“วิโรจน์” เปิด 12 นโยบาย ชู 4 จิ๊กซอว์สร้างเมืองคนเท่ากัน ชวน “ธนาธร” ถก 27 มี.ค.
“วิโรจน์-ธนาธร” เตรียมถกปัญหา กทม. จ่อเปิด 12 นโยบาย “สร้างเมืองคนเท่ากัน” 27 มี.ค.นี้ ชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯ กทม.” ชู 4 จิ๊กซอว์สร้างเมืองที่เป็นธรรม-เท่าเทียม สวัสดิการพร้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล เตรียมเปิด "12 นโยบายกรุงเทพ สร้างเมืองที่คนเท่ากัน” ในวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2565 เวลา 14.00 น. ที่ชั้น 7 อาคารอนาคตใหม่ โดยเชิญนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมพูดคุย เสวนาแลกเปลี่ยน แนวทางการพัฒนา กทม. โดยตั้งประเด็นว่า นโยบายอะไร คือจุดคานงัดในการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพ
นายวิโรจน์ ระบุว่า เราต้องคืนความเป็นธรรมให้กับเมือง คืนเมืองที่เป็นธรรมให้กับคน สร้างเมืองที่คนเท่ากัน แต่การสร้างเมืองที่คนเท่ากัน จำเป็นต้องเติมนโยบายที่ถูกต้องในการจัดการปัญหา และชนกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของเมืองนี้ ปัญหาของกรุงเทพแบบที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่แก้ด้วยนักประสานสิบทิศ ไม่ใช่แก้ด้วยการสยบยอมร้องขอต่อผู้มีอำนาจ แต่ต้องการผู้ว่าที่พร้อมชน เพื่อสร้างเมืองที่คนเท่ากัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายวิโรจน์ ได้เปิดแนวคิด บนเวทีเสวนาวิชาการ BKK Move Forward โดยระบุถึง จิ๊กซอว์ 4 ตัว เพื่อภาพสุดท้ายของการสร้าง “เมืองที่คนเท่ากัน” ที่จะต้องไปให้ถึง ประกอบด้วย
- จิ๊กซอว์ตัวที่ 1 “คืนเมืองที่เป็นธรรม”
การชนกับปัญหาส่วย และคอร์รัปชั่น จะช่วยทำให้คนให้โอกาสกับเมืองๆ นี้อีกครั้ง โดยมีแนวทางการแก้ไข 3 ข้อเร่งด่วน คือ
- การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส ระบบในการร้องเรียน การมีผู้สังเกตการณ์อิสระ และการทำงานกับแนวร่วมประชาชน เพื่อตรวจสอบสัญญาในโครงการต่างๆ
- การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการยื่นขอใบอนุญาตต่างๆ เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของคน ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจของคน ก็ให้ outsource บริษัทภายนอกที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับใบอนุญาตมาเป็นผู้ดำเนินการ
- การใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ในการพิจารณาขออนุญาตอย่างเคร่งครัด
- จิ๊กซอว์ตัวที่ 2 “คืนเมืองที่เท่าเทียม”
การจัดงบประมาณ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของงบประมาณ ปัญหาคุณภาพชีวิต ที่เห็นอยู่ทุกวัน ที่หน้าบ้าน หน้าปากซอย ก็จะได้รับการแก้ไข ทำให้รู้สึกเชื่อมั่นในเมืองๆ นี้อีกครั้ง เริ่มต้นจากการจัดสรรงบประมาณให้กับคนกรุงเทพทั้ง 50 เขต
งบ 4,000 ล้านบาท (ชุมชน = 1,400 ล้าน+50 เขต 2,600 ล้าน) ประชาชนสามารถเสนอโครงการได้ เปลี่ยนสถานะของประชาชน จากเดิมที่ต้องอ้อนวอนร้องขอ ให้กลายมาเป็นเจ้าของงบประมาณ ผู้ทรงอำนาจที่แท้จริง โดย กทม. มีหน้าที่ไปประสานงานกับทุกๆ หน่วยงาน เพื่อเอางบประมาณไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนให้ได้ และมี ส.ก. ของพรรคก้าวไกล ทำหน้าที่รับลูกประสานงานระหว่างพี่น้องประชาชนและ ส.ก.
