"ชลน่าน" ปัด "เพื่อไทย" สอดไส้ แก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง เปิดทางคนนอกแทรกแซง
"ชลน่าน" ปัดสอดไส้ เปิดทางคนนอกพรรค ครอบงำ-ชี้นำ-แทรกแซงกิจการของพรรค ชี้แก้ เสนอแก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง หวังคลี่คลายปัญหา ตีความแบบกว้าง พรรคการเมืองถูกกลั่นแกล้ง
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านถูกตั้งข้อสังเกตต่อการเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ...ที่แก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับข้อห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคแทรกแซง ครอบงำกิจการภายในพรรค ว่า เป็นสิ่งที่ต้องอธิบายให้กับที่ประชุมรัฐสภาได้รับทราบ เพราะเนื้อหาที่ว่าด้วยการห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่เป็นสมาชิกเข้าครอบงำ แทรกแซงนั้น มีเนื้อหาที่กว้างกว่ารัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้พรรคการเมืองทำงานอิสระ ปราศจากการครอบงำ หรือชี้นำที่ไม่เกี่ยวกับพรรค เพื่อต้องการให้ความเป็นอิสระทำกิจกรรมทางการเมือง แต่กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ในมาตรา 28 และมาตรา 29 เป็นประเด็นที่ทำให้นำไปตีความที่กว้างขวางจึงเกิดปัญหา และหลายยพรรคถูกยุบด้วยประเด็นดังกล่าว
"เมื่อมีคนให้ข้อเสนอแนะมา พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหยิบเอาไป โดยความยินยอมของกรรมการบริหารพรรคที่จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแล้ว เอาไปเป็นกิจกรรมทางการเมือง ก็จะถูกเอาไปเป็นประเด็นถูกครอบงำพรรคได้ ทั้งที่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมือง และการดำเนินโดยไม่ถูกคุกคามเรื่องความเป็นอิสระ หรือการยินยอมให้กระทำ ซึ่งหลายพรรคเห็นว่าเป็นการตีความกำกวม และร่างที่เสนอมาหลายฉบับเสนอมาให้ยกเลิกมาตรา 28 และมาตรา29 " นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า พรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหาว่าแก้กฎหมายเพื่อสอดไส้กระทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง ตนยืนยันว่าเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทย นั้นไม่แก้ไขข้อห้ามบุคคลภายนอกไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้าไปชี้นำหรือครอบงำกิจกรรมของพรรคการเมือง แต่ได้เขียนเพิ่มเพื่อขยายความในวรรคสองว่า กิจกรรมในวรรคหนึ่ง ไม่หมายรวมถึงการชี้แนะ ให้คำปรึกษาจากบุคคลภายนอกที่เป็นใครก็ได้ที่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองนั้น
"เราบอกว่าไม่ควรจะครอบคลุมเท่านั้นเอง โดยเขียนให้ชัดขึ้นเพื่อป้องกันการตีความ เช่น ถ้ามีนักวิชาการคนหนึ่งที่เราเชิญมา แล้วเขาชี้นำเราว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเชิญมาเยอะมาก และเรานำไปพิจารณาประกอบจัดทำเป็นนโยบาย บุคคลเหล่านี้หากถูกนำไปตีความว่าเป็นบุคคลภายนอกและถูกชี้นำโดยเราขาดอิสรภาพก็ถูกยุบพรรคทันที ซึ่งไม่เป็นธรรมกับการพัฒนาด้านวิชาการ การเมืองและพรรคการเมืองจะถูกกลั่นแกล้งได้ ดังนั้น ต้องการแก้ปัญหาไม่อยากให้พรรคการเมืองถูกกลั่นแกล้ง" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวด้วยว่าสำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ที่จะใช้เลือกตั้งในที่ประชุมรัฐสภา 24 - 25 กุมภาพันธ์นั้น ตนมองว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ... ไม่มีปัญหา ขณะที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ... มีความจำเป็นต้องแก้ไข หลายประเด็นทำให้แต่ละฉบับมีหลักการที่หลากหลายมาก บางร่างมีหลักการถึง 31 จุด , บางฉบับมี 17-18 จุด โดยร่างของพรรคฝ่ายค้านจะถูกรับหลักการหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องใช้การอธิบาย.