"กลุ่ม 16" พรรคเล็ก เทียบ"ตำนาน" ย้อนผลงาน โบว์แดง-โบว์ดำ
วีรกรรม "กลุ่ม 16" นักการเมืองเจเนอเรชั่นที่มีอิทธิพลในการเมืองไทย ด้วยการโชว์ผลงานอภิปรายไม่ไว้วางใจ “รัฐบาลชวน หลีกภัย” ปี 2535 ปมที่ดินสปก.4-01 จนต้องยุบสภา ซึ่งต่างจาก “กลุ่ม 16” ของ “มงคลกิตติ์” ที่ไม่ทันข้ามวันก็ล่มสลาย
จู่ๆ “เต้ มงคลกิตติ์” หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ก็ออกมาจุดพลุตั้ง “กลุ่ม 16” แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ซึ่งก็ถูกวิจารณ์หนัก เรื่องต้องการเพิ่มแรงต่อรองให้ “พรรคเล็ก” ที่กลับมามีความสำคัญ หลังเกิดความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จน “ผู้กองมนัส” ต้องทิ้งเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับหอบ 20 ส.ส. ออกไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย
“กลุ่ม 16” ของ “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ” มีชื่อของ “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้ากลุ่ม มีบรรดา ส.ส.พรรคเล็ก อยู่ในองค์ประกอบ รวมถึง 2 ส.ส.จากพรรคก้าวไกล
ทว่า ยังไม่ทันข้ามคืน “กลุ่ม 16” เวอร์ชั่นสะดวกซื้อ กลับต้องแยกวงกันไป ภายหลัง ส.ส.พรรคเล็ก และ 2 ส.ส.พรรคก้าวไกล ทยอยออกมาปฏิเสธ ไม่ร่วม “กลุ่ม 16” ทำให้ความฝันต่อรองขอ “กล้วย” ล็อตใหญ่ของใครบางคน ต้องมลายหายสิ้นภายในพริบตา
อย่างไรก็ตาม ตำนานของ “กลุ่ม 16” เวอร์ชั่นของแท้ ที่ได้รับการยอมรับ และโลดเล่นเป็นหน้ากระดานทางการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ อาจเป็นตัวอย่างเส้นทางการเมืองให้กับกลุ่ม 16 รุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ถึงการต่อสู้ จนมีเครดิตการเมืองระดับสูง
“กลุ่ม 16” ยุค 2535 เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ “ส.ส.รุ่นใหม่” วัย 30 กว่า ใช้ชื่อจากวันก่อตั้ง " 16 พฤศจิกายน 2535 " โดยสมาชิกเริ่มต้นประกอบด้วย 3 พรรคหลัก ได้แก่
- พรรคชาติพัฒนา
- สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ซึ่งอาวุโสกว่าใคร เป็นหัวหน้ากลุ่ม
- ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ส.ส.นครราชสีมา (เสียชีวิตแล้ว)
- จำลอง ครุฑขุนทด ส.ส.นครราชสีมา
- ประวัฒน์ อุตตะโมต ส.ส.จันทบุรี
- พรรคชาติไทย
- เนวิน ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์
- สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา
- สนธยา คุณปลื้ม ส.ส.ชลบุรี
- วิทยา คุณปลื้ม ส.ส. ชลบุรี
- ธานี ยี่สาร ส.ส. เพชรบุรี
- สรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.ราชบุรี
- ชูชาติ หาญสวัสดิ์ ส.ส.ปทุมธานี
- วราเทพ รัตนากร ส.ส.กำแพงเพชร
- ยงยศ อรุณเวสสะเศรษฐ ส.ส. ระยอง (เสียชีวิตแล้ว)
- ทรงศักดิ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์
- เกษม รุ่งธนเกียรติ ส.ส.สุรินทร์
- พรรคพลังธรรม
- อุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส. นนทบุรี
และภายหลังมี อิทธิ ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคชาติพัฒนา แม้ต่อมาจะมีสมาชิกอีกหลายคนเข้ามาร่วม แต่ก็ยังใช้ชื่อ “กลุ่ม 16” เหมือนเดิม
ผลงานชิ้นโบว์แดงที่สร้างชื่อให้ “กลุ่ม 16” เป็นที่รู้จัก คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “รัฐบาลชวน หลักภัย” เมื่อปี 2535 กรณีที่ดินสปก.4-01 จนทำให้ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รมว.เกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ต้องลาออกจากตำแหน่ง
