"ปชป." เปิดศึก 2 ด้าน รบ "รัฐบาล-ฝ่ายค้าน" ดัน“เบอร์เดียว”
แม้ กมธ.พิจารณากม.ลูก เสียงข้างมาก จะคว่ำ ไม่ให้ "เบอร์เดียวทั้งประเทศ" เป็นกติกาเบิกทางสู่การเลือกตั้งได้ แต่สิ่งที่น่าจับตา คือ ความต้องการ ของ 2กมธ.ซีก "ปชป." ที่หนุน "ฝ่ายค้าน" ดันเบอร์เดียว นัยที่สื่อ อาจเป็นการเปิดแนวรบ
มติ 32 : 14 เสียง ของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ยืนยันต่อกติกาเลือกตั้งให้ใช้ “เบอร์” ของผู้สมัคร ส.ส. ที่จะใช้หาเสียงแยกกัน ระหว่างเลือกตั้งแบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ
ไม่เอา“เบอร์เดียวกัน”ทั้งประเทศ ตามที่ “พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล” เสนอ
แน่นอนว่า เสียงข้างมากของ กมธ.ที่ร่วมโหวตทั้ง 47 คนนั้น มาจากฝั่งที่สนับสนุนรัฐบาล ขณะที่เสียงข้างน้อยมาจากฝั่งฝ่ายค้าน
แต่ที่น่าสนใจ คือ กมธ.ฝ่ายค้าน มีจำนวน 13 คน ลาประชุม 1 คน คือ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ แต่ได้เสียงจากซีกรัฐบาลเติม 2 เสียง มาจากขั้วประชาธิปัตย์ คือ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช และ “เทอดพงษ์ ไชยนันทน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ซึ่งทั้ง 2 คน ถือว่าเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์สูงในสนามเลือกตั้ง
2 เสียงจาก “ประชาธิปัตย์” ที่โหวตชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงนัยทางการเมือง ถึงการต่อสู้ในสมรภูมิการเมืองตั้งแต่ในสนาม "แก้กติกาเลือกตั้ง”
ประเด็น ที่เป็นตัวชูหลักการของการกำหนดเบอร์เดียวทั้ง 2 ระบบ ถูกฉายภาพมาตั้งแต่การประชุมรัฐสภา วาระแรกของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ผู้อาวุโสของประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุน “เบอร์เดียวทั้งประเทศ” เพราะจะทำให้ประชาชนจดจำง่าย ไม่สับสน อีกทั้งพรรคการเมืองไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หาเสียงได้ง่าย
และตอกย้ำผ่านแนวคิดของ “สาธิต ปิตุเตชะ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้แสดงทัศนะชัดเจนว่าสนับสนุนเบอร์เดียวเช่นกัน
โดยมีคำอธิบายว่า “เพื่อประชาชนสะดวก และเข้าใจในใช้สิทธิเลือกตั้ง ระหว่างตัวผู้สมัครส.ส. และพรรค รวมถึงสะท้อนเจตจำนงการเลือกผู้สมัครได้ตรงกับความต้องการของประชาชน”
และเหตุผลสำคัญ ที่รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุไว้คือ เพื่อให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีประสบการณ์ว่าผู้สมัครส.ส.ได้เบอร์ต่างจากพรรค เวลาลงพื้นหาเสียงจะสร้างความสับสนให้ผู้เลือก และผู้รณรงค์หาเสียง และบางกรณีพบว่าผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงให้เฉพาะตัวเอง ไม่หาเสียงให้พรรค ทำให้เกิดปัญหาพรรคการเมืองอ่อนแอ
ทว่า “สาธิต” แสดงความชัดเจนเรื่องนี้ ได้เพียงการงดออกเสียง เพราะทำหน้าที่ในบทบาทของประธานที่ประชุม
กับประเด็นการสร้างใบเบิกทางที่เอื้อต่อการแข่งขันเลือกตั้ง ที่ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” และ “ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์” พ่ายในชั้นกรรมาธิการฯ ยังมียกที่สอง ไว้สู้กันใน “รัฐสภา”
เรื่องนี้ “สมคิด เชื้อคง” ยืนยันว่า 8 กมธ.ซีกเพื่อไทยจะสงวนความเห็นไปอภิปรายในสภาฯ
ทว่า การต่อสู้ยกสอง ที่ “พรรคเพื่อไทย” ตั้งเป้า “สมคิด” ประเมินว่าชัยชนะเลือนลาง เพราะ "เขาไม่อยากได้”
แม้ในชั้น กมธ. ได้เสียงของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ สนับสนุน แต่ไม่มีนัยอะไร เพราะในรัฐสภาเสียงส.ส.ข้างรัฐบาล รวมกับเสียง ส.ว.นั้นมีมากกว่า
“ผมและพรรคเพื่อไทยยังมองว่า ในทางการเมือง เราเห็นร่วมกันว่า ควรกำหนดเรื่องที่ทำให้ประชาชนเข้าใจง่ายไม่สับสน แต่หากเขาต้องการสร้างความสับสน เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ก็สุดแล้วแต่ ทั้งนี้อดคิดไม่ได้ว่า เขาพยายามกีดกันเรา แต่พรรคเพื่อไทยไม่เคยกลัว” สมคิด ระบุ
อย่างไรก็ดี ในคำอธิบายของฝั่งเสียงข้างมาก ที่ยืนยันให้ “เบอร์ต่างกัน” จาก “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้า และมือกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า พิจารณาจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 48 ไม่สามารถเขียนวิธีเป็นอื่น เพื่อให้ใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศได้ และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับปมการเมือง หรือ พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เพราะในทัศนะส่วนตัวเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีทาง ชนะแบบแลนด์สไลด์ อย่างดีที่สุด คือ ได้ส.ส.เพิ่มจากปัจจุบันเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะที่ 2 เสียงจาก “ประชาธิปัตย์” ที่สนับสนุนเบอร์เดียว “ไพบูลย์” เชื่อว่าทำได้ เนื่องจากเป็นเอกสิทธิ์ของผู้แทน และจะไม่ส่งผลต่องานการเมือง
มุมมองจาก ฝั่ง “เพื่อไทย” และ “พลังประชารัฐ” แม้มองข้ามความต้องการของ “ประชาธิปัตย์” ที่อยากให้เป็นเบอร์เดียวทั้งประเทศ แต่ 2 เสียงนั้น ควรอย่างยิ่งที่ “ผู้นำรัฐบาล” ต้องฟัง เพราะหากเมิน หรือ ทำเฉย อาจกลายเป็นการสร้าง ความหมางใจ และก่อให้เกิดสนิมจากเนื้อในรัฐนาวาได้
แม้อำนาจต่อรองของ “ประชาธิปัตย์” ฐานะพรรคร่วมรัฐบาล อันดับสอง จะอยู่ในระดับที่เจรจา ยอมๆ กันได้ แต่หากถึงบางเรื่องที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ - ประเด็นกำหนดชะตาทางการเมือง เชื่อแน่ว่า ดีกรีนักการเมืองเขี้ยวลากดิน และถนัดงานกฎหมาย งานสภาฯ ไม่มีทางยอมให้ “ผู้มีอำนาจ” ชักจูง
เพราะในสมรภูมิเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปครั้งหน้า“ขุนพลประชาธิปัตย์” ล้วนเดิมพันตัวเอง ไว้กับอนาคตทางการเมือง.