สรุปไฮไลต์ดีเบต 6 แคนดิเดต “ผู้ว่าฯ กทม.” โชว์วิสัยทัศน์เปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ
สรุปไฮไลต์ เวทีดีเบต 6 แคนดิเดต “วิโรจน์-ดร.เอ้-ผู้พันปุ่น-บิ๊กวิน-สกลธี-ชัชชาติ” ชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯ กทม.” โชว์วิสัยทัศน์-นโยบาย เปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ
นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.65" ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 ที่พาร์ค พารากอน ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน นักศึกษาหลักสูตร มหานคร รุ่น 9 ร่วมกับ “เครือเนชั่น” จัดงาน “เปิดฉากศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. 65” โดยเปิดเวทีให้ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) รวม 6 ราย ที่ติดอันดับตามผลโพล มาแสดงวิสัยทัศน์ รวมถึงนโยบายในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล เบอร์ 1 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4 น.ต.ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 11 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อิสระ เบอร์ 6 นายสกลธี ภัททิยกุล อิสระ เบอร์ 3 และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อิสระ เบอร์ 8 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี 22 และสื่อในเครือเนชั่นทั้งหมด
- วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
- แก้ไขค่าธรรมเนียมในการเก็บขยะ โดยยกตัวอย่างถึงค่าจัดการการเก็บขยะ 7 พันล้านบาท แต่กลับเก็บได้จริงแค่ 500 ล้านบาท
- แก้ไขงบประมาณที่ไม่เป็นธรรม โดยอ้างว่ามีการประเคนงบก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้นายทุน ในขณะที่ลูกจ้าง กทม.กลับไม่ได้รับงบประมาณบรรจุ
“แค่การบริหาร การแก้ปัญหา และทำให้เมืองนี้มีความหวังไม่ได้ อย่าคิดว่า กทม.เป็นแค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ที่นี่ ทั้งในและนอกระบบ ถ้าผู้ว่าฯ กทม.ไม่พร้อมเป็นตัวแทนคน กทม. เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ลำพังแค่บริหารที่ดีภายใต้การยกเว้นให้กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน นายทุนเครือข่ายอุปถัมภ์ บริหารอย่างไรก็ผลักภาระให้กับประชาชน การรณรงค์ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร วนเวียนกับปัญหาเดิม ๆ ไม่จบไม่สิ้น” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า เมืองที่ตนและผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคก้าวไกลอีก 50 คนต้องการจะเห็นคือ มันไม่ได้ยากเย็น นั่นคือการแก้ไขปัญหา กทม.ต้องไม่วนลูปเดิม กทม.ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ไม่ใช่ตกอยู่กงกรรมกงเกวียนปัญหาเดิม ๆ ต่อไป ถ้าตนกระจายงบราชการรวมศูนย์ให้ประชาชนได้ จะไม่มีผู้ว่าฯ กทม.คนไหนกล้าสวมงบไปประเคนให้ผู้รับเหมานายทุนอีกต่อไป ถ้าตนเติมสวัสดิการให้ประชาชนได้แล้ว จะไม่มีผู้ว่าฯ กทม.คนไหนกล้าปรับลดสวัสดิการของประชาชนอีก เพื่อผลักดันให้ประเทศนี้เป็นรัฐสวัสดิการ ทำให้ทุกคนมีความฝัน
