“ก้าวไกล” ซัดรัฐบาลยื้อร่าง กม.ฝ่ายค้าน มีผลประโยชน์นายทุนเอี่ยวหรือไม่
“พรรคก้าวไกล” ซัดรัฐบาลอ้างข้อบังคับ ยื้อร่างกฎหมายฝ่ายค้าน ส่ง ครม.อุ้มอีก 60 วัน ชี้เพราะมีผลประโยชน์นายทุนเกี่ยวข้องหรือไม่ เตือนทำไปเรื่อยอาจอยู่ไม่รอด
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 นายณัฐชา บุญชัยอินทร์สวัสดิ์ ส.ส. กทม. และโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (9 ก.พ. 2565) ที่พรรคก้าวไกลได้มีการเสนอร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า, ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม, ร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ถูกรัฐบาลอ้างข้อบังคับที่ 118 ขอรับไปพิจารณาภายใน 60 วัน ทำให้ยังไม่สามารถเข้าสู่วาระรับหลักการในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรได้
นายณัฐชา กล่าวว่า เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจงใจที่จะยื้อเวลา เพราะหากต้องการจะศึกษาร่างกฎหมายจริงสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอื่น และการยื้อเวลาครั้งนี้อาจมองไปได้ถึงขั้นว่า ร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่ถูกยื้อมีผลผูกพันเกี่ยวกับนายทุน การยื้อออกไป 60 วัน อาจใช้เวลาในช่วงนี้เรียกราคาจากนายทุนได้ ดังนั้นการพิจารณาครั้งนี้ที่รัฐบาลส่งกลับมาอาจมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าที่พรรคก้าวไกลพยายามทลายทุนผูกขาด และเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรพื้นบ้านหากกฎหมายผ่านออกไปจะทำให้นายทุนเสียดุลการค้าแน่นอน ทำให้ในช่วง 60 วันนี้ น่าจับตาว่ารัฐบาลกำลังจะทำอะไร
นายณัฐชา กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลยังใช้วิธีการนี้ไปเรื่อยๆกับกฎหมายของฝ่ายค้าน ก็ควรคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลที่ไม่ได้ดีมากนัก เพราะการประชุมสภาฯในสัปดาห์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอภินิหารการยกมือไหว้ของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่อาจจะใช้ได้เพียงสัปดาห์นี้เท่านั้น สัปดาห์หน้าต้องมาวัดกันอีกครั้ง อาจจะต้องยกมือไหว้กันอีกรอบ และรัฐบาลก็คงอยู่ได้ไม่นาน
ส่วนนายแพทย์วาโย กล่าวว่า กฎหมายที่ฝ่ายค้านเสนอเข้ามาอยู่ในวาระนานเป็นชาติแล้ว บางฉบับเข้ามาตั้งแต่ปี 2563 ไม่ใช่ว่าพรรคก้าวไกลเพิ่งมาเสนอเพียงอาทิตย์สองอาทิตย์ จนทำให้รัฐบาลไม่มีเวลาเพียงพอในการศึกษา แต่มันเข้ามาเป็นปีๆแล้ว การทำแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าเกลียด นอกจากนี้ยังมีกฎหมายฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลเองที่ถูกรัฐบาลอ้างข้อบังคับในลักษณะเดียวกัน แต่ในส่วนของกฎหมายรัฐบาลเชื่อว่าเป็นเพราะรัฐบาลกังวลเรื่องของสถานภาพรัฐบาล หากปล่อยเข้ามาแล้วร่างกฎหมายของรัฐบาลถูกตีตก และหากกฎหมายถูกตีตกหรือคว่ำนายกรัฐมนตรีต้องลาออกทันที