"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จ่อชง "นายกฯ" อุ้ม ร.ร.เอกชน หลังเจอพิษ "โควิด"
"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" เร่ง หามาตรการ ช่วย ร.ร.เอกชน โดนพิษโควิด หวั่น ปิดตัว กระทบครู-บุคลากรกว่าแสนชีวิต วอน รัฐ พยุง ปรับลดค่าใช้จ่าย ขอเงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษารายบุคคล อุดหนุนค่าอาหารกลางวันเด็ก 100 % แนะ เปิดทางเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ จ่อชง นายกฯ พิจารณา
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อสภาพคล่องของโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศจำนวน 3,563 แห่ง ทำให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพจำเป็นต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้เนื่องจากนักเรียนสมัครเรียนน้อยลง ผู้ปกครอง ค้างชำระค่าธรรมเนียมจำนวนมาก สร้างผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนอย่างมหาศาลช่วงเดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน
โรงเรียนเอกชนไม่สามารถเปิดเรียนแบบ ONSITE ได้ การเปิดการเรียนการสอนแบบ ONLINE ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากเรียกร้องขอเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาคืน อีกทั้งผู้ปกครองบางส่วนค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชนกว่า 2,500 แห่ง ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่องไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนครูถึงแม้ว่าจะพยายามยื่นกู้จากสถาบันการเงินแต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันสถาบันการเงินจึงไม่อนุมัติเงินกู้ให้กับโรงเรียนเอกชนบางแห่ง ส่วนบางแห่งได้รับเงินกู้แต่ถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินไป ปัญหาดังกล่าวได้มีการเลิกจ้างครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว จำนวน 12,253 คน หากปัญหานี้ปล่อยวางจะกระทบถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยและผู้ปกครองจำนวนมากที่พึ่งโรงเรียนเอกชนเป็นสถานศึกษาทางเลือก โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาบางส่วนที่กล่าวไปยังมีเรื่องอื่นๆ ตามมาจำนวนมากในการนี้จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของโรงเรียนเอกชนให้สามารถบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้
โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เสนอแนะการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ดำเนินการประสานกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ
- การขอลดค่าน้ำ-ค่าไฟร้อยละ 50 ให้กับโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นชั่วคราว
- การขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินในการกำหนเดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการกู้จากสถาบันการเงินให้โรงเรียนเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดอกเบี้ยต่ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ
- ขอให้รัฐเร่งรัดจัดสรรงบประมาณชดเชยรายได้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน 5,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ในระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)
2. การแก้ไขปัญหาระยะยาว มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
2.1 เงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษารายบุคคลของนักเรียนโรงเรียนเอกชน
- ให้ภาครัฐอุดหนุน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปี เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติแล้วจึงปรับลดเงินช่วยเหลือเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ตามเดิม
- ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประสานกรมสรรพากร จัดประชุมเพื่อศึกษาหารือรายละเอียด เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ กรณี การลดหย่อนภาษีจำนวนสองเท่าสำหรับผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยรับสิทธิได้รับทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ตลอดจนแจ้งผู้บริจาคให้ทราบถึงสิทธิ
การลดหย่อนภาษีสองเท่าของจำนวนการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาความสำคัญและขยายโครงการต่อไปในปี พ.ศ. 2565
2.2 การส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชน
- ให้รัฐพิจารณาหาแนวทางเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนที่ใช้สิทธิสวัสดิการกองทุนสงเคราะห์สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่เกินสิทธิได้ โดยสามารถใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มเติมเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงควรมีการศึกษาและปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนสามารถพิจารณาทางเลือกว่าจะใช้สิทธิบัตรทอง หรือประกันสังคม
- ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเร่งรัดการศึกษาวิจัยร่วมกับสภาการศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับการเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนในอัตราที่เหมาะสม เพื่อที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะได้นำเสนอหลักการต่อรัฐบาลให้พิจารณาเมื่อสถานการณ์ปกติและฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลดีขึ้นแล้ว
2.3 งบประมาณค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนขั้นพื้นฐาน
- ให้รัฐเพิ่มเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนขั้นพื้นฐานให้แก่โรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหา 100 เปอร์เซ็นต์ โดยพิจารณากำหนดรายละเอียดโรงเรียนเอกชนที่ควรได้รับการช่วยเหลือให้ชัดเจน (ไม่จำเป็นต้องเพิ่มให้ทุกโรงเรียน)
- ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หารือไปยังกรมบัญชีกลาง หรือสำนักงบประมาณ กรณี การขอให้สามารถนำเงินเหลือจ่ายสำหรับค่าอาหารกลางวันไปใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนเพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีแนวทางดำเนินการโดยถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
2.4 การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้าย
- ให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณาเรื่องการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่โรงเรียนเอกชนนอกระบบที่ประกอบกิจการในเชิงธุรกิจ 4 ประเภท ได้แก่ศิลปะและกีฬา วิชาชีพ กวดวิชา และสร้างเสริมทักษะชีวิตที่ไม่ได้รับการลดภาษี แต่หากการดำเนินกิจการของโรงเรียนเอกชนดังกล่าวมีเป้าประสงค์ที่สอดคล้องและตรงกับหลักเกณฑ์ของโรงเรียนเอกชนที่จะได้รับการลดภาษี ก็ขอให้อนุโลมแก่โรงเรียนนั้น ๆ ตามควรแก่กรณี โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนประสานงานกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอย่างต่อเนื่อง
- ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตรวจสอบและซักซ้อมแนวทางปฏิบัติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเรื่องการจัดเก็บภาษีป้ายให้เกิดความชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกันในการพิจารณาการจัดเก็บภาษีป้ายโรงเรียนเอกชน
2.5 มาตรการช่วยเหลือสำหรับโรงเรียนเอกชนปิดกิจการ และการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ
- ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พิจารณาเสนอปรับแก้ไขกฎระเบียบกองทุนสงเคราะห์เพื่อให้สามารถนำเงินมาเยียวยาให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกในกรณีที่ถูกเลิกจ้างหรือยุติการเป็นครูโรงเรียนเอกชนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ได้ ส่วนการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบนั้นเห็นควรมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนพิจารณาเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุนเกี่ยวกับการส่งเสริมโรงเรียนเอกชน นอกระบบสามารถกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการและพัฒนาโรงเรียนได้
นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อเสนอแนะเพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชนในขณะนี้ต้องเร่งแก้ไข และร่วมกันพลิกสถานการณ์นี้ให้รอดพ้นวิกฤติ เพื่อชะลอปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาทั้งผู้ปกครอง และนักเรียนต้องหาที่เรียนใหม่ หรือบางคนอาจหมดโอกาสศึกษาต่อ