บทเรียนจาก "รัสเซีย!" อย่าปล่อยให้ผู้นำอยู่นาน
ย้อนดูบทเรียนราคาแพงจาก "รัสเซีย" เมื่อผู้นำอย่าง "ปูติน" อยู่นานจนคิดว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ แก้ไขกติกาที่เป็นประโยชน์กับตนเอง จนส่งผลกระทบกับคนอื่นเหลือคณานัป
เพิ่งหายใจหายคอจากโควิด-19 ได้ไม่เท่าไหร่สำหรับยุโรปและสหรัฐ หลายประเทศยกเลิกข้อจำกัดที่เคยออกมาคุมการระบาด ตอนนี้กลับไปใช้ชีวิตปกติหรือเกือบปกติกันได้แล้ว แต่จู่ๆ วานนี้ (24 ก.พ.) ก็มีข่าวช็อกโลก ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สั่งเปิดปฏิบัติการทางทหารในสองสาธารณรัฐที่รัสเซีย เพิ่งรับรองการแยกตัวจากยูเครนไปหมาดๆ เท่ากับว่าคำเตือนจากสหรัฐที่พร่ำบอกว่ารัสเซียอาจบุกยูเครนไม่วันใดก็วันหนึ่งเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่การบิวท์อารมณ์หาเรื่องรัสเซีย
จริงๆ แล้วรัสเซียทำสงครามลูกผสม (Hybrid warfare) กับยูเครนมาแปดปีแล้ว ความสัมพันธ์-ความขัดแย้ง ชนวนเหตุก็ถูกรายงานกันไปหมดแล้ว แต่การกระทำล่าสุดของรัสเซียที่เรียกเสียงประณามจากผู้นำโลกชวนให้คิดถึงความแตกต่างระหว่างคู่กรณีทั้งรัสเซีย-ยูเครน นั่นคือ ความแตกต่างของ “ผู้นำ”
เริ่มจากประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำยูเครนเมื่อเดือน เม.ย.2562 ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองเพียงแค่เคยรับบทประธานาธิบดีในซีรีส์เท่านั้น แต่ก็ได้คะแนน 73.2% เหนือประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ที่ได้เพียง 24.4% ต้องพ่ายแพ้แก่นักแสดงตลกวัย 41 ปี ถือเป็นผลการเลือกตั้งแบบไม่ธรรมดา เนื่องจากชาวยูเครนกำลังเบื่อหน่ายปัญหาทุจริต ความอยุติธรรมทางสังคม และสงครามกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนิยมรัสเซียทางภาคตะวันออกที่ประชาชนสังเวยชีวิตไปแล้วราว 13,000 คน (ณ เวลานั้น)
เทียบกับประธานาธิบดีปูติน อดีตเคจีบีหน้านิ่งที่ปกครองรัสเซียปีนี้เป็นปีที่ 22 ที่ผ่านมาเขาเคยเป็นประธานาธิบดีครบสองสมัยเป็นต่อไม่ได้ก็ให้ดิมิทรี เมดเวเดฟ ลูกน้องที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรี พอครบวาระของเมดเวเดฟ ปูตินก็ลงสมัครประธานาธิบดีอีก เมื่อเดือน เม.ย.2564
ประธานาธิบดีปูตินลงนามในกฎหมายเปิดทางให้เขาเป็นประธานาธิบดีอีก 2 สมัย สมัยละ 6 ปี จากวาระปัจจุบันที่จะสิ้นสุดลงในปี 2567 เท่ากับว่าปูติน วัย 69 ปี อาจเป็นประธานาธิบดีไปจนถึงอายุ 83 ปี ขณะนี้เขาดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 สมัยติดต่อกันรวมแล้วเป็นประธานาธิบดี 4 สมัย
ข่าวที่ได้ยินมาตลอดในการบริหารประเทศระยะหลังๆ คือการกำจัดคนเห็นต่าง เช่น อเล็กซี นาวัลนี ผู้วิจารณ์ปูตินอย่างไม่ลดละถูกลอบวางยาพิษขณะโดยสารเครื่องบินในประเทศ ไปรักษาตัวในเยอรมนีห้าเดือนครั้นกลับมาถึงรัสเซียก็ถูกจับขังคุกทันที
ด้วยอำนาจที่มากล้นในมือประธานาธิบดีรัสเซียจึงสามารถผนวกไครเมียที่เคยเป็นของยูเครนมาเป็นของตนได้ในปี 2557 ประกาศรับรองสาธารณรัฐประชาชนโดเนตส์กและสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์เมื่อไม่กี่วันก่อน ตามด้วยการสั่งทหารไปบุกรุกเพื่อนบ้านวันแรกมีประชาชนล้มตายหลายสิบคน ยิ่งยืดเยื้อยิ่งมีคนเสียชีวิตมากกว่านี้
บทเรียนเบื้องต้นที่เห็นจากวิกฤติยูเครนคือ อย่าปล่อยให้ผู้นำอยู่นานจนคิดว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ นึกอยากทำอะไรก็ทำ แก้ไขกติกาที่เป็นประโยชน์กับตนเอง สุดท้ายแล้วอำนาจล้นฟ้าจะสร้างความเสียหายให้กับคนอื่นอย่างเหลือคณานัป