คืบหน้า! แก้ปัญหา "หนี้ครัวเรือน" เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมโครงการ
รองโฆษกรัฐบาล แจงยิบแก้ปัญหา "หนี้ครัวเรือน" ตามนโยบาย "นายกฯ" คืบหน้า สั่งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมโครงการ
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้า การแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชนตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ "หนี้ครัวเรือน" หลังมีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งจากนี้จะเร่งสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะให้มากขึ้นอีก เพื่อประชาชนที่มีปัญหาหนี้สินจะได้ใช้ประโยชน์จากมาตรกการช่วยเหลือของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ คณะกรรมการติดตามการดำเนินนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 และรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อ 22 มี.ค. ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่ง กยศ.ได้ให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาไปแล้ว 6.15 ล้านราย วงเงินรวม 6.75 แสนล้านบาท พร้อมออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินช่วยผู้กู้ยืม เช่น ลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 กรณีปิดบัญชีคราวเดียว 58,286 ราย และลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 กรณีชำระหนี้ทันงวด 325,231 ราย
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมได้บูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สิน กยศ.อย่างเป็นระบบทั้งก่อนศาลมีคำพิพากษาและหลังจากศาลมีคำพิพากษาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. กำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ซึ่งเน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFls) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ได้จัดโครงการพักชำระหนี้ของกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองตามความสมัครใจ ซึ่งมีกองทุนเข้าร่วม 413 กองทุน สมาชิกรวม 32,055 ราย รวมวงเงินกู้ที่พักชำระหนี้จำนวน 901 ล้านบาท
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ ดำเนินโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นการพัฒนาเว็บไซต์ แชทบอท และไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางปรับธุรกิจและมาตรการต่าง ๆ ให้กับลูกหนี้เป็นรายกรณีด้วย
3. การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ กระทรวงยุติธรรมได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือลูกหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ ประมาณ 5,000 คัน ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลสินเชื่อและธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อ
4. การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครู และข้าราชการตำรวจ ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการ เช่น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการตัดเงินเดือนให้เป็นสวัสดิการที่แท้จริง โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่น้อยกว่า 10 แห่ง ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 และขยายผลการแก้ไขหนี้ครูผ่านสหกรณ์ต้นแบบ สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการตำรวจได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้วหลายพันราย
กรณี การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบนั้น ได้มีการดำเนินการ อาทิ จับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 - ธันวาคม 2564 จำนวน 10,375 คน กระทรวงการคลัง ได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไป เช่น สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว 1,029 ราย ใน 75 จังหวัด และอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยแล้ว 1.24 ล้านบัญชี วงเงินรวม 1.69 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรม ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบปีงบประมาณ 2564 จำนวน 187 เรื่อง ทุนทรัพย์ 118.50 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 (ช่วงตุลาคม -ธันวาคม 2564) จำนวน 32 เรื่อง ทุนทรัพย์ 7.06 ล้านบาท และได้แก้ไขปัญหาการฉ้อโกงหลอกลวงประชาชน โดยดำเนินคดีฐานความผิดแชร์ลูกโซ่ เป็นเรื่องสืบสวนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 10 เรื่อง และเป็นคดีพิเศษอยู่ระหว่างดำเนินการ 17 เรื่อง
“นายกรัฐมนตรียังสั่งการทุกหน่วยงาน บูรณาการการติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่มีหลายมิติและแตกต่างกันทั้งกลุ่มเป้าหมาย วิธีการ และระยะเวลา และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน นอกจากนี้ ยังเน้นให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องสร้างการรับรู้ถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถแก้ปัญหาลูกหนี้ได้จริง โดยต่อไปยังมีการแก้กฎหมายที่จะช่วยให้ลูกหนี้ใช้เงินสะสมในกองทุน แบ่งบางส่วนเพื่อแก้ปัญหาหนี้ปัจจุบันได้ ซึ่งประเด็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงมาตรการแก้หนี้ของรัฐบาล เป็นเรื่องที่นายกฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะท่านนายกฯ ไม่อยากให้ประชาชนเสียโอกาสในการบรรเทาภาระหนี้” นางสาวรัชดากล่าว