ชำแหละ "2.6 ล้าน" ฐานคะแนนพรรค ศึกผู้ว่าฯกทม. 6 คน “ 2 ขั้ว” ตัดแต้ม
ศึกผู้ว่าฯกทม.ฐาน“2ขั้ว”ตัดแต้ม ขั้วฝ่ายค้าน 1.4 ล้านคะแนน ขั้วรัฐบาล 1.2 ล้านคะแนน ลุ้น“นิวโหวตเตอร์” ยุค 56 - ยุค 62 ตัวแปรเลือกข้าง เทคะแนน
คิกออฟเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” อย่างเป็นทางการ หลังจากผู้สมัคร จับเบอร์ในวันแรก 31 มี.ค.ท่ามกลางบรรยากาศคึกคัก เพราะห่างหายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยาวนาน ในรอบ 9 ปี
ตัวเต็งของแต่ละสายมากันครบ “ขั้วประชาธิปไตย” ประกอบด้วย “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เบอร์ 8 “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เบอร์ 1 “น.ต.ศิธา ทิวารี” เบอร์ 11 ฟากฝั่ง “ขั้วอนุรักษ์นิยม” ประกอบด้วย “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” เบอร์ 6 “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” เบอร์ 4 “สกลธี ภัททิยกุล” เบอร์ 3
โดยฐานคะแนนของ “สองขั้ว” ถูกแบ่งออกอย่างชัดเจน และการแข่งขันกันเองของ 3 คน ขั้วประชาธิปไตย และ 3 คน ขั้วอนุรักษ์นิยม ย่อมจะตัดคะแนนกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากชำแหละคะแนนของ “สองขั้ว” จากการเลือกตั้ง ส.ส. กทม. เมื่อปี 2562 สามารถแยกย่อยได้ดังนี้ พรรคอนาคตใหม่ 804,272 คะแนน + พรรคเพื่อไทย 604,699 จะได้ 1,408,971 คะแนน ด้าน พรรคพลังประชารัฐ 791,893 คะแนน + พรรคประชาธิปัตย์ 474,820 คะแนน จะได้ 1,266,713 คะแนน และพรรคอื่นๆ 426,596 คะแนน
"ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะเป็นการชิงฐานคะแนนกันเองของ 2 ขั้ว
“ขั้วประชาธิปไตย” (ฐานคะแนน พรรคอนาคตใหม่ + พรรคเพื่อไทย) “สติธร” มองว่า หากมอง “ชัชชาติ” ที่มีเงาของพรรคเพื่อไทย จะมีความได้เปรียบเป็นทุนดั้งเดิมอยู่แล้ว รวมถึงโพลหรือกระแสตอบรับในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคะแนนนิยมไม่ได้ลดลง ทำให้คะแนนในส่วนนี้น่าจะอยู่ที่ “ชัชชาติ”
รองลงมาจะอยู่ที่ “วิโรจน์” เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่สูงที่สุด แต่คนจะกังขาว่าพรรคเพื่อไทยส่งคนไม่ครบทุกเขต อาจจะต้องหักลบกลบหนี้กัน 1-2 แสนคะแนน ซึ่งอาจทำให้คะแนน “วิโรจน์” ลดลง และคะแนนไหลกลับไปพรรคเพื่อไทย ทำให้คะแนนของ “ชัชชาติ” มีมากกว่า
ขณะที่คะแนนของ “ศิธา” อาจจะพอได้บ้างในบางพื้นที่ ที่ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานพรรคไทยสร้างไทยยังพอมีฐานเสียงอยู่ แต่จะชิงที่หนึ่งของขั้วตัวเองไม่ได้
