ปิดจ็อบ "เรือดำน้ำ-โดรน" ซัพพอร์ต "ประยุทธ์" สู้ศึกซักฟอก
"กองทัพเรือ" กำลังจะได้ข้อยุติ "เรือดำน้ำ" ลำแรกขาดเครื่องยนต์ หลังทำหนังสือเชิญ บริษัท CSOC ของจีนมาชี้แจงภายในเดือน เม.ย.นี้ ขณะที่ อากาศยานไร้นักบิน รอ พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติ แบบ Hermes 900 ของอิสราเอล ภายใน 2 สัปดาห์
“กองทัพเรือ” เร่งดำเนินการหาข้อยุติ 2 โครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ให้แล้วเสร็จ ก่อน “ฝ่ายค้าน”จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ช่วงเดือน พ.ค.นี้
ทั้ง เรือดำน้ำลำแรกที่ประสบปัญหาขาดเครื่องยนต์ และการจัดหาอากาศยานไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle : UAV ) หรือ โดรน มูลค่า 4,100 ล้านบาท หลังถูกครหาไม่โปร่งใส
ขณะนี้ กองทัพเรือ ได้ทำหนังสือถึงบริษัท CSOC ของจีน ที่เป็นผู้ขายเรือดำน้ำให้ไทย และได้รับการตอบรับว่า จะจัดส่งผู้แทนเดินทางมาประเทศไทยในเดือนเมษายนนี้ เพื่อชี้แจงความคืบหน้าการจัดหาเครื่องยนต์ MTU396 ของ เยอรมนี มาติดตั้งในเรือดำน้ำไทยตามสัญญาที่ระบุไว้
ภายหลัง เยอรมนีมีนโยบายระงับการส่งออก (Embargo Policy) ซึ่งกำหนดให้เครื่องยนต์ดีเซลเรือดำน้ำ เป็นสินค้าที่อยู่ในรายการควบคุมการส่งออก ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องยนต์ อะไหล่ หรือเครื่องยนต์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเยอรมัน ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาล จนเกิดผลกระทบต่อการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำลำแรกของไทย
โดยก่อนหน้านี้ จีนได้ยื่น 2 ข้อเสนอให้กองทัพเรือไทย พิจารณาด้วยการมอบเรือดำน้ำมือสองฟรี 2 ลำ ให้นำมาใช้ฝึกก่อน ในระหว่างรอจัดหาเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนี หรือ เปลี่ยนมาติดตั้งเครื่องยนต์ที่จีนผลิตเอง โดยให้บริษัทเยอรมนีออกใบรับรองให้
แต่กองทัพเรือไทย ปฏิเสธรับทั้ง 2 ข้อเสนอ พร้อมยืนยันความต้องการตามทีโออาร์ที่ทำเอาไว้ตามสัญญาเดิม หลังพิจารณาแล้วว่า ไม่คุ้มค่า เพราะต้องใช้งบประมาณพอสมควรในการปรับปรุง ยืดอายุเรือดำน้ำมือสองทั้ง 2 ลำ และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของกำลังพลที่ปฏิบัติงานหากเปลี่ยนเครื่องยนต์
“ภายในเดือนเมษายนนี้ เรือดำน้ำลำแรกจะได้ข้อสรุปทั้งหมด ว่าจะสามารถเดินหน้าต่อตามทีโออาร์ สัญญาเดิม หรือจะเป็นโมฆะ ยกเลิกสัญญา รวมถึงหาทางออกในการแก้ไขปัญหา เพื่อรักษาผลประโยชน์กองทัพเรือไว้ให้มากที่สุด” แหล่งข่าวกองทัพเรือ ระบุ
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า “กองทัพเรือ” จะรับข้อเสนอเรือดำน้ำมือสองฟรี 2 ลำ หากจีนไม่สามารถเจรจากับเยอรมนี จนนำไปสู่การยกเลิกสัญญา แต่มีเงื่อนไขว่า จีนต้องปรับปรุงยืดอายุการใช้งานให้มีสภาพดีที่สุด และติดตั้งระบบอาวุธ พร้อมใช้งานทันที เมื่อเดินทางถึงไทยในปี 2567 ภายใต้กรอบวงเงิน กว่า 7,000 ล้าน (เงินค่างวดเรือดำน้ำลำแรกที่จ่ายไปแล้ว)
ขณะที่ โครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบิน แบบเพดานบินปานกลาง ระยะบินไกล หรือ MALE (Medium-altitude Long-endurance) มูลค่า 4,100 บาท โดยกองทัพเรือ ได้เลือกแบบ Hermes 900 ประเทศอิสราเอลนำเสนอไปยังกระทรวงกลาโหม รอการอนุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม คาดว่าอย่างช้าไม่น่าจะเกิน 2 สัปดาห์ รู้ผล
สำหรับโครงการนี้ เป็นโครงการคาบเกี่ยว ริเริ่มในยุค พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร. ที่ต้องการจัดหาอากาศยานไร้นักบินแบบเพดานบินปานกลาง ระยะบินไกล หรือ MALE (Medium-altitude Long-endurance) 3 ระบบ ใช้ลาดตระเวนทางทะเล ในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละทัพเรือภาค
โดยมี 2 บริษัทจากจีนเสนอราคาเข้ามา และหนึ่งในนั้นเป็นบริษัทขายเรือดำน้ำ และตามกระแสข่าวในขณะนั้น “พล.ร.อ.ลือชัย” มีแนวโน้มจะเลือกแบบที่มาจากจีน จึงได้จัดวางตัวบุคคล เพื่อสานต่อหลังเกษียณอายุราชการ
ต่อมาโครงการดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ในปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 4,100 ล้านบาท เป็นงบผูกพัน 4 ปี แบ่งจ่ายเป็น 4 งวด คือ 820 ล้านบาท 1,200 ล้านบาท 1,200 ล้านบาท และ 880 ล้านบาท ตามลำดับ
ล่าสุด ในยุค พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. “กองทัพเรือ” ได้พิจารณาเลือกแบบ Hermes 900 จากประเทศอิสราเอล พร้อมเสนอไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่ออนุมัติต่อไป
“หากโครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบิน ที่กองทัพเรือเลือกแบบแล้ว ผ่านความเห็นชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถตอบทุกข้อสงสัยของ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จากเดิมที่เคยชี้แจงเป็นกรอบกว้าง ๆ เนื่องจากขั้นตอนดำเนินการ ยังไม่แล้วเสร็จ พร้อมกันนี้ ก็ได้รวบรวมข้อมูล หลักฐานของ 2 โครงการ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะเกิดขึ้นเร็ววันนี้” แหล่งข่าวกองทัพเรือ ระบุ
กว่า 6 ปีที่ “กองทัพเรือ” ตกเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายการเมือง นับตั้งแต่เดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ในเรื่องความไม่โปร่งใส และความคุ้มค่า ลามไปสู่การจัดหาอากาศยานไร้นักบินและโครงการอื่นๆ
ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ข้อมูล-หลักฐาน ที่มีอยู่จะทำให้ "กองทัพเรือ" จบปัญหา "เรือดำน้ำ -อากาศยานไร้นักบิน" หรือ จะกลายเป็นมหากาพย์โจมตี "พล.อ.ประยุทธ์" อย่างไม่รู้จบ