โพลล์ลับ“ก้าวไกล”กวาด ส.ก.เกินครึ่ง พลังส้มดัน“วิโรจน์”ผู้ว่าฯ กทม.
ผลจากการทำพื้นที่มาหลายปี สำเร็จเป็นรูปธรรม เห็นได้จากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลักสี่ ที่ “เพชร กรุณพล” ยังคงได้คะแนนรวมระดับ 2 หมื่นเสียง แม้ว่ากระแสของพรรคก้าวไกลจะไม่ดีเท่าพรรคอนาคตใหม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ “มดงาน” อย่าง ส.ก.
“พรรคก้าวไกล” เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่เปิดตัวอย่างร้อนแรง เพื่อลงชิงชัยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ลงสมรภูมิรบที่มี “ผู้สมัครอิสระ” ชื่อดัง ปะทะกับตัวแทนพรรคเก่าแก่ และล่าสุดพรรคไทยสร้างไทย ของ “เจ้าแม่ กทม.”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 กระแส “พ่อของฟ้า” ฟีเวอร์อย่างหนัก ส่งผลให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) นำพา ส.ส.เข้าสภาได้ถึง 81 ที่นั่ง โดยในจำนวนนี้ได้จาก กทม. มาถึง 9 ที่นั่ง กวาดคะแนนกว่า 8 แสนเสียง เทียบเท่ากับ “พรรคเพื่อไทย” ที่ได้ ส.ส.เท่ากัน แต่คะแนนเสียงน้อยกว่า
ผ่านมาราว 3 ปี พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไป “ธนาธร” ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ไปเคลื่อนไหวกับ “คณะก้าวหน้า” เล่นการเมืองท้องถิ่นแทน
กำเนิด “พรรคก้าวไกล” มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นำทัพ ปัจจุบันมี ส.ส.ในสภา 51 ที่นั่ง และส่งผู้สมัครลงชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.ด้วย นำโดย “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ที่ยอมลาออก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มาลงเลือกตั้ง “พ่อเมืองกรุงฯ” ในครั้งนี้
“ค่ายสีส้ม” หมายมั่นปั้นมือว่า คะแนนเสียงเดิมใน กทม.ตอนเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 ราว 8 แสนเสียง จะยังอยู่เหมือนเดิม และส่งให้ “วิโรจน์” ซิวชัยชนะผู้ว่าฯ กทม.อย่างแน่นอน
“ส.ก.เป็นอีกจุดแข็งของพรรคก้าวไกล ที่ทำให้เรามั่นใจว่าในสนามเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 2565 พรรคก้าวไกลสามารถกวาดที่นั่ง ส.ก.ได้เกินครึ่งแน่นอน” ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.บางขุนเทียน กทม. ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ลั่นวาจาไว้อย่างหนักแน่น
สาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกล “เชื่อมั่น”อย่างนั้น เพราะที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลทำ “โพลล์” มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งการทำโพลล์นี้มีมาตั้งแต่สมัย “พรรคอนาคตใหม่” เพื่อหยั่งกระแสคน กทม.
ผลโพลล์ล่าสุดของพรรค ก่อนที่จะเปิดตัว “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”ลงชิงผู้ว่าฯ กทม. พบว่าคน กทม.ส่วนใหญ่ยังคงเลือก “ค่ายสีส้ม”อย่างเหนียวแน่น
จึงไม่แปลกที่บรรดาแกนนำพรรคก้าวไกล เชื่อว่า อย่างน้อยในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะกวาดคะแนนเสียง ส.ก. มาได้เกินครึ่ง หรือเกิน 25 ที่นั่ง
ผนวกกับผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลักสี่ กทม. เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านยังนิยม “ค่ายสีส้ม” แทบไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก โดย “เพชร กรุณพล” ผู้สมัคร ส.ส.หลักสี่ พรรคก้าวไกล ได้คะแนนไป 20,361 คะแนน น้อยกว่าเดิมราว 5,000 คะแนน หากเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ยุคพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ 25,735 คะแนน
ทำให้บรรดา “แกนนำ” ในพรรคก้าวไกล เชื่อว่า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หนนี้ มีโอกาสซิวชัยชนะเหนือ “คู่แข่ง” คนอื่น ๆ ได้
แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ค่อนข้างช้า หากเทียบกับพรรคอื่น ๆ แต่มากกว่า 70% ของว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ได้รับไฟเขียวจากพรรค เพื่อเปิดตัว และลงพื้นที่ทำงาน มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 หรือก่อนช่วงยุคโควิด-19 นั่นจึงทำให้เป็น “จุดแข็ง” ของพรรคก้าวไกล ที่ลงทำพื้นที่ก่อนพรรค หรือผู้สมัครอิสระอื่น ๆ
ผลจากการทำพื้นที่มาหลายปี สำเร็จเป็นรูปธรรม เห็นได้จากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลักสี่ ที่ “เพชร กรุณพล” ยังคงได้คะแนนรวมระดับ 2 หมื่นเสียง แม้ว่ากระแสของพรรคก้าวไกลจะไม่ดีเท่าพรรคอนาคตใหม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ “มดงาน” อย่าง ส.ก.
