"เทพไท" ยกรธน.ยันกมธ.ป.ป.ช.ไร้อำนาจสอบทรัพย์ "ดร.เอ้"เชื่อตั้งธงการเมือง
"เทพไท" ยกรัฐธรรมนูญมาตรา135 ป้อง "ดร.เอ้" ยืนยันกมธ.ป.ป.ช. ไร้อำนาจสอบทรัพย์สิน เหตุซ้ำซ้อน-เป็นอำนาจป.ป.ช.
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัว ข้อความว่า จากกรณีที่ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธานฯ เตรียมเชิญ ศจ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตลาดกระบัง(สจล.) ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ มาชี้แจงเกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกตินั้น
ผมในฐานะที่เคยเป็น ส.ส.มาหลายสมัย และเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ ประจำสภาผู้แทนราษฎรมาหลายคณะ รู้สึกแปลกใจที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ความร่ำรวยผิดปกติของบุคคลภายนอก อย่าง ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่พ้นตำแหน่งจากการเป็นอธิการบดี สจล.ไปแล้ว
ซึ่งการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินว่า รวยผิดปกติหรือไม่ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ปปช.โดยตรงอยู่แล้ว แต่คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว ได้อ้างการร้องเรียนจากบุคคลไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ ซึ่งเปรียบเสมือนบัตรสนเท่ห์ ให้มาตรวจสอบ ซึ่งอาจจะไม่เป็นธรรมต่อ ดร.สุชัชวีร์ ที่กำลังจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เพราะที่มาของกรรมาธิการทั้งคณะ ก็เป็นฝ่ายการเมือง เป็นส.ส.จากทุกพรรค จึงไม่มีหลักประกันใดว่า จะ ได้รับความเป็นธรรม และไม่มีประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง
แม้ว่า ดร.สุขัชวีร์ประกาศพร้อมให้ตรวจสอบแล้วก็ตาม แต่โดยมารยาท และความเหมาะสม ควรจะให้คณะกรรมการ ปปช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบตามหน้าที่ จะเป็นการดีที่สุด
เมื่อผมได้เปิดดูข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 135 บัญญัติว่า สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอํานาจเลือกสมาชิกของ แต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอํานาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิก หรือ มิได้เป็นสมาชิก ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทํากิจการพิจารณา สอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอํานาจหน้าที่ของสภาแล้วรายงานต่อสภา มติตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ต้องระบุกิจการ หรือเรื่องให้ชัดเจน และไม่ซำ้หรือซ้อนกัน
ดังนั้น กรรมาธิการ คือ บุคคลที่สภาแต่งตั้งขึ้นประกอบเป็นคณะกรรมาธิการ เพื่อกระทำกิจการ พิจารณา สอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอานาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา
เพราะฉนั้น การทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ปปช.เพื่อตรวจสอบ ดร.สุชัชวร์ จะต้องรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นใด และเป็นอำนาจหน้าที่ หรือซ้ำซ้อนกับการทำหน้าของ คณะกรรมการ ปปช.หรือไม่
นอกจากนี้ผมได้ไปดูข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปี 2562 ที่กำหนดไว้ใน(22) ระบุว่า คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการ และมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ดังนั้นคณะกรรมาธิการสามัญ ประจำสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ หรือกรณีที่ภาคเอกชน หรือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดีกว่าการมาไล่ตรวจสอบนักการเมืองด้วยกัน ถ้าหากมีใครส่งบัตรสนเท่ห์ หรือเป็นผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ ส.ส.ทั้งสภา คณะกรรมาธิการชุดนี้ จะดำเนินการอย่างไร
ส่วนตัวเชื่อในความบริสุทธิ์ของ ดร.สุชัชวีร์ และ พร้อมสนับสนุนให้มีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเห็นว่า ปปช.น่าจะเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบ และให้ความเป็นธรรมได้มากที่สุด