ครม.เคาะค่าตอบแทนเสี่ยงภัยผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าโควิด 2.7 แสนคน 811 ล้าน
“บิ๊กป๊อก” เผย ครม.อนุมัติค่าตอบแทนเสี่ยงภัย ผู้ปฏิบัติงาน “ด่านหน้า” สกัดกั้นโควิด-19 ให้ “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-แพทย์ประจำตำบล-สารวัตรกำนัน-ผช.ผู้ใหญ่บ้าน-สมาชิก อส.” กว่า 2.7 แสนคน ระยะเวลา 6 เดือน วงเงิน 811.7 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์โควิด - 19 ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (สมาชิก อส.) จำนวน 270,590 คน ในอัตราเดือนละ 500 บาท/คน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 811,770,000 บาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรฝ่ายปกครองในระดับพื้นที่ในการปฏิบัติหน้าที่สกัดกั้นและสนับสนุนการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระดับพื้นที่ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน เสียสละอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน เสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยและชีวิต
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทั้งนี้ ในห้วงการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และและสมาชิก อส. ได้ร่วมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ในด้านต่าง ๆ ได้แก่
1) การสกัดกั้นการลักลอบเข้าประเทศ การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย ตั้งจุดตรวจ รวม 1.9 แสนครั้ง มีผู้ผ่านการตรวจ จำนวน 3.8 ล้านคน และทำการลาดตระเวนพื้นที่ชายแดน รวม 1.9 แสนครั้ง จับกุมผู้ลักลอบหลบหนี เข้าเมือง ผู้นำพา ผู้ให้ที่พักพิง รวม 6,910 คน
2) การคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน กว่า 4.3 แสนคน
3) การสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยการจัดเตรียมสถานที่ และวัสดุอุปกรณ์ในสถานที่ราชการ และเอกชนที่มีความพร้อม อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กว่า 4.1 ล้านคน
4) สนับสนุนจังหวัด อำเภอในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม / สถานที่กักกันตัวแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัด (State Quarantine) / สถานที่กักกันตัวทางเลือก (Alternative Quarantine) / ที่พักคอย / สถานที่แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) รวม 10,133 แห่ง 292,898 เตียง
5) กวดขันการลักลอบเล่นการพนัน การเปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ร่วมกับ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ จำแนกเป็น จับกุมการลักลอบเล่นการพนัน จำนวน 263 คดี รวม 1,430 คน และออกตรวจสถานบริการ สถานประกอบการฯ กว่า 40,395 ครั้ง สั่งปิด รวม 15 แห่ง
“กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน และในขณะเดียวกัน ได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในระดับพื้นที่ที่ทำหน้าที่ด้วยความแข็งขันอย่างต่อเนื่อง” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว