"ปิยบุตร" ชำแหละ 5 เหตุสภาฯพิจารณากฎหมายช้า ดอง 3 ร่างของ "ก้าวไกล"
"ปิยบุตร" ชำแหละ 5 สาเหตุ สภาฯพิจารณาร่างกฎหมายล่าช้า ดอง 3 ร่างของ "พรรคก้าวไกล" กม.สมรสเท่าเทียม-สุราก้าวหน้า-แก้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้เสนอมาเป็นปีแล้วทำไมถึงไม่ศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จัดรายการ "เอาปากกามาวง" ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจปิยบุตร แสงกนกกุล โดยระบุตอนหนึ่งเกี่ยวกับร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ของพรรคก้าวไกล คือ ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า, ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ถูกคณะรัฐมนตรีขอนำไปศึกษาก่อน 60 วัน ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 118 ก่อนที่จะนำกลับมาให้สภาลงมติรับหลักการ ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายปิยบุตร กล่าวว่า กลไกต่าง ๆ ทุกวันนี้ ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติง่อยเปลี้ยเสียขาไปเรื่อย ๆ อำนาจในการตรากฎหมายที่ว่าเป็นของสภา สุดท้ายถูกฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีมาขี่คออยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติเสียแล้ว ทั้งนี้ ประเทศไทยปกครองในระบบรัฐสภา ซึ่งแตกต่างจากระบบประธานาธิบดีชัดเจนที่หลักการแบ่งแยกอำนาจ ระบบประธานาธิบดีนั้นแยกขาดชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ยุ่ง ไม่คาบเกี่ยวกัน ขณะที่ระบบรัฐสภายังยุ่งย่ามเกี่ยวกันอยู่ เช่น การที่ ครม.มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา, นายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาได้ หรือแม้แต่การที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของสภา หรือการที่สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร เป็นต้น นี่คือการแบ่งแยกอำนาจที่ไม่เคร่งครัด ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองกันอยู่ แต่สุดท้ายทำไปทำมา กลับกลายเป็นว่าฝ่ายบริหารขึ้นมาอยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ร่างกฎหมายกี่ฉบับที่ผ่านจะเห็นว่าเป็นร่างที่ ครม.เสนอ ส่วนที่ร่างฎหมายที่ ส.ส.เสนอนั้น เข้าสู่วาระการประชุมสภาได้ยากเย็นมาก เข้ามาแล้วยังโดนกลไกดองดังกล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนมีข้อสังเกต 5 ข้อ ว่าทำไมร่างกฎหมายที่ ส.ส.เสนอถึงคลอดออกมาได้ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน ได้แก่
1.รัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 77 ที่เขียนทำทีดูดีว่าเวลาจะผ่านกฎหมายอะไรต้องไปผ่านการรับฟังความเห็นประชาชนก่อน ซึ่งมาตรานี้อยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ไม่ได้เป็นบทบังคับ แต่เป็นบทให้คำแนะนำ ซึ่งมาตรานี้พอใช้มาเรื่อยๆ ปรากฏว่า กฎหมายที่รัฐบาลเสนอส่วนใหญ่ยกร่างโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้น ก่อน ครม.เสนอก็มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยกฤษฏีกาเรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ตอนที่ตนยังเป็น ส.ส.ได้เสนอร่างกฎหมายไปตั้งแต่วันแรกของการประชุม แต่ที่สุดก็ต้องรอสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดทำระบบช่องทางรับการฟังความคิดเห็นก่อน ไม่อย่างนั้นร่างกฎหมายเข้าสภาไม่ได้ ซึ่งตนได้แย้งไปเพราะเห็นว่าจะทำให้เสียเวลา เพราะมาตรา 77 นั้นไม่ได้บังคับแต่แค่แนะแนวไว้ และอีกอย่างจะบอกว่าร่างนี้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมไม่ได้ เพราะ ส.ส.เป็นผู้แทนประชาชน ดังนั้น จะเสนอร่างกฎหมายอะไรเข้าสภาก็มาจากสิ่งที่หาเสียงนั่นเอง ต้องการทำให้ประชาชนเห็นว่าทำตามนั้นจริง ซึ่งการมีมาตรานี้ จึงทำให้เสียเวลาไปอีกเกือบปีกว่าที่สภาจะทำเว็บไซต์ช่องทางรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อย ดังนั้น เวลาประชาชนเห็นพรรคการเมืองยื่นร่างกฎหมายถึงประธานสภาแล้วทำไมไม่มาเสียที คำตอบคือ ยังมาไม่ได้เพราะต้องไปผ่านพิธีกรรมตาม มาตรา 77 เสียก่อน แล้วค่อยบรรจุสู่วาระการประชุม
