เช็คเลย! รัฐบาลจัดเพิ่มสิทธิ "หลักประกันสุขภาพ" แต่ละช่วงวัย มีอะไรบ้าง?

เช็คเลย! รัฐบาลจัดเพิ่มสิทธิ "หลักประกันสุขภาพ" แต่ละช่วงวัย มีอะไรบ้าง?

เช็คเลย! รัฐบาลจัดเพิ่มสิทธิ "หลักประกันสุขภาพ" แต่ละช่วงวัย แพ็คเกจสุขภาพเพื่อประชากรหญิง ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ลดอัตราการป่วย-เสียชีวิต

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานกำหนดแผนงานและจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับเพศภาวะ เหมาะสมตามความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของประชากรที่มีความแตกต่างของเพศ วัย และสภาพของบุคคล

โดยยึดหลักการสำคัญที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ความต้องการ และการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกันของหญิงและชาย ซึ่งในงานการสร้างเสริมสุขภาพ ปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยทุกสิทธิ "หลักประกันสุขภาพ"

โดย เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้เหมาะกับความจำเป็นของแต่ละช่วงวัย และกลุ่มประชากรหญิง ซึ่งต้องการได้รับการดูแลที่แตกต่างจากผู้ชาย งบประมาณที่ใช้กว่า 19,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะเป็นการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ลดอัตราการป่วย-เสียชีวิต และประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลในระยะยาวได้
 

  • หมวดหมู่สิทธิประโยชน์ “ตามช่วงวัย” มีดังนี้    

1. สิทธิประโยชน์ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และหลังคลอด สามารถขอรับคำปรึกษาการเตรียมความพร้อมที่จะมีบุตรได้ที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ จากเดิมการดูแลการตั้งครรภ์ในสิทธิประโยชน์ของ "บัตรทอง" กำหนดไว้อย่างน้อย 5 ครั้ง ในปีนี้มีการขยายไปเป็น 8 ครั้ง หากมีความจำเป็นหน่วยบริการจะให้การดูแลมากกว่า 8 ครั้งได้
 

2. กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี เมื่อทารกคลอดออกมาก็ได้รับการเจาะเลือดที่ส้นเท้า เพื่อส่งตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนและโรคฟินิลคีโตนูเรีย และในปีนี้จะมีการขยายสิทธิประโยชน์ใหม่สำหรับการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก 40 โรคด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry
 
3. กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี สำหรับผู้หญิงเมื่อเริ่มมีประจำเดือน มีสิทธิประโยชน์ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจางที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้ไม่มีภาวะซีด ก็มีสิทธิประโยชน์ยาเสริมธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกให้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนที่แต่งงานมีครอบครัวและวางแผนจะมีบุตร สำหรับกลุ่มวัยรุ่นหรือที่บรรลุนิติภาวะแต่งงานแล้วแต่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถขอคำปรึกษาได้
 
4. กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี ในปี 2565 มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ

  • การตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม คือ ยีน BRCA1 BRCA2 ในคนที่เป็นมะเร็งเต้านม และติดตามญาติสายตรงที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมารับการตรวจคัดกรองและให้การดูแลต่อเนื่อง
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test หรือแป็บสเมียร์ (Pap smear)
  • การตรวจคัดกรองโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป และการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) ซึ่งกรณีหลังนี้ให้ในทุกกลุ่มวัยไม่ใช่เฉพาะวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ

 
5. กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สิทธิประโยชน์จะมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีการตรวจคัดกรองความดัน-เบาหวาน-มะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับผู้ที่มีอายุ 60-70 ปี เป็นต้น

พร้อมกันนี้ สปสช. ยังมีแนวทางการให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน และถุงยางอนามัย ซึ่งจะทำให้ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ตามสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

โดยในปีนี้ สปสช. ได้เพิ่มจุดให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น คือ หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ คลินิกการพยาบาลฯ ร้านขายยา โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเวชกรรม และหน่วยบริการปฐมภูมิ กว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน จะให้บริการสำหรับหญิงไทยทุกสิทธิการรักษาพยาบาล อายุระหว่าง 15-59 ปี ขอรับผ่านแอปเป๋าตัง หรือใช้บัตรประชาชนไปรับที่หน่วยบริการข้างต้นได้ เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 65 เป็นต้นไป
 
ส่วนถุงยางอนามัย จะให้บริการแก่คนไทยทุกสิทธิการรักษาพยาบาลอายุ 15 ปีขึ้นไป รับบริการได้ครั้งละ 10 ชิ้น/สัปดาห์ รอบการจ่าย 7 วัน รับได้ 1 ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนถุงยาง/คน/ปี  โดยใช้สมาร์ทโฟน Add Line สปสช. แล้วสแกน QR code ณ หน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการแจกถุงยางอนามัย เพื่อรับถุงยางอนามัยตามไซส์ มีให้เลือก 4 ไซส์ คือ 49 มม. 52 มม. 54 มม. และ 56 มม. ถุงยางอนามัยจะเริ่มให้บริการในช่วงเดือน เม.ย. 65 เป็นต้นไป