดนโยบายได้หยั่งถึงความสัมพันธ์เป้าหมายของชีวิตกับเป้าหมายของบ้านเมืองได้