นอกจากนี้ “ค่ายสีส้ม” ยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับ “มูลนิธิ” บางแห่งที่เปิดตัวช่วยเหลือผู้ป่วย “โควิด-19” มาโดยตลอด โดยการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยหลายครั้ง มักมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคลงไปร่วมด้วย นั่นยิ่งสั่งสมคะแนนความนิยมในตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เข้าไปอีก
“คีย์แมน” ในการวางยุทธศาสตร์เลือกตั้งใน กทม.ของพรรคก้าวไกล เล่าว่า หากลงรายละเอียดให้ลึกลงไปในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลักสี่ จะพบว่า คะแนนในรายหน่วยบางหน่วยได้เยอะขึ้นหากเทียบกับปี 2562 นั่นเป็นผลจากการลงพื้นที่ของ ส.ก.
เห็นได้ชัดว่า คะแนนเมื่อปี 2562 “ค่ายสีส้ม” กวาดเสียงจาก “บ้านมีรั้ว” และ “นิวโหวตเตอร์” เป็นหลัก แต่ในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ได้คะแนนเสียงจากชุมชนเพิ่มขึ้น ทั้งที่เป็น “จุดอ่อน” ของพรรคมาตลอด
“หลายท่านอาจบอกว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลทำให้กระแสรัฐบาลตกต่ำ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันเหเลือกพรรคฝ่ายค้าน แต่ส่วนหนึ่งมันมาจาการทำงานในพื้นที่ของ ส.ก. ของเราตลอดเวลา เพราะไปดูคะแนนในรายละเอียด รายหน่วย พบว่า พื้นที่เราทำงานต่อเนื่องจริง ๆ คะแนนมันสูงขึ้นกว่าเมื่อปี 2562 อย่างเป็นสาระสำคัญ” คีย์แมนรายนี้ ระบุ
“คีย์แมน” ของพรรครายนี้ เล่าให้ฟังอีกว่า แม้จุดแข็งของพรรคก้าวไกล คือการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. และลงพื้นที่มานานตั้งแต่ปลายปี 2562 ก็ตาม แต่จุดอ่อนสำคัญคือว่าที่ผู้สมัครเกือบทั้งหมดล้วนไม่มีประสบการณ์ทำการเมืองท้องถิ่น หรือระดับชาติ มีน้อยมากที่เคยเป็นอดีต ส.ก. หรืออดีตสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ส่งผลให้ต้องทำงานหนักมากขึ้น
โดยสรุปภาพรวมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.ของพรรคก้าวไกล ดำเนินไปควบคู่กัน โดยอาศัยกระแสของ “พรรคก้าวไกล” ร่วมกับจุดแข็งของ “วิโรจน์” ที่เน้นเดินหน้า “ชนกับปัญหา” ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว แตกต่างจากนโยบายของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคอื่น หรือผู้สมัครอิสระอื่น ๆ
ส่วน ส.ก.ลงทำพื้นที่มานานเพื่อแก้ไข “จุดอ่อน” ของพรรคที่มักได้คะแนนจาก “บ้านมีรั้ว” มาลุยช่วยชาวบ้านในชุมชนเพื่อดึงฐานเสียงให้เพิ่มมากขึ้น
ด้วยการประเมินเหล่านี้ทำให้ “ผู้บริหาร” ในพรรคก้าวไกล เชื่อกันว่า มดงานอย่าง ส.ก.จะมีส่วนสำคัญอย่างมากช่วยผลักดันกระแสของ “วิโรจน์” ให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ได้
ส่วนจะจริงอย่างที่ว่าไว้หรือไม่ ต้องรอวัดกันวันหย่อนบัตร 22 พ.ค. 2565