ประธาน ACT ห่วงทบทวน กม.จัดซื้อจัดจ้างฯ ชี้ข้อตกลงคุณธรรมป้องประโยชน์ชาติ
“ประมนต์ สุธีวงศ์” ประธาน ACT ห่วง “กรมบัญชีกลาง” ทบทวนกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างปี 60 ใช้มาแล้ว 5 ปี ชี้ “ข้อตกลงคุณธรรม” ปกป้องผลประโยชน์ชาติได้มหาศาล สร้างความโปร่งใสในการดำเนินโครงการของรัฐ ควรได้รับการสนับสนุนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2565 นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ องค์กรฯ นำเสนอให้มีการยกระดับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้มีมาตรฐานระดับสากล สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีความโปร่งใสอย่างชัดเจน ทุกหน่วยงานในระบบทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างในมาตรฐานเดียวกันเพื่อความเสมอภาคในการทำงานและป้องกันการทุจริตคอรัปชันอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งนำเสนอให้ยกระดับการปฏิบัติด้านจัดซื้อจัดจ้างจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็น พ.ร.บ.อย่างเต็มรูปแบบ
นายประมนต์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี เนื่องจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐปี 2560 ใช้บังคับมา 5 ปี ซึ่งกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กำลังจะมีการปรับปรุงทบทวน จึงเห็นว่ามีประเด็นสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต หากมีการปรับปรุงทบทวนส่วนนี้ให้ด้อยลง อาจสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติได้
ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ข้อดีของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ คือ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจน สร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยมีการกำหนด ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) สร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลสำหรับโครงการขนาดใหญ่ระดับ 1,000 ล้านบาทในส่วนกลาง ทั้ง 3 ส่วน คือ หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการต้องเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอนให้ผู้ประมูลยอมรับข้อตกลง ส่วนบริษัทเอกชนที่เข้าประมูลหรือเสนอราคาก็ต้องไม่ให้สินบนกับหน่วยรัฐเจ้าของโครงการ และยินยอมให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าไปตรวจสอบการประมูลได้ทุกขั้นตอน สุดท้าย ประชาชนซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระต้องเข้าถึงข้อมูลและเอกสารทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่มีการประมูล หากพบเห็นความผิดปกติต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบทันที
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2564 พบว่า สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 100,747 ล้านบาท หรือร้อยละ 12 เหลือเพียง 832,568 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดของ 130 โครงการ” (อ้างอิงข้อมูลจากการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.).ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 22 ก.พ.2565) “ นายประมนต์ กล่าว
นายประมนต์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมี โครงการสร้างความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) สำหรับโครงการที่ไม่ซับซ้อน หรือการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้วยการสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุล มีคณะกรรมการความร่วมมืออันประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชน ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยตามมาตรฐานสากล
“ยังพบว่า ล่าสุดมีโครงการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน(CoST) จำนวน 1,035 โครงการ งบประมาณรวม 76,562 ล้านบาท โครงการนี้สามารถช่วยลดต้นทุนงบประมาณก่อสร้างลงได้ถึง 9,535 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของงบประมาณทั้งหมด” นายประมนต์ กล่าว โดยอ้างอิงจากคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต ครั้งที่ 3/2564) มีตัวอย่างโครงการ CoST ต้นแบบในระดับจังหวัด ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
นายประมนต์ ได้กล่าวสะท้อนถึงปัญหาที่สำคัญคือ “การอุทธรณ์” ตัวการทำงานล่าช้า เสียโอกาสพัฒนา เสียเวลางบประมาณไปอีกหนึ่งปี การจะปรับทบทวนกฎหมายขอเน้นย้ำตรงจุดนี้ พร้อมทั้งการยกระดับ ข้อตกลงคุณธรรม หรือ IP และ CoST ให้สำคัญมากขึ้น ทางภาครัฐต้องส่งเสริมงบประมาณและทำอย่างจริงจัง จะทำให้ประหยัดงบประมาณได้อีกมาก ทั้งนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ถือเป็นกลไกที่มีประโยชน์มาก ควรได้รับการสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
“โครงการขนาดเล็ก รั่วไหลมาก หากต่างจังหวัดจริงจังตรงนี้ จะช่วยอุดช่องโหว่ได้มาก อยากให้รัฐส่งเสริมอบรม สนับสนุนทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน เพื่อเน้นให้ทั้งกระบวนการเข้มแข็ง ให้ข้าราชการดีๆมีหลังพิง ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่มองไม่เห็นอีกด้วย” นายประมนต์ กล่าว