สรุปประวัติ-ทรัพย์สิน-ธุรกิจ ใครเป็นใคร? 7 แคนดิเดตชิง “ผู้ว่าฯ กทม.”

สรุปประวัติ-ทรัพย์สิน-ธุรกิจ ใครเป็นใคร? 7 แคนดิเดตชิง “ผู้ว่าฯ กทม.”

สรุปประวัติสั้น ๆ มุมทรัพย์สิน-ผ่าขุมข่ายธุรกิจ ทั้งผู้สมัครอิสระ-ตัวแทนพรรคการเมือง 7 แคนดิเดตชิงตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.”

เปิดฉากอย่างเป็นทางการไปแล้ว สมรภูมิเมืองหลวง ชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในรอบ 9 ปี

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดรับสมัครวันแรก มีผู้สมัครระดับ “บิ๊กเนม-โลว์โพรไฟล์” หลายคนทยอยเดินทางมาที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ พร้อมด้วยบรรดาแฟนคลับตามมาเชียร์อย่างคึกคัก

จำแนกผู้สมัครที่มาจากพรรคการเมืองได้ 3 พรรค ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล เบอร์ 1 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เบอร์ 4 และ น.ต.ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 11

ผู้สมัครอิสระระดับ “บิ๊กเนม” เช่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีตแกนนำ กปปส. น.ส.รสนา โตสิตตระกูล อดีต ส.ว.กทม. เป็นต้น

ชื่อชั้นแต่ละคนเรียกได้ว่า เบียดเสียดสูสีกันอย่างมาก นับเป็นอีกหนึ่งการเลือกตั้งที่น่าจะต้องลุ้นกันถึง “โค้งสุดท้าย” เลยทีเดียว

สรุปประวัติ-ทรัพย์สิน-ธุรกิจ ใครเป็นใคร? 7 แคนดิเดตชิง “ผู้ว่าฯ กทม.”

มาดูในมุมทรัพย์สิน-ธุรกิจของแต่ละคนกันบ้าง

ตัวแทนพรรคการเมือง 3 พรรค แบ่งเป็น

  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1

อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เป็นหนึ่งในผู้ก่อร่างสร้าง “พรรคอนาคตใหม่” ร่วมกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไป “วิโรจน์” ก้าวขึ้นมาเป็น “แถวหน้า” ในพรรคใหม่อุดมการณ์เดิมอย่าง “ก้าวไกล” เป็นหัวหอกในการอภิปรายในสภาฯ และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเผ็ดร้อนหลายครั้ง

ในมุมทรัพย์สิน นายวิโรจน์ แจ้งกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2562 ว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 51,435,181 บาท มีหนี้สิน 42,701 บาท

ก่อนหน้านี้นายวิโรจน์ เคยเป็นกรรมการบริษัท แอสเซนเทค จำกัด ทำธุรกิจการจัดพิมพ์ จำหน่าย หรือเผยแพร่ตำราเรียน หนังสือ ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้เลิกกิจการแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 นายทะเบียนแจ้งเสร็จชำระบัญชีเมื่อ 4 พ.ย. 2564 

ปัจจุบันไม่ปรากฏชื่อเจ้าตัวเป็นกรรมการในบริษัทแห่งใด

  • นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” เบอร์ 4

อดีตอธิการบดีสถาบันพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกตัวให้ความสนใจลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนแรก ๆ กระทั่งเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค ปชป.และถูกส่งเลือกตั้งในนาม “ค่ายสะตอ” ในที่สุด ก่อนหน้านี้เจ้าตัวเคยบอกว่ามีผลงานระดับ “มาสเตอร์พีซ” ในการเข้าแก้ไขปัญหา สจล. กรณีมีการทุจริตกันภายในเป็นเงินกว่า 1.6 พันล้านบาท จนสุดท้ายทำได้สำเร็จ และขึ้นแท่นเป็นอธิการบดีที่ทำผลงานได้โดดเด่นคนหนึ่งของ สจล.

