ปชป.ดันแก้กฎหมายราชทัณฑ์ รื้อเกณฑ์ลดโทษ-อำนาจศาลสูงสุดตัดสิน
ปชป.ดันแก้กฎหมายราชทัณฑ์ ชงสภาถกวาระแรก รื้อเกณฑ์ลดโทษ-พักโทษยาก ให้อำนาจศาลที่คดีถึงที่สุดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีการยื่นแก้ไขกฎหมายราชทัณฑ์ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า
ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช และคณะได้มีการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ต่อสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะนี้อยู่ในกระบวนการของสภาคาดว่าจะได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมต่อไป
นายราเมศ กล่าวต่อว่าพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ต้องยอมรับว่ามีหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางอาญาไม่เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล ประกอบกับก่อให้เกิดปัญหาและสังคมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการภายในของกรมราชทัณฑ์
อาทิ รูปแบบและโครงสร้างของคณะกรรมการราชทัณฑ์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดให้มีกระบวนการที่รัดกุมและมีความโปร่งใส
โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการที่มีความอิสระโปร่งใสและมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเป็นผู้พิจารณาขั้นต้นเกี่ยวกับการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง
นายราเมศกล่าวต่อว่า ร่างฉบับนี้จะให้ศาลที่คดีถึงที่สุดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งในการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขังในแต่ละคราวไป และกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขขึ้นใหม่ในการพิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง
โดยเฉพาะคดีทุจริต คดีอาญา คดียาเสพติดที่ร้ายแรง และคดีอื่น ๆ ที่เป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง เพื่อกำหนดมาตรการและเพิ่มระยะเวลาปลอดภัยให้แก่สังคม ทั้งเป็นไปตามหลักการในทางสากล
มีความชัดเจนในตัวร่างของพรรคได้กำหนดให้อำนาจตุลาการคือศาล ซึ่งเป็นผู้พิจารณากำหนดโทษได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการลดโทษเพื่อให้เกิดความละเอียดรอบคอบมากขึ้น
นายราเมศกล่าวตอนท้ายว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นนโยบายหลักของพรรคคือการให้ความสำคัญต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ผ่านมามีการลดโทษให้คดีทุจริตเป็นจำนวนมาก ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง กระทบความรู้สึกต่อสังคม ตัวอย่างเช่นคดีทุจริตจำนำข้าว ที่มีการลดโทษเหลือเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น กระบวนการลดโทษมีความจำเป็นต้องทบทวนผ่านการแก้ไขกฎหมายเพื่อวางระบบให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น