หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล รับมอบเหรียญเกียรติยศ
“The Thomas Hart Benton Mural Medallion” จาก Michael A. McRobbie บำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์ ทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ รับมอบเหรียญเกียรติยศ “The Thomas Hart Benton Mural Medallion” จาก Michael A. McRobbie อธิการบดี มหาวิทยาลัยอินดีแอนา รัฐบลูมมิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Indiana University-IU) ณ โรงแรมพลาซา แอทธินี กรุงเทพฯ รอยัล เมอริเดียน เมื่อค่ำวานนี้ ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่นของ Kelley School of Business มหาวิทยาลัยอินดีแอนา ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย บำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์ ทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนตามพระราชปณิธานของสมเด็จย่ามาตลอดชีวิตการทำงาน นับเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดที่นายกสภามหาวิทยาลัยอินดีแอนาจะมอบแด่บุคคลภายนอกได้
หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดากล่าวว่า “รางวัลอันทรงคุณค่านี้ไม่ใช่รางวัลสำหรับผมแต่เพียงผู้เดียว ผมสามารถยืนอยู่ตรงนี้ได้ในวันนี้ เพราะวิสัยทัศน์และพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จย่าของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ สมเด็จย่าทรงอุทิศพระองค์ตลอดพระชนม์ชีพเพื่อการสร้างชาติ โดยแก้ปัญหาความยากจนและสนับสนุนโอกาสในการประกอบอาชีพที่มั่นคงให้ประชาชนชายขอบ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ เพศ หรือศาสนา รางวัลนี้เป็นของสมเด็จย่าครับ”
เหรียญเกียรติยศ Thomas Hart Benton Mural Medallion เป็นรางวัลที่ยกย่องเชิดชูบุคคลอันเป็นแบบอย่างโดดเด่นตามค่านิยมหลักของมหาวิทยาลัยและประชาคมวิชาการสากล เพื่อประกาศเกียรติคุณบุคคลที่มีผลงานยอดเยี่ยมด้านสาธารณประโยชน์และการบริการซึ่งเกี่ยวเนื่องกับมหาวิทยาลัยอินดีแอนา หรือรัฐอินดีแอนา และเป็นผู้ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานสำคัญๆ ให้แก่โครงการของมหาวิทยาลัย อันเป็นประโยชน์แก่การวิจัยหรือมีส่วนสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัย ดังเช่นที่ ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล เป็น
อธิการบดี IU กล่าวว่า “ม.ร.ว. ดิศนัดดา เป็นบุคคลผู้เป็นแบบอย่างของการอุทิศตนทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ และยังเป็นผู้นำในการให้และการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างจริงจังมายาวนาน โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน และด้วยการปฏิบัติตนที่น่ายกย่องเช่นนั้นเอง จึงได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนทั่วสารทิศได้ปฏิบัติตามต่อไป”
และในบ่ายวันเดียวกันนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยอินดีแอนา ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามเกี่ยวกับจุดประสงค์ในการมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ โดยมี ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ร่วมตอบข้อซักถาม พร้อมเผยถึงโอกาสในการร่วมมือด้านการพัฒนาองค์ความรู้ระหว่าง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับ มหาวิทยาลัยอินดีแอนา ในอนาคต
Michael A. McRobbie อธิการบดีมหาวิทยาลัยอินดีแอนา ชึ้แจงถึงการเดินทางมาเยือนประเทศไทยพร้อมเหล่าคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยอินดีแอนาในครั้งนี้ว่า ส่วนหนึ่งเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์กันมายาวนานกว่า 50 ปี เช่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า (National Institute of Development Administration-NIDA) รวมถึงต่อยอดความร่วมมือด้านการศึกษากับหลายสถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อธิการบดี IU เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยอินดีแอนา ติด 1 ใน 20 จากมหาวิทยาลัย 1,200 แห่งในสหรัฐอเมริกา ที่มีนักเรียนต่างชาติเป็นจำนวนมากที่สุด อีกทั้งยังเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติในแง่มุมต่างๆ อย่างกว้างขวาง เปิดสอนภาษาต่างชาติมากถึง 70 ภาษา ซึ่งมากกว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกา
แต่อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ยังคงมีน้อยมาก ทั้งๆ ที่ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่สำคัญมากของโลก ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจ ทางมหาวิทยาลัยเห็นถึงความสำคัญในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิภาคนี้มากขึ้น และต้องการจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาอเมริกันได้เรียนรู้ จึงจัดตั้งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมกันนั้นยังเปิดสอนภาษาไทยโดยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย
และเพื่อดำเนินการขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลึกซึ้งและครบมิติมากขึ้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยอินดีแอนา และเหล่าคณาจารย์จึงเดินทางมาประเทศไทย เพื่อศึกษาดูงาน และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักงานที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและจัดหาองค์ความรู้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ประเทศไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่กล่าวได้ว่าเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งของอาเซียน นอกจากนั้นยังเป็นประเทศที่มีศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยมากกว่าพันคน และยังคงมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับมหาวิทยาลัยอินดีแอนาด้วยดีเสมอมา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยอินดีแอนายังเผยถึงการไปศึกษาดูงาน ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันเสาร์ที่ 2- วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมาว่ารู้สึกทึ่งกับสิ่งที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทำเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่า และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนบนดอยตุง รวมถึงเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทำต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี
ม.ร.ว. ดิศนัดดา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอินดีแอนาผู้จบการศึกษาเมื่อ ค.ศ. 1964 กล่าวว่า “ การที่มหาวิทยาลัยอินดีแอนามาเมืองไทยถือเป็นเรื่องดีมาก เขาเป็นมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา แต่เลือกเมืองไทยเป็น hub ของอาเซียนที่จะทำงานด้านการศึกษาต่างๆ เขายอมรับว่าเขาไม่รู้เรื่องอาเซียน แล้วเขาก็อยากรู้มากขึ้น เพราะเห็นความสำคัญของภูมิภาคนี้ การที่เขาอยากมาติดต่อสัมพันธ์กับเราแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างและมีวิสัยทัศน์ไกล”
ต่อประเด็นของการร่วมมือกันระหว่าง IU และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในอนาคต ม.ร.ว. ดิศนัดดา เผยว่าอธิการบดีและคณาจารย์จาก IU สนใจในแนวคิดและวิธีการทำงานของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นอย่างมาก หลังจากที่ได้ไปศึกษาดูงานที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
“สิ่งที่เขาเรียนรู้จากเราคือการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากนี้ไปทั้งโลกจะต้องทำเรื่อง SDGs คือ Sustainable Development Goals ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของโลก แต่สมเด็จย่าทรงทำมาตั้งสามสิบกว่าปีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำมาห้าสิบกว่าปีแล้ว โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทำงานพัฒนาที่ยั่งยืนต่อเนื่องมาโดยตลอด นี่คือสิ่งที่เขาเรียนรู้จากเรา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นหนึ่งในผู้ลงมือทำที่ดีที่สุด ส่วน IU ก็เป็นหนึ่งในที่ที่ดี่สุดทางด้านวิชาการ ซึ่งถ้าทั้งสองแห่งมาทำงานร่วมกันได้ มันก็จะยิ่งใหญ่ นั่นเป็นสิ่งที่ผมหวัง อาทิตย์หน้าผมจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยอินดีแอนาอีกครั้ง เพื่อพบปะผู้บริหารและเพื่อนเก่า ซึ่งคงจะได้พูดคุยเกี่ยวกับอนาคตร่วมกัน ผมมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จและผลลัพธ์จากกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยอินดีแอนา และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่จะเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงกับชุมชนต่างๆ ทั่วโลกต่อไปครับ”