ในมุมทรัพย์สิน “ดร.เอ้” แจ้งต่อ ป.ป.ช.ล่าสุด กรณีพ้นจากตำแหน่งอธิการบดี สจล. เมื่อปลายปี 2564 แจ้งว่ามีทรัพย์สินรวมคู่สมรส 341,205,717 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 34,853,979 บาท

ขณะที่ “สวิตา สุวรรณสวัสดิ์” นักธุรกิจคู่สมรสของ “ดร.เอ้” พบว่า เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 10 แหง โดย 1 ในธุรกิจของนางสวิตา คือ บริษัท ทรานส์โค้ด จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2565 หรือช่วง 6 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อย 29 โครงการ รวมวงเงิน 370.67 ล้านบาท

นอกจากนี้การแจ้งบัญชีทรัพย์สินของ “ดร.เอ้” ยังถูกครหาว่าอาจมีการ “ร่ำรวยผิดปกติ” เบื้องต้น กมธ.ป.ป.ช.ของสภาฯ ได้เชิญบุคคลผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ พร้อมกับมีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการตรวจสอบด้วย แต่ “ดร.เอ้” ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง โดยทำหนังสือชี้แจงต่อ ป.ป.ช. พร้อมกับขอให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเชิงลึกของตัวเองด้วย

  • น.ต.ศิธา ทิวารี หรือ “ผู้พันปุ่น” เบอร์ 11

อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย สมาชิก “บ้านเลขที่ 111” โดย เป็นบุตรของนายมานพ ทิวารี และ ม.ร.ว.จารุวรรณ ทิวารี โดยเจ้าตัวเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 (ตท.24) โดยเป็นประธานรุ่น และเป็นนักเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 31 เคยรับราชการในสังกัดกองทัพอากาศ เป็นนักบินเครื่องบินขับไล่ F-5 และ F-16 นานกว่า 8 ปี

ก่อนจะเข้าสู่แวดวงการเมืองเมื่อพรรคไทยรักไทยกำลังก่อร่างสร้างตัวช่วงปี 2543 ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตคลองเตย อยู่ใต้รั้วชายคาของ “เจ้าแม่ กทม.” โดยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ติดกัน 2 สมัย เคยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ด้วย

“ผู้พันปุ่น” เคยเป็นประธานกรรมการบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์วอเตอร์” โดยในช่วงเจ้าตัวนั่งเก้าอี้บริหารอยู่นั้น เคยถูกร้องเรียนตรวจสอบ กรณีอนุมัติทำสัญญาซื้อขายน้ำกับเอกชนรายหนึ่ง เป็นระยะเวลาถึง 40 ปี มูลค่ารวม 5 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี น.ต.ศิธา เคยชี้แจงแล้วว่า การจัดทำสัญญาดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใส

ในมุมธุรกิจ “ผู้พันปุ่น” เคยเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 3 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ปัจจุบันเจ้าตัวยังเป็นกรรมการอยู่เพียง 1 แห่ง ได้แก่

บริษัท เบล็ส แอสเสท กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ทุนปัจจุบัน 400 ล้านบาท (ชำระแล้ว 300 ล้านบาท) ตั้งอยู่ที่ 609/154 ถนนนวมินทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

ปัจจุบันมี น.ต.ศิธา ทิวารี นายวิกิต ขจรณรงค์วณิช นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร นายภูษิต วงศ์หล่อสายชล นายชัยวัฒน์ โกวิทจินดาชัย นางสาวนิภา อภิรัตนรุ่งเรือง นายณัฐพงษ์ สุขเจริญไกรศรี เป็นกรรมการ

สำหรับงบการเงินล่าสุดของบริษัทแห่งนี้ แจ้งเมื่อครั้งยังเป็นบริษัทจำกัด เมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 742,617,311 บาท รายจ่ายรวม 666,448,665 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 130,927 บาท เสียภาษีเงินได้ 15,847,190 บาท กำไรสุทธิ 60,190,528 บาท

ส่วนบริษัทอีก 2 แห่งที่เคยปรากฏชื่อ “ผู้พันปุ่น” เป็นกรรมการ ได้แก่ บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) อีกแห่งคือบริษัท มาสเตอร์โฟน จำกัด แต่ปัจจุบัน น.ต.ศิธา มิได้เป็นกรรมการบริษัททั้ง 2 แห่งแล้ว

ผู้สมัครอิสระ 4 ราย แบ่งเป็น

  • นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8

ฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” อดีต รมช.คมนาคม และ รมว.คมนาคม รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหนึ่งในตัวแทน “รัฐบาล” ในการประชุมหาทางออกประเทศจากม็อบ กปปส. ตามกฎอัยการศึกระหว่างวันที่ 20-22 พ.ค. 2557 ที่สโมสรวิภาวดี อยู่ในวินาที “บิ๊กตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้น “ทุบโต๊ะ” ประกาศรัฐประหาร ก่อนถูกควบคุมตัวด้วย

