มาตรการลดเงินสมทบ “ประกันสังคม” ม.33 - ม.39 - ม.40 เริ่ม พ.ค.- ก.ค.65

มาตรการลดเงินสมทบ “ประกันสังคม” ม.33 - ม.39 - ม.40 เริ่ม พ.ค.- ก.ค.65

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เห็นใจพี่น้องแรงงาน ออกมาตรการลดเงินสมทบ “ประกันสังคม” ผู้ประกันตน ม.33 - ม.39 - ม.40 เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยนายจ้าง-ลูกจ้าง ฝ่าเศรษฐกิจที่ได้จากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนกว่า 24.2 ล้านคน เริ่ม พ.ค.- ก.ค. 65

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย และได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน และสั่งการทุกหน่วยงานประเมินพร้อมออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดมาตรการลดเงินสมทบ "ประกันสังคม" ทั้งในส่วนของนายจ้าง และ ผู้ประกันตนทุกมาตรา ม.33, ม.39 และ ม.40  เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 ได้แก่
 
1. ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เหลือ ร้อยละ 1 ของค่าจ้าง ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานค่าจ้าง 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพ ไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

2. ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน

3. ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 มี 3 ทางเลือก คือ

  • ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาท
  • ทางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท และ
  • ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 – 360 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า มาตรการช่วยเหลือแรงงานนี้ ยังช่วยนายจ้าง จำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบ "ประกันสังคม" จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุนการผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการลดเงินสมทบผู้ประกันตนดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท