ป.ป.ช.ฟัน “ดาบตำรวจ” รวยผิดปกติ 91.6 ล้าน รับเงินเอกชนคดีสร้างแฟลต ตร.
ป.ป.ช.อัพเดตคดียื่นทรัพย์สินเท็จ-รวยผิดปกติ ปีงบประมาณ 65 เชือดไปแล้วรวม 4 ราย มีชื่อ “ดาบตำรวจ” พัวพันคดีทุจริตก่อสร้างแฟลตตำรวจ ยุค “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ด้วย ตามทางไต่สวนพบรับเงินจากเอกชน 91.6 ล้าน
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวเกี่ยวกับประเด็นการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินในช่วงเดือน ต.ค. 2564-ก.พ. 2565 โดยพบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมถึงตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จำนวนทั้งสิ้น 25,971 บัญชี แบ่งเป็นสำนักงาน ป.ป.ช.ส่วนกลาง จำนวน 3,536 บัญชี และสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด จำนวน 22,435 บัญชี
นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง กรณีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ 1 ราย ได้แก่ นายมโน ชูนุตร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) พังงา
ส่วนกรณีร่ำรวยผิดปกติ มี 3 ราย ได้แก่
- ด.ต.สายัณ อบเชย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่กลุ่มงานวิชาชีพและเชี่ยวชาญกองโยธาธิการ มีมูลค่าความเสียหาย 91,618,000 บาท
- นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูมิ ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ มีมูลค่าความเสียหาย 52,491,368 บาท
- นายปัญญา เขียวธง ตำแหน่งนายกเทศมนตรี ตำบลต้นธง จังหวัดลำพูนและ นางสาวอาภาภรณ์ พุทธปาน ตำแหน่งรองนายกเทศมนตรี ตำบลต้นธง จังหวัดลำพูน มีมูลค่าความเสียหาย 960,000 บาท
อย่างไรก็ดีการชี้มูลความผิดทางคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจากศาล
- เบื้องหลังฟัน “ดาบตำรวจ” พันคดีสร้างแฟลตยุค “อภิสิทธิ์-สุเทพ”
สำหรับกรณีชี้มูลความผิด ด.ต.สายัณ อบเชย นั้น เป็นกรณีสืบเนื่องจากการทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลตำตรวจ) ขนาด 30 ครอบครัว สูง 5 ชั้น จำนวน 163 หลัง สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ปัจจุบันเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยพฤติการณ์ของ ด.ต.สายัณ พบว่า เมื่อครั้งเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และได้รับแต่งตั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ จำนวน 163 หลัง ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ด.ต.สายัณ ว่าการกระทำของ ด.ต.สายัณ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 151 และ 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงนั้น
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เพื่อดำเนินการขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป
- ตามทางไต่สวนพบรับเงินจากเอกชน 91.6 ล้าน
จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ด.ต.สายัณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ กลุ่มงานวิชาชีพและเชี่ยวชาญ กองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5 ตามคำสั่งกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 73/2553 ลงวันที่ 2 เมษายน 2553 ได้รับเงินจากผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงิน 91,618,000 บาท
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ด.ต.สายัณ ได้มีการโอนหรือยักย้ายถ่ายเทเงินจำนวนดังกล่าวไปยังบัญชีเงินฝากของตนหรือไปยังบัญชีเงินฝากที่ตนเอง และคู่สมรสของตนเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกันอีกหลายครั้งจนกระทั่งมีการถอนเงินไปซื้อที่ดิน จำนวน 10 แปลง เมื่อพิจารณาจากรายได้ของ ด.ต.สายัณ และคู่สมรส จากรายการแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกอบกับประวัติการรับราชการของ ด.ต.สายัณ แล้วมีรายได้และฐานะทางการเงินไม่สัมพันธ์กับทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติว่า ด.ต.สายัณ ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมา โดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 91,618,000 บาท
ที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน และแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกผู้ถูกกล่าวหาภายในหกสิบวัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ต่อไป
หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่น ของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามนัยมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย