"แลนด์ไถล" พรรคเล็ก ดิ้นให้สุดหยุดที่ "ยุบรวม"
ทางออก “พรรคเล็ก” ที่ยามกำลังเผชิญสภาวะ “แลนด์ไถล” จากกติกาเลือกตั้ง "บัตร 2 ใบ" ที่สุดอาจอยู่ที่ “การยุบรวมพรรค” เว้นเสียแต่จะมีการเล่นแร่แปรธาตุ ดัน “สูตรพิสดาร” เพื่อกลับไปใช้ “บัตรใบเดียว” !!
ความพยายามในการกลับไปใช้ “บัตรใบเดียว” ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ของบรรดาพรรคการเมืองบางพรรคโดยเฉพาะ “พรรคเล็ก” หรือ “พรรคปัดเศษ” ยามนี้ยังดูเหมือนว่าจะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงที่ริบหรี่
“สูตรคณิตศาสตร์” การเมืองภายใต้กติกา “บัตร 2 ใบ” ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับแก้ไขซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่เวลานี้ กำหนดสัดส่วน ส.ส. เขต 400 คนและบัญชีรายชื่อ 100 คน
ขณะที่การ “นับคะแนน” เปลี่ยนจากแบบนับทุกแต้มคะแนนตกน้ำ ตามระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ผ่านการเลือกตั้งบัตรใบเดียว “เลือกคน-เลือกพรรค”
มาเป็นการหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามระบบ “บัตร 2 ใบ” ใบหนึ่งเลือกคน-อีกใบเลือกพรรค โดยนำเอาบัตรเลือกตั้งใบที่เลือกพรรคการเมือง มาคิดหาสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
คิดคร่าว ๆ โดยยึดตามผลคะแนนเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 พบว่า เวลานั้น คะแนนเสียงเลือกทุกพรรคการเมืองรวมกันมีจำนวนทั้งสิ้น 35,441,920 คะแนน หารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามโมเดลปัจจุบันคือ 100 คน จะได้สัดส่วน “354,419 คะแนน” ต่อ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน”
ฉะนั้น หากใช้โมเดลนี้จะมีพรรคที่ได้เกินคะแนนพึงประเมินราวๆ 11 พรรค ขณะที่พรรคเล็ก 1 เสียงจะต้องสูญพันธุ์ไปโดยปริยาย
เช่นนี้ “นักพยากรณ์การเมือง” จึงทำนายว่าศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจะเป็นการช่วงชิงกันระหว่างพรรคขนาดใหญ่ โดยมีพรรคขนาดกลางที่ได้รับอานิสงส์ร่วมกัน
ตอกย้ำภาพชัดการการเดินยุทธศาสตร์ “แลนด์สไลด์” ชนะแบบถล่มทลายของบางพรรคการเมือง
ขณะที่ “พรรคเล็ก” รอบนี้เผชิญสภาวะ “แลนด์ไถล” พยายามเดินเกมเกลี่ยสูตรผ่านกฎหมายลูกที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกมธ. ณ เวลานี้
โดยเฉพาะความพยายามโน้มน้าวพรรคขนาดกลาง สนับสนุนสูตรหารจำนวนเต็ม ส.ส.500 เพื่อสมประโยชน์ร่วมกัน
ทว่าประเด็นดังกล่าวกลับถูกหักล้างจากอีกฝั่ง โดยเฉพาะ “กมธ.เสียงส่วนใหญ่” ที่ยกมาตรา 91 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขที่บังคับใช้ในขณะนี้ ที่บัญญัติชัดเจนว่า
“การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น”
ตีความตรง ๆ คำว่า “สัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรง” คือ การนำคะแนนของทุกพรรคมารวมกันทั้งหมด แล้วนำไปหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
ความพยายามในการ “ดิ้นเฮือกสุดท้าย” ของบรรดาพรรคปัดเศษยามนี้ยังไม่หยุดอยู่แค่ในกมธ.
หากแต่ยังรวมไปถึงการใช้ช่องทางยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน และกำลังจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสกัดขัดขวางการกลับไปใช้ “บัตร 2 ใบ”แม้จะอยู่อยู่เต็มอกว่าโอกาสสำเร็จมีน้อยมาก
โดยเฉพาะท่าทีของ “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำกลุ่ม 16 ที่ประเมินว่า “มีแนวโน้มจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และ ส.ส.เขต เหลือเพียงวิธีคำนวณ ส.ส. ที่ยังหารือ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งตนเป็น ส.ส.จากพรรคเล็กก็เห็นทิศทางจะใช้วิธีคำนวณ โดยการหารด้วย 100 เหมือนการเลือกตั้งในปี 2554 จึงทำให้พรรคเล็กเกิดยาก”
เช่นนี้ ทางออกที่จะหนีบัตร 2 ใบโดยไม่ต้องสูญพันธุ์คือ “การควบรวมพรรค” ตาม “ไพบูลย์โมเดล” ซึ่ง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เคยมีการยื่นยุบพรรคประชาชนปฏิรูป แล้วย้ายมาสังกัดพลังประชารัฐ ซ้ำยามนี้ยังขึ้นแท่นเป็นรองหัวหน้าพรรคอีกด้วย
ฉะนั้น ด้วยปรากฎการณ์ “แลนด์ไถล” ที่กำลังเกิดขึ้นยามนี้ “พรรคเล็ก” ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า “สู้ยาก”
เว้นเสียแต่ว่า จะมีการเล่นแร่แปรธาตุจาก “ผู้มีอำนาจ” บางคน เพื่อดัน “สูตรพิสดาร” เปิดทางสู่การกลับไปใช้ “บัตรใบเดียว” หลังจากนี้!!