“ถ้าผู้ว่าฯชื่อวิโรจน์ คืนกฎกติกาเป็นธรรม คน กทม. ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มทุนนิยม เครือข่ายนายทหาร คสช. นายทุนอื่น ๆ มันจะไม่มีผู้ว่าฯ กทม.หน้าไหนกล้าสยบยอมนายทุนเหล่านี้ และแก้กติกาให้คน กทม. ถูกทำนาบนหลังคนอีกต่อไป นี่คือการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ไม่ใช่แค่การบริหาร แต่เจตจำนงแห่งอนาคตใหม่มันต้องมี” นายวิโรจน์ กล่าว
- สกลธี ภัททิยกุล
นายสกลธี ระบุว่า ตนเคยอยู่แวดวงการเมือง กทม. มา 15 ปี เคยเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตใน กทม. เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.เกือบ 4 ปี ทั้งนี้คน กทม.ไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มา 7-8 ปีแล้ว เลือกทั้งที กทม.ต้องดีกว่าเก่า
สำหรับนโยบายของนายสกลธี คือการ “เข้าใจอดีต มองเห็นอนาคต” โดยแบ่งการดูแลคน กทม.ออกเป็น 3 ชั่วอายุคน ได้แก่
- วัยเด็กและเยาวชน นำงบประมาณปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนสังกัด กทม.ให้ดีกว่าเดิม ให้เด็กได้เรียนใกล้บ้าน
- วัยทำงาน เพิ่มพื้นที่ Co-Working Space ให้คนรุ่นใหม่ ทำนโยบาย “ล้อ ราง เรือ” เพื่อระบบขนส่งสาธารณะดีกว่าเดิม
- ผู้สูงวัย เสริมสร้างอาชีพ และระบบสาธารณสุขต้องเข้าถึงทุกบ้าน มีเทคโนโลยีคอยช่วยเหลือ
“ต้องกล้าจัดสรรงบใหม่ กระจายทั่วถึงให้เกิดผลดีที่สุด นโยบายต้องไม่กระจุกส่วนกลาง หลายเขตน้ำประปาไม่มีใช้ หลายเขตถนนยังเป็นทางลูกรังอยู่เลย ทลายข้อจำกัดกฎหมายล้าหลัง อุปสรรคในการพัฒนา หมู่บ้านนิติบุคคล เอกชน งบลงไม่ได้ ต้องแก้ข้อบัญญัติกฎหมาย คน กทม. เสียภาษีเท่ากันทุกคน ต้องมีสิทธิเท่ากัน ใช้เทคโนโลยีมาช่วย ปรับวิธีคิดใหม่ หารายได้ให้ กทม. บางครั้งขยะให้ เอกชน ทำ ไม่จำเป็นต้องให้ กทม. เก็บ เหลือเงินเก็บจำนวนมาก เอาไปทำถนนได้อีก” นายสกลธี กล่าว
- พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
พล.ต.อ.อัศวิน เปิดฉากเล่าว่า เคยเป็นผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ทราบดีถึงปัญหาใน กทม. รวมถึงเคยเป็นผู้ว่าฯ กทม.มา 5 ปี จากการแต่งตั้งโดย คสช. หลายคนถามว่า ทำไมอยู่มา 5 ปี 5 เดือน 5 วัน ปัญหายังแก้ไม่จบ ต้องบอกว่า ปัญหาบางอย่างสลับซับซ้อน ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ใน 3-7 เดือน ย้อนหลังไปดู 20-30 ปีก่อน มีคูคลองสกปรก ขยะเยอะ มีแต่วาทกรรมดี ๆ นโยบายสวยหรู แก้ไขได้หรือไม่ แต่ตนเอามาปฏิบัติจนแก้ไขได้จริง
“ผมนักปฏิบัติ ย้อนไปดูสิเคยมีใครทำหรือไม่ ดูได้คลอง ผมเป็นคนทำคนแรก และเชื่อว่าหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะทำต่อ แต่พวกท่านอีก 5 คนได้เป็น ขอให้ทำ อย่าเถียงแต่วาทกรรม นโยบายสวยหรูดูเท่ แต่ไม่ปฏิบัติ มันไร้สาระจริง ๆ” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
พล.ต.อ.อัศวิน ระบุอีกว่า การดูแลเมือง กทม. นโยบายสำคัญหรือไม่ ตนไม่ใช่นักนโยบาย เขียนไม่เป็น แต่หาคนเก่งมาช่วยกันเขียนได้ นำไปสู่การปฏิบัติ ตนเป็นนักประสานงาน ผู้ว่าฯ กทม. เป็นการบ้าน ต้องดูแลลูกบ้าน มันไม่ใช่การเมือง ต้องดูแลตั้งแต่เกิด เหมือนที่นายสกลธีพูดไว้ มันเป็นการบ้าน ไม่ใช่การเมือง
สำหรับนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ทำอย่างไรให้คน กทม.มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น
- การรักษาพยาบาล ไม่ต้องเดินทางไปไกล ไปใกล้ ๆ ก็เข้าโรงพยาบาลได้ ขยายเครือข่ายครอบคลุม 4 มุมเมือง เพิ่มศักยภาพศูนย์สาธารณสุขชุมชน
- เรื่องคูคลอง ไม่ใช่แค่ที่ระบาย แต่ต้องพัฒนาด้วย รวมถึงการเพิ่มสวนสาธารณะ
- ระบบจราจรขนส่ง “ล้อ ราง เรือ” มีการเพิ่มเรือ EV หรือเรือพลังงานสะอาดแล่นในคลองแล้ว
“อันไหนดี ๆ ก็เลียนแบบฝรั่งมา อันไหนดี ๆ ผมเอามาใช้หมดอ่ะ เขาไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ผมเอามาปฏิบัติทั้งหมด” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
พล.ต.อ.อัศวิน ระบุทิ้งท้ายด้วยว่า “เลือกอัศวิน ไม่ต้องนับ 1 ใหม่ กทม. จะเป็นเมืองปลอดภัย กทม. จะมีคุณภาพชีวิตจะดีขึ้น ท้ายที่สุดคือจะต้องสงบสุข”
- น.ต.ศิธา ทิวารี
น.ต.ศิธา เปิดสไลด์พร้อมอธิบายว่า กทม.ไม่สามารถสร้างได้ด้วยคน ๆ เดียว พร้อมกับยกตัวอย่างความผูกพันกับ กทม. ใน 2 มิติ
มิติแรก เติบโต เรียน ทำงาน อยู่ใน กทม.ไม่ต่ำกว่า 50 ปี ผ่านผู้ว่าฯ กทม.มาแล้วกว่า 10 คน นโยบายแต่ละสมัยแทบไม่ต่างกัน นโยบายสวยหรูอย่างไร แต่ถ้ายังบริหารแบบรัฐราชการ ประชาชนอยู่ข้างล่าง เปรียบผู้มารองรับเหมือนขวาน ค้อน ที่ฟันลงไปที่ประชาชน
มิติที่สอง เคยเป็น ส.ส.เขตคลองเตย ทราบปัญหาหลายอย่าง แต่ความคิดเห็นของคนในพื้นที่ไม่เคยได้รบัการตอบสนองอย่างถูกต้องเลย ดังนั้น กทม.จึงไม่สามารถสร้างได้ด้วยคน ๆ เดียว แต่ผู้อาศัยใน กทม.คือคนสร้างเมือง
น.ต.ศิธา เปรียบ “ประชาชน” ต้องเป็นเหมือน “กรรไกร” คมทั้งบน และล่าง เพื่อให้เสียงสะท้อนจากชาวบ้านถึงผู้บริหาร กทม.
สำหรับนโยบายของ น.ต.ศิธา เช่น
- การนำเสนอระบบ Blockchain ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำ กทม.เป็นส่วนราชการนำร่อง บริหารโดยประชาชน เพื่อให้มีส่วนร่วม
- การทำ “แนวราบ” ร้องเรียนผ่าน Blockchain มีการยืนยันตัวตน เสนอข้อคิดเห็นได้
- การทำ “แนวตั้ง” ประชาชนที่เป็น NGO ที่เป็นเสียงสะท้อนชาวบ้าน แต่รัฐไม่เคยสนใจ คือคมกรรไกรอันล่าง ที่สอดรับกับมีดอีโต้ของภาครัฐ เพื่อให้ฟังเสียงของประชาชน
- ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดงบประมาณของ กทม. ในทุกส่วน
- ประชาชนมีส่วนเคลื่อน ปลด ย้าย ข้าราชการ กทม. ทุกระดับชั้น
- ประชาชนให้คะแนนผู้ว่าฯ กทม. รองผู้ว่าฯ กทม. ผู้บริหาร กทม. และข้าราชการทุกระดับชั้นได้
นอกจากนี้ยังมีนโยบาย “สร้างคน สร้างงาน สร้างเมือง” โดยลงทุนกับการ “สร้างคน” มากที่สุด น.ต.ศิธา เชื่อว่า โรงเรียนใน กทม. สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงความเป็นเลิศด้านการศึกษา แต่ขอความเสมอภาคทางการศึกษาก่อน เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ให้โรงเรียนได้อยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องให้ลูกไปโตในรถ สร้างโอกาสให้คน กทม. เปลี่ยนหน่วยงานอย่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่เป็นแดนสนธยาของ กทม. มาเป็นหน่วยบริการประชาชน เปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการ กทม.ทั้งหมด เป็นข้ารับใช้ประชาชน