จุดเริ่มต้นเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ “ชวน” ดำเนินนโยบาย "ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" เพื่อมอบให้เกษตรกร และได้มอบหมายให้ “สุเทพ” เป็นผู้ดูแลนโยบาย ซึ่งการมอบที่ดินที่ จ.ภูเก็ตเกิดปัญหาขึ้น มีหลายชื่อที่สังคมมองว่าไม่เหมาะสม หนึ่งในนั้นคือ “ทศพร เทพบุตร” สามีของ "อัญชลี วานิชเทพบุตร" เลขานุการของ สุเทพ
ส่งผลทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้าง ที่ฝ่ายรัฐบาลทำผิดเจตนารมณ์ของนโยบาย ถูกครหาว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ สปก. 4-01 การสรุปผลการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ สปก. 4-01 จ.ภูเก็ต
โดยผลสอบพบว่ามีปัญหา 2 ประการ 1.พื้นที่บางจุดเป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ 2.พบปัญหาในการพิจารณาการปฏิบัติ ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535
ทำให้ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ที่มีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ส.ส.กลุ่ม 16 โดย “เนวิน ชิดชอบ” ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประกอบด้วย “นิพนธ์ พร้อมพันธุ์” รม.เกษตรและสหกรณ์ และ “สุเทพ” รมช.
การอภิปรายไม่ไว้วาใจเป็นไปอย่างดุเดือด มีหลักฐานการมอบสิทธิ์ที่ดิน สปก.4-01 ไม่ถูกต้อง จนเป็นเหตุให้ “สุเทพ” ลาออกจากตำแหน่งรมช.เกษตรและสหกรณ์ ในเดือนธันวาคม 2537 และ “นิพนธ์” ลาออกจากตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ ในช่วงเวลาเดียวกันเช่นกัน พร้อมยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
โดยเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลถึงความมั่นคงของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ในขณะนั้น ต้องสั่นคลอนอย่างหนัก จนสุดท้าย “ชวน หลีกภัย” ต้องตัดสินใจยุบสภา ก่อนที่จะมีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปปี 2538
อย่างไรก็ตาม “กลุ่ม 16” ก็มีจุดด่างพร้อยเช่นกัน เมื่อภายหลังมีส่วนพัวพันกับการกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี เพื่อนำไปซื้อหุ้นในบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์
โดยกรณีดังกล่าว “ธนาคารกรุงเทพฯ” ปล่อยสินเชื่อให้ “สมาชิกกลุ่ม 16" เพื่อเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีกำไรจากการซื้อมา-ขายไป จนเกิดหนี้เสียมหาศาลกับธนาคาร กลายเป็น 1 ใน สาเหตุสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือที่รู้จักในนาม "วิกฤติต้มยำกุ้ง"
มีการใช้เทคนิคทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นจากราคาหุ้นละ 3-4 บาท เพิ่มเป็นหุ้นละ 16 บาทเมื่อเทขายทำให้เกิดส่วนต่างเป็น "กำไร" ถึงกว่า 300 ล้านบาท ทั้งที่เพิ่งซื้อมาไม่ถึงปี โดยมี “ราเกซ สักเสนา” นักการเงินเชื้อสายอินเดีย ในฐานะที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร คอยบอกใบ้ชื่อบริษัทที่ควรจะเข้าไปเทกโอเวอร์
ในปี 2539 “สมาชิกกลุ่ม 16” โดยเฉพาะ “สุชาติ ตันเจริญ” ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีบริษัทในครอบครัวนำที่ดินใน จ. หนองคาย ไปค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารกรุงเทพฯ แต่ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวถูกพบว่าออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก มาโดยมิชอบ ทำให้เกิดหนี้เสียมหาศาลแก่ธนาคาร
ทั้งหมดคือ “วีรกรรม” ของ “กลุ่ม 16” ในตำนาน ซึ่งเป็นนักการเมืองเจเนอเรชั่นที่ยังมีอิทธิพลในหน้ากระดานการเมืองไทย แตกต่างจาก “กลุ่ม 16” ของ “มงคลกิตติ์” ที่ไม่ทันข้ามวันก็ล่มสลายแล้ว