“หากเจาะลึกฐานคะแนนนายชัชชาติ กับนายวิโรจน์ ในคะแนนขั้วเดียวกัน อาจจะสูสี แต่นายชัชชาติ อาจจะมีคนข้ามขั้วมาเลือกได้ ส่วนนายวิโรจน์ โอกาสที่คนข้ามขั้วมาเลือกมีน้อย ขั้วตรงข้ามหวังให้นายวิโรจน์ตัดคะแนนของนายชัชชาติให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ตัวเองสามารถมีความหวังขึ้นมาได้”
“ขั้วอนุรักษ์นิยม” (ฐานคะแนน พรรคพลังประชารัฐ + พรรคประชาธิปัตย์) “สติธร” มองว่า คะแนนในกลุ่มดังกล่าวใครนำ ใครตาม ยังวัดกันยาก ค่อนข้างจะคู่คี่สูสี เมื่อเช็คกระแสตอบรับค่อนข้างก้ำกึ่ง คะแนนยังสามารถไหลไปมาได้ แต่หากทำโพล “พล.ต.อ.อัศวิน” อาจจะมีคะแนนนำมานิดหน่อย ตามมาด้วย “สุชัชวีร์” และ “สกลธี”
“ขั้วการเมืองของ พล.ต.อ.อัศวิน สุชัชวีร์ และสกลธี ประมาทไม่ได้ เพราะทุกคนยังมีโอกาส หากมีปัจจัยอะไรไปกระตุ้นให้โหวตเตอร์ของกลุ่มนี้ จำเป็นต้องเลือกคนใดคนหนึ่ง เพื่อให้คะแนนมารวมกันโดยไม่ได้นัดหมาย จะทำให้คนใดคนหนึ่งได้คะแนนเยอะมาก ขณะที่อีกกลุ่มคะแนนเขาตัดกันแน่ และไม่มีโอกาสที่คะแนนจะมารวมกัน”
พรรคอื่น (ฐานคะแนน 426,596 คะแนน) “สติธร” เชื่อว่า คะแนนตรงผู้สมัครอิสระโนเนมจะแย่งกันเอง เนื่องจากจะมีคน กทม.บางส่วน ไม่ชอบเลือกพรรคการเมืองใหญ่ จะชอบของแปลก ซึ่งคะแนนก้อนนี้ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งก็จะมีอยู่ ซึ่งไม่มากพอที่จะชนะ แต่ผู้สมัครโนเนมต้องการแจ้งเกิดทางการเมืองผ่านสนามผู้ว่าฯกทม. อาทิ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ซึ่งมีคะแนนจากสนามกทม. ก่อนต่อยอดไปสนามระดับประเทศ
สำหรับ “นิวโหวตเตอร์” จะเป็นตัวแปรมีโอกาสทำให้พลิกแค่เล็กน้อยเท่านั้น คนที่เป็น “นิวโหวตเตอร์” ครึ่งหนึ่งเคยผ่านการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 มาแล้ว เราพอรู้แล้วว่าจะเลือกข้างไหน ส่วนอีกครึ่งหลังปี 2562 เรายังไม่เคยเห็นคะแนนเขามาก่อน หากจะคิดคะแนนเป็นตัวแปรจริง ควรคิดคะแนน “นิวโหวตเตอร์” หลังปี 2562 ซึ่งจะมีเพียง 7-8 เปอร์เซ็นต์
“สติธร” ประเมินว่า การต่อสู้สนามกทม.น่าจะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง “ชัชชาติ” กับ “พล.ต.อ.อัศวิน” ซึ่งขึ้นอยู่กับการหาเสียงและการทำคะแนนว่า “พล.ต.อ.อัศวิน” ที่เป็นตัวเต็งของขั้วตัวเองจะทำงานได้ดี เพื่อจะทำให้คะแนนมาไหลรวมที่ตัวเองหรือไม่
สำหรับโอกาสที่จะพลิกสถานการณ์จากวาทกรรม “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ทาง “สติธร” มองว่า “ก็พอมีโอกาส โดยคนที่ไม่ได้สนับสนุนนายชัชชาติ เกิดความกังวลใจกับการที่นายชัชชาติจะได้เป็นผู้ว่าฯกทม. มากๆ แต่ก็มีโอกาสเกิดน้อย”