2.รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้แบ่งปฏิทินการประชุมเป็นสมัยทั่วไปและสมัยนิติบัญญัติเหมือนแต่ก่อน ทำให้ญัตติอื่นๆ ที่เข้ามาทับไปเรื่อยๆ แซงคิวเข้ามา ขณะที่ญัตติเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายตกไปอยู่ลำดับท้ายๆ ไม่ได้พิจารณาเสียที แต่อย่างไรก็ตาม ในปีที่สองเข้าสู่ปีที่สามของสภาชุดนี้ ประธานสภาได้จัดให้ว่าต่อไปใน 1 วันต่อสัปดาห์ ให้เป็นวันที่เป็นการพิจารณาญัตติเกี่ยวกับกฎหมายอย่างเดียว ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ ส.ส.เสนอได้รับการพิจารณามากขึ้น
3.ร่างกฎหมายที่ ครม.เสนอ จะได้รับความสำคัญก่อนร่างที่ ส.ส.เสนอ เพราะถูกแทงเรื่องมาเป็นญัตติด่วน ทำให้แซงคิวได้อยู่เรื่อยๆ ร่างกฎหมายอะไรที่มีมาก่อนถูกแซงคิวหมด ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.ที่ ส.ส.เสนอ แทบจะไม่มีโอกาสได้เป็นญัตติด่วน
4.คำว่า 'กฎหมายการเงิน' ซึ่งเป็นนิยามที่กว้างมาก คือ ร่างกฎหมายอะไรก็ตามที่มีเนื้อหาว่าต้องนำเงินแผ่นดินไปใช้จะเข่าข่ายตรงนี้ ซึ่งว่าไปก็แทบจะกฎหมายทุกฉบับ ซึ่งเมื่อตีความว่าเป็นกฎหมายการเงิน ก็ต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนอนุมัติก่อนถึงจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้
5.คำว่า 'การปฏิรูปประเทศ' ในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งระบุว่า การพิจารณากฎหมายที่ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป ต้องประชุมพิจารณาร่วมกัน 2 สภา คือ ส.ส และ ส.ว. ซึ่งใน 16 หัวข้อว่าด้วยกฎหมายที่เข้าข่ายกฎหมายปฏิรูปนั้น สามารถตีความได้กว้างมาก และการพิจารณาร่วมกันของ 2 สภานี้ ก็จะทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์ในการผ่านหรือไม่ผ่านกฎหมาย เพราะ ส.ว. นั้นก็มาจากคัดเลือกโดย คสช. ที่กลายร่างมาเป็นรัฐบาลชุดนี้
"เราบอกกันว่า ระบบรัฐสภา หลักการแบ่งแยกอำนาจคือฝ่ายนิติบัญญัติเป็นฝ่ายออกกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายบริหารคือฝ่ายบังคับใช้กฎหมายด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ทว่า ในทางปฏิบัติแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเลย กฎหมายจำนวนมากจะผ่านสภาได้ก็ต้องใช้เสียงข้างมากของสภาซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นฝ่ายรัฐบาล, กฎหมายจำนวนมากที่มีโอกาสผ่านการพิจารณาของสภาก็มักจะเป็นร่างที่ ครม.เสนอ และแม้สุดท้ายแล้ว กฎหมายที่ ส.ส.เสนอจะหลุดเข้ามาสู่การพิจารณาของสภาได้ ก็ยังมีกลไกข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 118 ที่ให้อำนาจ ครม.เอาไปดองก่อน 60 วัน แล้วค่อยกลับมาใหม่ ซึ่งเรื่องนี้เขาพยายามบอกว่าที่ต้องมีกลไกนี้เพราะกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส. นั้น รัฐบาลไม่เคยรู้ ไม่เคยอ่านมาก่อนเพราะไม่ได้ยกร่างมา ดังนั้น ขอเวลาศึกษา สำหรับผมคำถามคือว่า ร่างกฎหมายที่ ส.ส.เสนอกันเหล่านี้ เสนอมาเป็นปีแล้ว กว่าจะได้เข้าสู่การพิจารณาสภา แล้ว ครม.ไม่รู้เหรอว่ามีร่างเหล่านี้อยู่ในวาระการประชุมแล้ว ทำไมไม่ไปศึกษาก่อน นี่คือกลไกเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำให้ฝ่ายบริหารมีโอกาสเตะสกัดขัดขวางกฎหมายที่ ส.ส.ทำมา อย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการที่ ส.ส.จะมีหน้าที่แค่คนกดโหวตลงคะแนนอย่างเดียวตามมติของวิป ผมเห็นว่าผู้แทนราษฎรควรมีโอกาสเสนอร่างกฎหมายได้มากกว่านี้ ควรอภิปรายได้มากกว่านี้ เพราะถ้าปล่อยอย่างนี้ต่อไป นานวันเข้า ส.ส.ก็จะเป็นเพียงคนยกมือ เป็นเพียงสภาตรายางลงมติเท่านั้น" นายปิยบุตร กล่าว