กาเชิงยุทธศาสตร์ ศึกหลักสี่ “เกมเลือกขั้ว” บอกทิศเลือกตั้งใหญ่

กาเชิงยุทธศาสตร์ ศึกหลักสี่  “เกมเลือกขั้ว” บอกทิศเลือกตั้งใหญ่

ชัยชนะ หรือความพ่ายแพ้ครั้งนี้ จะบ่งบอกทิศทางทางการเมืองในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปได้อย่างชัดเจนที่สุด ว่าใครจะได้ไปต่อหรือต้องพอแค่นี้

การเลือกตั้งซ่อม กทม. เขตหลักสี่-จตุจักร ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความหมายอย่างมากสำหรับพรรคการเมืองทุกขั้ว รวมถึงพรรคใหม่ ที่ส่งผู้สมัครลงชิงชัยในสนามนี้ 

"พรรคเพื่อไทย" หนึ่งในพรรคที่นิยามตัวเองอยู่ในซีกประชาธิปไตย ส่ง เดอะอ๊อบ "สุรชาติ เทียนทอง" ตัวเต็งในรอบนี้ ซึ่งคนในแวดวงการเมืองขั้วตรงข้ามยังยอมรับว่า ลูกชายป๋าเหนาะ "เสนาะ เทียนทอง" เจ้าพ่อวังน้ำเย็น คนนี้ มีโอกาสเข้าป้ายได้เป็น ส.ส. ค่อนข้างแน่นอน 

ยกเว้นสะดุดเจอเกมใต้ดินกระชากชัยชนะไปจากมือ ดังนั้น บรรดาคีย์แมนเพื่อไทยที่ลงมาช่วย "สุรชาติ" อย่างสุดตัว จึงคอยช่วยระวังหลัง รัดกุมทุกฝีก้าว บล็อคทุกช่องทางไม่ให้คู่ต่อสู้ชิงจังหวะพลิกเกมได้ 

เที่ยวนี้ "เพื่อไทย" อาศัยการ "เลือกตั้งซ่อม" สนามนี้ ทดสอบทุกอย่างเต็มรูปแบบ เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ ทุกกลยุทธ์ถูกนำมาใช้ เพื่อจะได้เห็นภาพในอนาคตว่า พรรคต้องปรับเพิ่มจุดแข็งหรือปิดจุดอ่อนอย่างไร 

ทุกเรื่องที่อยากรู้ถูกบรรจุผ่านคำถามในการทำโพล หยั่งกระแสประชาชน ถึงขนาดถามว่า สเปคนายกรัฐมนตรี คนต่อไปเป็นอย่างไร

ช่วงโค้งสุดท้าย "เพื่อไทย" ตัดสินใจชู แคมเปญ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นนโยบายเดิมของพรรค ที่เคยใช้หาเสียง สมัย "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" น่าสนใจว่า เกมนี้ "เพื่อไทย" หวังผลต่อยอดไปถึงสนาม "ผู้ว่าฯ กทม." และ “เลือกตั้งทั่วไป" แถมยังจะได้ยินสโลแกนแสบๆ คันๆ ที่ว่า "ใช้เพื่อไทย ไล่ประยุทธ์" อีกด้วย 

ขณะที่ "พรรคก้าวไกล" ซึ่งมีจุดยืนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการสืบทอดอำนาจ ซึ่งกุมฐานเสียงคนรุ่นใหม่ มีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงกระแสในโลกออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย 

"พรรคก้าวไกล" พยายามตีแผ่ความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในหลายๆ เรื่อง ชูธงปฏิรูปในหลายภาคส่วนของสังคม ไม่เว้นแม้แต่การเข้าถ้ำเสือไปปราศรัยในค่ายทหารของแกนนำพรรค รวมถึง "เพชร” กรุณพล เทียนสุวรรณ ผู้สมัครของพรรค ที่กรมยุทธโยธาทหารบก ยังคงเน้นย้ำประเด็น "ปฏิรูปกองทัพ" ให้ทันสมัย ดูแลสวัสดิภาพทหารชั้นผู้น้อย และแคมเปญที่ได้ใจวัยรุ่นอย่างยกเลิกการเกณฑ์ทหาร 

"ในอนาคตถ้าเรามีอำนาจมากพอ ได้เป็นรัฐบาล สิ่งที่เราจะทำทันทีคือการเสนอร่างนี้อีกครั้งเราต้องยุติการบังคับเกณฑ์ทหารแล้วเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ" รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อก้าวไกล ปราศรัย ช่วงหนึ่งบนเวทีในค่ายทหาร 