“ชัชชาติ” มีบทบาทสำคัญในการคิดค้นนโยบายทางด้าน “คมนาคม” สมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” โดยเฉพาะแผนจัดการรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือที่เรียกกันว่า “สร้างอนาคตไทย 2020” โดยผลักดันให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของประเทศ อย่างไรก็ดีศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2557 มีมติว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายหนึ่งถึงกับเปล่งวาจาบนบัลลังก์ว่า “รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และเป็นไปได้ ควรให้ถนนลูกรัง หมดไปจากประเทศก่อน”

ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 นายชัชชาติ เคยเป็นอาจารญ์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไต่เต้าขึ้นสูงถึงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจัดการทรัพย์สิน เคยเป็นกรรมการ (บอร์ด) ในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง และเป็นกรรมการอิสระ ในบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่ซึ่งเจ้าตัวได้ทำงานในเวลาต่อมา

กระทั่ง “ชัชชาติ” ในฐานะนักวิชาการด้านคมนาคม ถูกเชิญเข้ามาให้คำปรึกษากระทรวงคมนาคม ยุคปลายรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร 2” และรัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” ก่อนจะได้รับการทาบทามทางโทรศัพท์จาก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มาเป็น รมช.คมนาคม และขยับขึ้นเป็น รมว.คมนาคม ในเวลาต่อมา

ในมุมทรัพย์สิน นายชัชชาติ เคยแจ้งกรณีเข้ารับตำแหน่ง รมช.คมนาคม เมื่อต้นปี 2555 หรือราว 10 ปีก่อน มีทรัพย์สินรวมคู่สมรส 50,531,762.33 บาท ไม่มีหนี้สิน โดยทรัพย์สินที่น่าสนใจขณะนั้นของ “ชัชชาติ” คือพระสมเด็จจิตรลดา 1 องค์ มูลค่า 1.2 ล้านบาท หลวงปู่ทวด 1 องค์ มูลค่า 5 แสนบาท เป็นต้น

  • พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6

เป็นอดีตผู้ว่าฯ กทม.คนล่าสุดที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่ง เรียนจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 30 (นรต.30) ได้รับฉายา “นายตำรวจมือปราบ” เพราะผ่านคดีสำคัญเช่น คดีสังหาร “โจ ด่านช้าง” คดีคาร์บอมพ์รถยนต์ “ทักษิณ ชินวัตร” หรือที่สื่อเรียกกันว่า “คาร์บ๊อง” คดีจับกุมประชา โพพิพิธ (กำนันเซี๊ยะ) และคดีจับกุม “จิ๊บ ไผ่เขียว” คดีวิสามัญ “โจ๊ก “ไผ่เขียว” เป็นต้น

ในช่วงปี 2550-2551 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) คาบเกี่ยวรอยต่อดูแลความสงบจากการชุมนุมของ “ม็อบพันธมิตรฯ” แต่ถูกโยกไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในเวลาต่อมา กระทั่งสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ถูกดันขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร. ยศ “พล.ต.อ.” ต่อมาถูกโยกเป็นรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2 ก่อนย้ายมาเป็นรักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 ก่อนจะเกษียณอายุราชการ มาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์

ถาวร เสนเนียม” อดีต ส.ส.สงขลา “ค่ายสะตอ” เคยเล่าเบื้องหลังสมัยเป็นแกนนำม็อบ กปปส.คุมการ์ดหลายพันคนว่า “บิ๊กวิน” สมัยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. คือบุคคลที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการ์ด และมวลชน กปปส. อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.อัศวิน ปฏิเสธเรื่องนี้ โดยอ้างว่าไม่เคยรู้จักคำว่า กปปส.