น.ต.ศิธา ยังเสนอให้หาบเร่แผงลอยอยู่กับประชาชนได้ ดัน กทม.เป็น “มหานครสตรีทฟู้ด” เปลี่ยนทัศนคติ “เทศกิจ” จากคนกำกับดูแล เป็นคนสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าทำการขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะมีการยกเลิกกฎหมายกว่า 1,000 ฉบับ ที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของคน กทม.อีกด้วย
“คนรุ่นใหม่ เกิดขัดแย้งซ้าย ขวา ทางการเมืองมาแล้ว ตอนนี้เกิดความขัดแย้งแนวบน ล่าง ผู้ใหญ่ กับคนรุ่นใหม่แตกแยกกัน เด็กบอกจะย้ายประเทศ ผู้ใหญ่บอกไม่รักชาติให้ออกไป แบบนี้ไม่ได้ เราเป็นตัวเชื่อมคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเราตาย คนรุ่นใหม่พัฒนาประเทศ ต้องสร้างเมืองไทยให้ดีที่สุด ให้คนรุ่นใหม่ทำมาหากิน เราจะเป็น digital hub ของไทย และนำไทยเป็น digital hub คนทั่วโลก กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เราจะเป็น unicorn city ของโลก” น.ต.ศิธา กล่าว
- ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นายชัชชาติ เล่าว่า “กลุ่มเพื่อนชัชชาติ” คิดกันอย่างตกผลึกว่าอยากให้ กทม.เป็นอะไร สุดท้ายสรุปได้ว่า กทม.ต้องเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ถามว่าง่ายหรือไม่ ก็ไม่ง่าย เพราะคำว่าน่าอยู่ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เมื่อลองศึกษาตัวอย่างจากทั่วโลกแล้ว เชื่อว่ามี 9 ด้าน 9 ดี ถ้าทำครบ หรือด้านใดด้านหนึ่งแตะชีวิตของทุกคน จะทำให้เมืองเราน่าอยู่ขึ้น มีทั้งหมดกว่า 200 นโยบาย หัวใจสำคัญคือการบริหารจัดการที่ดี แบ่งเป็น
- ปลอดภัยดี คือการรับเรื่องร้องเรียนจุดเสี่ยง ถ้ามีแก้ไขทันที
- สุขภาพดี ยกระดับศูนย์สาธารณสุข คลินิกโรคคนเมือง
- สิ่งแวดล้อมดี เช่น การปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ประกาศสงครามกับฝุ่น เปลี่ยนขยะเป็นรายได้
- เรียนดี คืนครูให้กับโรงเรียน เปิดโรงเรียนเป็นพื้นที่ให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์วันเสาร์-อาทิตย์
- บริหารจัดการดี
- เดินทางดี กทม.ต้องเป็นศูนย์กลางดำเนินการควบคุมไฟจราจร ดูเส้นทางรถเมล์
- โครงสร้างดี แก้ไขผังเมือง ทำโครงสร้างตามผังเมืองให้ทัน
- เศรษฐกิจดี เป็นเรื่องใหญ่ กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำตัวเป็น “ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน”
- สร้างสรรค์ดี เปิดพื้นที่ให้เด็กรุ่นใหม่ทำงาน สร้างธุรกิจใหม่ ๆ
“นโยบายใน 9 ด้าน เริ่มทำได้ทันที เราทำได้มี กทม.มีข้าราชการ และลูกจ้าง 8 หมื่นคน มี 16 สำนัก มีงบ 8 หมื่นล้านบาท นโยบายของเรา 200 นโยบายกระจายตามสำนัก วันแรกทุกนโยบายก้าวหน้าได้ทันที นโยบายที่ทำใช้ไปนาน ๆ นโยบายระยะสั้น 100 วันเห็นผลได้ หัวใจคือนโยบายต้องตอบโจทย์พวกเราทุกคน เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับพวกเราทุกคน” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการต่าง ๆ ใน กทม.เราเชื่อในแนวคิดว่า อยากทำน้อย แต่ได้เยอะ ลงทุนให้คุ้มค่า เช่น กับป้ายหาเสียง ทำน้อย ทำเล็ก ติดน้อย แต่ได้เยอะ เพราะตอบโจทย์ ดังนั้นทำอย่างไรให้ กทม.ทำน้อยแต่ได้เยอะ ลงทุนให้เหมาะสม ที่สำคัญการทำโครงการต้องโปร่งใส ไม่เส้น ไม่ส่วย
“มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเห็นนโยบาย อ่านละเอียดแล้วบอกผมว่า นโยบาย 9 ดี ไม่เพ้อฝัน ทำได้จริง ใช้งบไม่มาก และครอบคลุมทุกเรื่องของพวกเรา มาช่วยกันสร้าง ผมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันทั้งหมดให้เป็นเมืองน่าอยู่” นายชัชชาติ กล่าว
- สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
นายสุชัชวีร์ หรือ “ดร.เอ้” ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหา กทม.หนักหนาสาหัส และซับซ้อนจริง ๆ จากการเดินเท้ามา 50 เขต อย่างไรก็ดีผู้ว่าฯ กทม.คนที่จะมาถึงนี้ มีเวลาแค่เพียง 4 ปี ไม่ได้ยาวนาน ถ้าหากมีนโยบายเยอะไปหมด จะให้ทำแต่งานรูทีนเป็นไปไม่ได้
“ดร.เอ้” ยังชูแคมเปญ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” โดยยืนยันว่าเป้าหมายภายใน 4 ปี กทม.ต้องเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย เป็นต้นแบบของอาเซียน คำว่าสวัสดิการ เห็นชัดว่าทุกวันนี้ทุกคนไม่ได้เท่าเทียมกัน คำว่าสวัสดิการไม่ใช่ถูก หรือฟรี แต่กลับไม่มีคุณภาพ โรงเรียน ระบบสาธารณสุขไม่มีความเท่าเทียม แต่ที่สำคัญที่สุดคือ กทม.ต้องเมืองสวัสดิการ เพื่อให้ประชาชนทุกคนยืนขึ้นมาได้
“ดร.เอ้” ยืนยันหลักใหญ่ใจความสำคัญของนโยบายตัวเองคือ กทม.ต้องเป็นเมืองทันสมัย เป็นเมืองสวัสดิการที่คนจับต้องได้ โดยตั้งใจจะเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” ที่ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาเมือง โดยมีนโยบายหลัก 2 ด้านเปลี่ยนแปลง กทม. ได้แก่
- เปลี่ยนชีวิตคน กทม. สิ่งที่หนักหนาสาหัสสุดคือเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องต้องดูแลเต็มที่ รวมถึงเรื่องสาธารณสุข แต่ละชุมชนต้องมีหมอใกล้บ้าน
- เรื่องการศึกษา ซึ่งทำเรื่องนี้มาตลอด มั่นใจปัญหารากฐานของคน กทม.คือการเข้าถึงการศึกษา ดังนั้นต้องให้ กทม.เป็นเมืองการศึกษาที่ดี
- การจราจร ต้องจัดการให้เบ็ดเสร็จ มีเทคโนโลยีจะทำได้ จะได้ไม่ต้องส่งต่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป
- ปัญหาน้ำฝนคือปัญหาใหญ่ของ กทม. ถ้าผู้ว่าฯ กทม.ไม่ทำ อีก 10 ปี จะไม่มีแผ่นดินอยู่
- เรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่น PM 2.5
- แก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้เบ็ดเสร็จ
“ถ้าสุชัชวีร์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. เดือนแรกจะเห็นผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ ลงไปต่อสู้กับโควิด-19 วันนี้รู้ถ้าเกิดแก้ปัญหาโควิดไม่ได้ จะไม่มีอะไรดีเลย ถ้าต่อสู้อย่างจริงจัง อันดับแรกเศรษฐกิจดีขึ้นทันที ดีตามมาคือนักท่องเที่ยวกลับมา หมอ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ได้มีเวลาช่วยประชาชนในเรื่องโรคอื่น ๆ และงบ กทม. จะได้ไปใช้เรื่องอื่นที่จำเป็นไม่น้อยกว่ากัน” นายสุชัชวีร์ กล่าว
ดร.เอ้ ยืนยันว่า ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่การเมือง แต่เป็นตำแหน่งเฉพาะ ต้องเน้นความสำคัญเรื่องอันดับแรก เรื่องความเห็น ความมุ่งมั่นของผู้นำ ประสบการณ์ตลอด 30 ปี อยากให้ กทม. เปลี่ยน พร้อมและจำเป็นต้องเปลี่ยนด้วยความรู้ วิศวกรรมถึงเปลี่ยนได้