ขณะเดียวกัน “รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ” ผู้อำนวยการส่งเสริมนวัตกรรมและธรรมาภิบาลท้องถิ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า ตนขอไม่ฟันธง และมั่นใจว่า “พล.ต.อ.อัศวิน” ไม่น่าจะเข้าวิน เนื่องจากสมัยเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องถามว่าคน กทม.แฮปปี้ขนาดไหน และมีเสียงเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มาตลอด สิ่งที่สะท้อนคือผลงานไม่ค่อยเป็นที่เข้าตาของคน กทม.สักเท่าไร
“แม้พล.ต.อ.อัศวิน พยายามบอกว่า ทำผลงานมาเยอะแต่คนไม่เลือก ก็ต้องถามว่าจริงๆ แล้วทำอะไร เท่าที่จำได้ มีแค่ลอกคลอง แต่ กทม.ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะคลอง เรื่องอื่นที่บังคับใช้กฎหมาย เป็นโจทย์ใหญ่ที่ส่วนตัวมองว่ายังไม่ค่อยเข้าตาเท่าไร ดังนั้นโอกาสของ พล.ต.อ.อัศวิน ยังไม่ค่อยเท่าไร”
“วีระศักดิ์” มองว่า สำหรับกรณีของนายชัชชาติ ผลโพลก่อนหน้านี้ที่ชนะมาตลอด เพราะไม่ค่อยมีคู่แข่งจากขั้วของตัวเองมาทำโพลร่วมด้วย แต่ตอนนี้มีนายวิโรจน์ ก็อาจจะตัดคะแนนกันเอง ฐานเสียงของนายชัชชาติและนายวิโรจน์ทับซ้อนกันอยู่ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมากระแสของนายวิโรจน์ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีของนายชัชชาติ จึงสรุปยากนิดนึงว่านายชัชชาติจะเข้าวินหรือไม่
“วีระศักดิ์” ประเมินว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะมาโหวต 70 เปอร์เซ็นต์ ตีเป็นตัวเลขประมาณ 3 ล้านเสียง หากนายชัชชาติได้สัก 1.2-1.5 ล้านเสียง ก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่เมื่อมีนายวิโรจน์เข้ามา โอกาสจึงยากขึ้น นิวโหวตเตอร์กว่า 7 แสนคะแนนหากเทให้นายวิโรจน์ จะทำให้นายชัชชาติเหลือเพียง 8-9 แสนเสียง ซึ่งจะทำให้คะแนนของนายชัชชาติ ที่หากคะแนนของขั้วตรงข้ามซึ่งจะมีอยู่ประมาณ 1.2-1.5 ล้านเสียงเช่นกัน ตัดกันน้อยกว่า โอกาสของนายชัชชาติก็น้อยลง
“จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ผมมองว่าการใช้โซเชียลมีเดียในช่วงท้าย ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนมีไม้เด็ดซ่อนอยู่ โดยเฉพาะนายวิโรจน์ที่จะมีกลยุทธ์หาเสียงซ่อนอยู่ อาจจะโดนใจคน กทม.ก็ได้ และผมมองว่าคนกทม.อยากลองของใหม่ คนอยากลองนายวิโรจน์”
ทั้งหมดคือความเห็นเชิงตัวเลขของ “สติธร-วีระศักดิ์” ทว่าสนามกทม.โอกาสพลิกผันมีสูง ยากที่จะคาดเดาอารมณ์ของ “คนเมืองหลวง” ที่สำคัญแนวทางการหาเสียงหลังจากนี้ จะเป็นตัวชี้วัดว่า “ใคร”จะมีโอกาสเข้ามานั่งเก้าอี้ “พ่อเมืองกทม.”มากที่สุด