สะท้อนชัดว่า "ก้าวไกล" ก็เป็นอีกพรรคที่มองข้ามชอต ไปสนาม "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." และ "เลือกตั้งใหญ่" เช่นเดียวกัน 

กรณีที่เห็นชัดก็คือ การเปิดตัว "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" เป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ของพรรค 7 วันก่อนหย่อนบัตรที่หลักสี่-จตุจักร หลายพรรคจึงอาศัยสนามซ่อมเป็นสะพานไปสู่สนามใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม "พรรคพลังประชารัฐ" แชมป์เก่าสนามนี้ ต้องรับศึกรอบด้านจากทุกพรรคที่มุ่งล้มแชมป์ และมีแนวโน้มจะเพลี่ยงพล้ำค่อนข้างสูง มีการคาดการณ์กันว่า ผู้สมัครของพรรคอย่าง "สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ" อาจเข้าป้ายมาในลำดับ 3-4 เลยทีเดียว 

การแก้เกมของพลังประชารัฐในช่วงโค้งสุดท้าย พยายามโปรโมทผลงานของรัฐบาล เช่นโครงการบ้านมั่นคง โครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแม้แต่ผลงานการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าหลายสายที่วิ่งผ่านพื้นที่ 

โดยไฮไลท์ของ "พลังประชารัฐ" ที่จำเป็นต้องงัดมาใช้ในโค้งสุดท้ายคือ โหนกระแสของ"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ตามสโลแกนที่ว่า "รักลุงตู่ ชอบลุงป้อม กาเบอร์7" 

การชู "พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร" ของ "พลังประชารัฐ" ครั้งนี้ จะเป็นการวัดดวง หรือเป็นตัวชี้ขาดว่า "ลุงตู่" จะปังหรือแป้กในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเลยทีเดียว

อีกหนึ่งพรรคที่วางโพสิชั่นตัวเองได้ชัดเจน คือ "พรรคไทยภักดี" ที่ส่ง "พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์" ลงชิมลาง ด้วยการทดสอบแคมเปญ "ปกป้องสถาบัน" ยืนยันแนวทางการปราบโกง ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของ "นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม"  หัวหน้าพรรค ที่เคยมีบทบาทในการซักฟอก "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ในการทุจริต "โครงการรับจำนำข้าว" จนอดีตนายกฯ หญิง และรัฐมนตรีหลายคน ถูกศาลตัดสินจำคุก 

ผลการเลือกตั้งหลักสี่-จตุจักร จะเป็นคำตอบอย่างดีว่า แนวทางของ "ไทยภักดี" มาถูกทางหรือไม่อย่างไร 

นอกจากนั้น ผู้ท้าชิงจาก "พรรคกล้า" ที่ส่งแม่บ้านพรรค อย่าง "อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี" อดีตส.ส.พื้นที่ เริ่มถูกจับตาอย่างมากในช่วงโค้งสุดท้าย เมื่อได้แรงสนับสนุนจาก "สกลธี ภัททิยกุล" รองผู้ว่าฯกทม. ที่ชูแนวทาง การเมืองคุณภาพ ขายภาพความมีประสบการณ์ของผู้สมัครฯ สามารถทำงานในพื้นที่ได้ทันที 

พร้อมๆ กับการชูความเป็นมือเศรษฐกิจ ของ "กรณ์ จาติกวณิช" หัวหน้าพรรค และทีมงานเพราะรู้ดีว่า การแข่งขันในทางการเมืองกระดานต่อไป ต้องแข่งกันด้วยนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูความบอบช้ำจากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 จนสร้างความเดือดร้อนให้กับคนทุกระดับ 

แนวทางของ "พรรคกล้า" ที่โฟกัส การแก้ปัญหาเศรษกิจ ก็มีผู้เล่นใหม่กระโดดเข้ามาแจมเพิ่มเติม คือ "พรรคสร้างอนาคตไทย" หรือแม้แต่ "พรรคไทยสร้างไทย" เองก็มุ่งนโยบายช่วยเหลือคนกลุ่มเปราะบาง หรือบรรดาคนตัวเล็ก ตัวน้อย

การขับเคี่ยวกันในศึกเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร จุดสำคัญคือการแข่งขันกันระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละพรรค ที่จำแนกได้ชัดเจนว่า หากเลือกฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายสืบทอดอำนาจ หรือฝ่ายที่มุ่งแก้เศรษฐกิจปากท้อง ต้องโหวตให้ใคร 

ชัยชนะ หรือความพ่ายแพ้ครั้งนี้ จะบ่งบอกทิศทางทางการเมืองในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปได้อย่างชัดเจนที่สุด ว่าใครจะได้ไปต่อหรือต้องพอแค่นี้