ทว่ามีชาวเน็ตตาดีหลายคนขุดคุ้ยรูป “บิ๊กวิน” ไปนั่งคุยกับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส. ในเต็นท์รับรองแกนนำม็อบมาแล้ว

“บิ๊กวิน” ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ขึ้นเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” เมื่อปี 2558 โดยนับเป็นผู้ว่าฯ กทม.จากการแต่งตั้งคนแรกนับตั้งแต่ปี 2533 โดยทำงานมาจนถึงช่วง มี.ค. 2565 ก่อนประกาศลาออก เพื่อลงสมัครชิงเก้าอี้ “เบอร์ 1 เสาชิงช้า” อีกสมัย

  • นายสกลธี ภัททิยกุล เบอร์ 3

มีชื่อเล่นว่า “จั้ม” เป็นบุตรของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่บกับ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า พปชร. ว่ากันว่า “เดอะจั้ม” แนบแน่บถึงกับเรียกกันเป็น “อา-หลาน” กับ “บิ๊กป้อม” เลยทีเดียว

ส่วนภริยา “เดอะ จั้ม” ก็ไม่ธรรมดา เพราะนันท์นัดดา ภัททิยกุล (สกุลเดิม พานิชกุล) เป็นบุตรสาวของ “เสธ.จง” พล.อ.จงศักดิ์ พานิชกุล เตรียมทหารรุ่นที่ 9 (ตท.9) อดีตประธานคณะที่ปรึกษา รมว.กลาโหม และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของ “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยเป็นเพื่อนกับทั้ง “ทักษิณ ชินวัตร” และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “บิ๊กป้อม” เช่นเดียวกัน

สกลธี เคยเป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีตแกนนำ กปปส. เคยเป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2551 สมัยระบบเลือกตั้ง “พวงใหญ่” มีสกลธี ภัททิยกุล อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคกล้า) และบุญยอด สุขถิ่นไทย ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ สกลธี พ่ายแพ้ให้กับ “สุรชาติ เทียนทอง” ส.ส.พรรคเพื่อไทย

ในมุมทรัพย์สิน “จั้ม สกลธี” เคยแจ้งต่อ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชี ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2555 หรือเกือบ 10 ปีที่แล้ว ว่า มีทรัพย์สินรวมคู่สมรส 19,657,766 บาท ไม่มีหนี้สิน

แบ่งเป็นของ “เดอะ จั้ม” มีทรัพย์สิน 14,597,859 บาท ได้แก่ เงินสด 1.2 ล้านบาท เงินฝาก 596,162 บาท เงินลงทุน 2,802,947 บาท ที่ดิน 3,288,752 บาท บ้าน 1 หลัง 5 ล้านบาท รถยนต์ 3 คัน 1.5 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 2.1 แสนบาท เป็นปืน 3 กระบอก

ส่วนนันท์นัดดา ภัททิยกุล (สกุลเดิม พานิชกุล) คู่สมรส มีทรัพย์สิน 4,699,425 บาท ได้แก่ เงินสด 6 แสนบาท เงินฝาก 2,099,475 บาท รถยนต์ 1 คัน 1.2 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น 8 แสนบาท เป็นแหวนเพชร 1 วง ส่วนบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ขณะนั้น) มีทรัพย์สิน 360,371 บาท

  • น.ส.รสนา โตสิตตระกูล เบอร์ 7

เป็นนักเคลื่อนไหวรณรงค์ปัญหาด้านสุขภาพ และสิทธิผู้บริโภค มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงการทุจริต กรณีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2541 จนนำไปสู่การไต่สวนของ ป.ป.ช. มีการชี้มูลความผิด “รักเกียรติ สุขธนะ” อดีต รมว.สาธารณสุข กรณีแจ้งทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ กรณีรวยผิดปกติ 233 ล้านบาท และกรณีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าทีราชการ ในการเรียกรับสินบน 5 ล้านบาทจากบริษัท ต่อมาปี 2546 ศาลพิพากษาจำคุกนายรักเกียรติ 15 ปี และยึดทรัพย์ทั้งหมด

ในทางการเมือง “รสนา” ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กทม. ครั้งแรกเมื่อปี 2549 โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 4 แต่ไม่ทันได้ปฏิบัติหน้าที่ก็เกิดรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 เสียก่อน ต่อมาในปี 2551 จึงลงสมัครอีกครั้ง และได้รับชัยชนะเป็น ส.ว.กทม. คนแรกที่คะแนนเสียงท่วมท้นกว่า 743,397 คะแนน มากที่สุดในประเทศ (ขณะนั้น)

น.ส.รสนา ยังคงเคลื่อนไหวในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคเรื่อยมา รวมถึงการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของภาครัฐหลายประเด็น โดยเฉพาะการผูกขาดด้านพลังงาน และการแปรรูป กฟผ. เป็นต้น โดยภายหลังรัฐประหารปี 2557 “รสนา” เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย