เปิดเงินรางวัลแจ้ง "เบาะแส" จับทุจริต "เลือกตั้ง กทม."
เปิดยอดเงินรางวัลแจ้ง "เบาะแส" จับทุจริต "เลือกตั้ง กทม." สูงสุดไม่เกิน 1 ล้าน เตือนซื้อสิทธิขายเสียง"ผู้ให้-ผู้รับ" ผิดหนักด้วย
นับถอยหลัง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) วันอาทิตย์ที่22 พ.ค.65
ภายหลังปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 4 เม.ย.65 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ทั้งหมด 31 คน แบ่งเป็นชาย 25 คน และหญิง 6 คน จาก 6 พรรคการเมือง และ 25 ผู้สมัครอิสระ โดยผู้สมัครที่อายุมากที่สุด 75 ปี และอายุน้อยที่สุด 43 ปี
ส่วนผลการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ก. มีผู้สมัครรวม 382 คน โดยสำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. มากที่สุด ได้แก่ เขตดุสิต และเขตสวนหลวง จำนวน 10 คน สำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. น้อยที่สุด จำนวน 8 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์เขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตบางพลัด เขตดินแดง เขตบางซื่อ และเขตคันนายาว โดยมีผู้สมัครจำนวน 6 คน
ขณะที่ผู้สมัคร ส.ก.อายุน้อยที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบัง อายุ 25 ปี และอายุมากที่สุด ได้แก่ เขตราชเทวี อายุ 82 ปี
การเลือกตั้ง กทม. 2565 ถึงแม้จะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเช่นเดียวกับ อบจ. อบต. หรือเทศบาล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.จะเข้มข้นกว่าการเลือกตั้งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา จากกระแสการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566
ทำให้การ "เลือกตั้ง กทม." วันที่ 22 พ.ค.65 กำลังถูกจับตามองไปที่ความโปร่งใสในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด
ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ย้ำเตือนการหาเสียง "ผู้สมัครเลือกตั้ง" ให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม พร้อมกับการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งผ่านแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า "ตาสับปะรด"
โดยเฉพาะการซื้อสิทธิ-ขายเสียง เป็นการกระทำความผิดที่มีโทษหนักทั้ง "ผู้ให้-ผู้รับ" โดยมีโทษจำคุกอยู่ที่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมากถึง 20 ปี
การเลือกตั้ง กทม.2565 เป็นหนึ่งในระบบเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งอยู่ภายใต้ "พระราชบัญญัติ(พรบ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562" ซึ่งเปิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะตาม "มาตรา 138" บัญญัติถึงกระบวนการสืบสวนไต่สวน และคุ้มครองพยานไว้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดนั้น
ส่วน "เงื่อนไข" ที่ กกต.กำหนด "ผู้ชี้เบาะแส" ได้รับรางวัลจะมีต่อเมื่อข้อมูลหรือข้อเท็จจริงท่ีมาแจ้ง เป็นสาระสำคัญของการตรวจสอบ และก่อให้เกิดเป็นผลโดยตรง ดังนี้
1.กกต.มีคำสั่งให้มีการเลือกต้ังใหม่ หรือสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว
2.ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัคร หรือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกต้ัง แล้วแต่กรณี
3.ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกต้ังของ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
4.กกต.มีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงประชามติใหม่
สำหรับ ช่องทางรับแจ้งและข้อมูลต่างๆ ของจะถูกเก็บเป็นความลับ โดยสามารถแจ้งได้ที่
1.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด
2.ฝ่ายปฏิบัติการข่าว โทร. 02-141-8050 หรือ 02-141-8201 หรือ 02-141-2611
3.สายด่วน กกต. โทร. 1444 กด 2
4.แจ้งทางเว็บไซต์ โดยกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม
5.แอปพลิเคชันตาสัปปะรด
ที่สำคัญใน "ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร และการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง พ.ศ.2562" ผู้ชี้เบาะแสท่ีมีสิทธิได้รับรางวัลตามระเบียบนี้ ตามอำนาจที่ กกต.จัดตั้งงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร ค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร และการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแส โดย กกต.จะจัดสรรเงินจาก "กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง" หรือจากรายได้ของสำนักงานเพื่อใช้จ่ายตามระเบียบนี้ได้
ประเด็นสำคัญตาม "ระเบียบกกต. ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารฯ" ฉบับนี้ ได้ตีกรอบการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร และการชี้เบาะแส รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบให้ดาเนินการ "เป็นความลับ" และคำนึงถึง"ความปลอดภัย" ของผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร ผู้ชี้เบาะแส เจ้าหน้าที่ และบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร ผู้ชี้เบาะแส และเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญ
ขณะที่ ตัวเลขเงินรางวัลการแจ้งเบาะแสทุจริตเลือกตั้งนั้น "กกต." แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1.ผู้สมัคร "ผู้ว่าฯกทม." หากประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริต หาก กกต.มีคำสั่งให้มีการ "เลือกตั้งใหม่" ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และหากนำไปสู่ "ระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว" จะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
หรือหากศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีคำสั่งให้ "เลือกตั้งใหม่" จะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท และหากมีคำสั่ง "เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" ผู้แจ้งเบาแสจะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท
2.ผู้สมัคร "สมาชิกสภา กทม." หากประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริต หาก กกต.มีคำสั่งให้มีการ "เลือกตั้งใหม่" ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หากมีคำสั่งให้ "ระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วราว" จะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
หรือหากศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีคำสั่งให้มีการ "เลือกตั้งใหม่" จะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และหากมีคำสั่ง "เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
ทั้งหมดเป็นกระบวนการสอบสวน ไต่สวน แจ้งเบาะแส เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบการ "เลือกตั้งท้องถิ่น" ให้ยุติธรรม โดยเฉพาะยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน คัดสรรผู้แทนที่เข้ามาทำหน้าที่อย่างโปร่งใสตลอดวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปีเต็ม