- จิ๊กซอว์ตัวที่ 3 สวัสดิการ
มุ่งเน้นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐาน และเพิ่มสวัสดิการในกลุ่มเปราะบางเข้าไป เพื่อลดภาระค่าครองชีพ และกระตุ้นการใช้จ่ายในชุมชน คนจะกล้าฝันมากขึ้น กล้าลองถูกลองผิดมากขึ้น กล้าบริโภค และกล้าลงทุนมากขึ้น เพราะทุกคนจะมั่นใจว่า ถ้าล้มแล้วจะลุกขึ้นได้ ล้มคนเดียวไม่ต้องล้มทั้งบ้าน
พร้อมทั้งยกตัวอย่างนโยบายสวัสดิการ หากมีผู้ว่าฯ กทม.ที่ชื่อวิโรจน์ ด้วยว่า
- ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิตามสิทธิบัตรทองได้ครอบคลุมขึ้น
- ระบบ Telemed ลดการขาดยา ขาดนัดพบแพทย์ ของผู้ป่วยเรื้อรัง และเพิ่มศูนย์กายภาพบำบัด ลดจำนวนผู้ป่วยติดเตียง
- ขยายสิทธิการรับวัคซีน เช่น วัคซีนปอดอักเสบ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนไข้เลือดออก (ตามคำแนะนำของแพทย์)
- โรงเรียนและห้องสมุดชุมชนให้บริการดูแลเด็กหลังเลิกเรียน ตอบโจทย์สังคมที่พ่อแม่ต้องทำงาน
- ปรับหลักสูตรที่ลดการเรียน ลดการสอบของเด็กลง เพื่อให้เด็กมีเวลาไปโฟกัสกับการพัฒนาทักษะที่สำคัญ
- พัฒนาพื้นที่สาธารณะเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กทุกคน มีหลักสูตรออนไลน์ที่มีคุณภาพที่เด็กทุกคนเรียนได้
- เพิ่มงบสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุให้เป็น 1,000 บาท/เดือน ค่าเลี้ยงดูบุตร (0-6 ขวบ) ให้เป็น 1,200 บาท และเบี้ยคนพิการ ให้เป็น 1,200 บาท/เดือน
- Affordable Housing ให้คนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง มีที่อยู่อาศัยในทำเลที่ดีในเมืองได้ พัฒนาตลาด แหล่งทำมาหากิน และระบบขนส่งสาธารณะควบคู่กันไปด้วย
- จิ๊กซอว์ตัวที่ 4: การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายนี้จะทำให้เห็นภาพเมืองที่คนเท่ากันได้สมบูรณ์ ทำให้เมืองกลับมามีความหวังอีกครั้ง กทม. ต้องพัฒนาตลาดและเศรษฐกิจจากการสัญจรผ่านระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อพัฒนาย่านเศรษฐกิจให้ได้ เพื่อสร้างโอกาสให้คนจนเมือง มีโอกาสที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ตั้งตัวได้ง่ายขึ้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจ กระจุกตัวในห้าง ในปั๊ม และหน้าร้านสะดวกซื้อ
จะเห็นว่าโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วล้มเหลว มักจะคิดไม่จบ เช่น สร้างตลาดที่ท่องเที่ยว แต่ไม่มีรถโดยสารสาธารณะรองรับการเดินทางของประชาชน ถ้า วิโรจน์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. นอกจากจะต้องเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้ว จะต้องคิดอย่างรอบคอบ รอบด้าน เพื่อไม่ให้เป็นโครงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือโครงการชิค ๆ คูล ๆ แต่ผลลัพธ์เป็นศูนย์
นายวิโรจน์ ระบุด้วยว่า กทม. ยังสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ ที่ทำธุรกิจสร้างสรรค์ หรือธุรกิจนวัตกรรม มีต้นทุนที่ลดลง และมีโอกาสที่จะตั้งตัวได้เร็วขึ้นอีกด้วย เช่น ผู้ประกอบการรายใดที่อยู่ในโครงการของ NIA, DEPA และ TCDC อีกทั้ง กทม. สามารถยกเว้นการเก็บภาษีที่ดิน และภาษีป้าย ในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ พร้อมกับส่งเสริมธุรกิจเหล่านี้ ด้วยการจัดงานให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ ได้มีโอกาสพบปะกับนักลงทุน เพื่อระดมทุนในการขยายธุรกิจได้อีกด้วย