"วิโรจน์" โชว์วิชั่นบนเวทีดีเบต ชู 4 นโยบายด่วน รับมือฝุ่น PM 2.5-สางปัญหาขยะ
"วิโรจน์" โชว์วิชั่นในเวทีดีเบต ชู 4 นโยบายเร่งด่วน รับมือฝุ่น "PM 2.5" สางปัญหาขยะ สร้างเมืองให้ยั่งยืน ยันต้องปรับฐานคิด "คนเท่ากัน" ตั้งคำถามกลับ กทม.ควรจัด ULEZ พื้นที่ชั้นในได้หรือยัง ย้ำคนตัวเล็กตัวน้อยต้องได้รับการปกป้องก่อน
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล ตอบคำถามกลางวงเสวนาสาธารณะในชื่อ “งานเสวนาว่าที่ผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน” ณ ห้องประชุมวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายวิโรจน์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกทม. ว่า คนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะมักเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย และเป็นคนที่ไม่ได้ก่อมลภาวะด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานกลางแจ้ง เป็นคนเดินถนนที่ต้องแบกรับปัญหามลภาวะต่าง ๆ โดยย้ำว่า กทม. เมืองจะยั่งยืนได้ ต้องดูแลคนทุกคน อย่างเสมอหน้ากัน
เมื่อถูกถามถึงภารกิจเร่งด่วนที่สามารถแก้ไขได้ทันที่หากได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. นายวิโรจน์อธิบายไว้ทั้งหมด 4 ข้อ คือ
- เร่งทบทวนโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กทม. เพื่อตรวจสอบมาตรฐานการปล่อยมลภาวะทางอากาศ พร้อมถอนใบอนุญาตหากปล่อยมลภาวะเกินกำหนด
- ประสานงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมขนส่งทางบก กรณีการต่อทะเบียน และมีการกำกับพิเศษ ต่อยานพาหนะที่ปล่อยมลภาวะหรือฝุ่นควัน PM2.5
- หารือกรมควบคุมมลพิษ ในการออกข้อกำหนดมาตรฐานการปล่อยสารพิษ ในการควบคุมสารพิษในกลุ่มสาร VOCs (Volatile organic Compounds) Nitrogen Oxide (NOx) ไนโตรเจนออกไซด์ หรือกลุ่มก๊าซที่มีความไว (Highly reactive gases)
- จัดให้คนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองจากมลภาวะทางอากาศได้ เข้าถึงห้องปลอดฝุ่น ห้องสะอาดในพื้นที่เสี่ยง
นายวิโรจน์ ได้แสดงวิสัยทัศน์กรณีการจัดการฝุ่นควัน PM2.5 ว่า มีโรงงานใน กทม. ถูกร้องเรียนเป็นจำนวนมาก แต่โรงงานดังกล่าวกลับยังไม่ถูกปิด สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจของผู้ว่าฯ กทม. พร้อมกับตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ถึงเวลาในการจัดตั้ง ULEZ (Ultra Low Emission Zone) พื้นที่ควบคุมมลภาวะพิเศษ ในพื้นที่กรุงเทพชั้นในแล้วหรือยัง
ส่วนปัญหาขยะ นายวิโรจน์ กล่าวว่า พร้อมแก้ปัญหาโรงขยะมูลฝอย ประเวศ ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นและส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย ไปจนถึงเด็กเล็กในพื้นที่ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทกรุงเทพธนาคมของ กทม. ทันที พร้อมตรวจสอบสัญญาและติดตามเอาผิดการจัดการขยะที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคน กทม. โซนตะวันออก และผลักดันการแก้ไขโรงขยะให้เป็นตัวอย่างของการจัดการขยะทั่ว กทม.