เตือน! ขนมพ่นควัน เสี่ยงกระเพาะทะลุ สูดดมมากอาจขาดออกซิเจน
การทานอาหารที่มีส่วนผสมของไนโตรเจนเหลวสิ่งสำคัญคือต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยหมดไปเสียก่อนแล้วจึงรับประทาน
ขนมควันทะลัก ปลอดภัยจริงหรือ!! ปัจจุบันในธุรกิจอาหารมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับกระบวนการผลิตอาหารมากมายส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มความแปลกใหม่และดึงดูดให้ลูกค้าสนใจ ล่าสุดจากการแชร์เรื่องราวทางสื่อออนไลน์ถึงการที่ร้านค้านำไนโตรเจนเหลวมาใช้ในการทำขนมเพิ่มอรรถรสในการกินด้วยการพ่นควันพวยพุ่งออกอย่างสนุกสนาน
แต่ก็มีกระแสข่าวที่บอกว่าเคยมีคนต่างชาติทานอาหารที่มีไนโตรเจนเหลวเข้าไปแล้วกระเพาะทะลุ ซึ่งล่าสุด ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดชอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ให้คำแนะนำถึงเรื่องดังกล่าวว่า จริงๆ แล้วไนโตรเจนเป็นก๊าซที่ไม่มีอันตรายเพราะในอากาศที่เราหายใจกันอยู่มีปริมาณก๊าซไนโตรเจนสูงมากที่สุดถึง 79 เปอร์เซ็นต์
“ส่วนไนโตรเจนเหลวก็คือก๊าซไนโตรเจนที่ถูกทำให้อยู่ในรูปแบบละอองน้ำที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่พอสมควรทำให้แสงผ่านไม่ได้เราเลยเห็นเป็นหมอกควันที่สัมผัสแล้วจะรู้สึกเย็นๆ เพราะมีความเย็นที่สูงมากมีจุดเดือดที่จะเปลี่ยนจากของเหลวกลายเป็นไอที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียสจริงๆ แล้วการนำไนโตรเจนเหลวมาใช้กับอาหารไม่มีอันตรายเลยเพราะจะระเหยไปหมด ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ในการถนอมอาหาร แต่การใช้กับอาหารนั้นต้องดูที่ความบริสุทธิ์ของไนโตรเจนเหลวที่ร้านค้านั้นเลือกซื้อมาใช้ เพราะมีหลายคุณภาพหลายราคา ไนโตรเจนเหลวที่บริสุทธิ์จริงๆ 99.99 เปอร์เซ็นต์ ราคาจะสูงและไม่มีสิ่งเจือปน แต่ถ้าเป็นไนโตรเจนเหลว 98 เปอร์เซ็นต์อาจจะมีสิ่งเจือปนอย่างอื่นที่เราไม่รู้ว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่รวมอยู่ก็ได้ ดังนั้นทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคอาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ว่าอะไรก็ตามที่เราใช้ สัมผัส และกินเข้าไปนั้นคืออะไร มีประโยชน์หรือมีโทษอย่างไร เพื่อจะได้ระมัดระวัง และปฏิบัติให้เหมาะสม อย่างการทานอาหารที่มีส่วนผสมของไนโตรเจนเหลวสิ่งสำคัญคือต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยหมดไปเสียก่อนแล้วจึงรับประทาน”
นอกจากนั้น ดร.วรวรงค์ ยังได้เตือนผู้จำหน่ายและผู้บริโภคขนมในลักษณะดังกล่าว ใน 2 ประเด็นคือ การสัมผัสโดยตรงกับไนโตรเจนเหลวในขณะที่ยังเป็นของเหลว และการสูดดมก๊าซไนโตรเจนว่า “ถ้าไนโตรเจนมาสัมผัสกับร่างกาย ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อภายในอวัยวะต่างๆ ในสถานะที่ยังเป็นของเหลวอยู่สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ผิวหนังถูกเผาไหม้ คล้ายๆ กับการนำมือไปวางบนกระทะร้อนๆ ลองนึกภาพตามเหมือนกับเรานำหยดน้ำเพียงหนึ่งหยดใส่ลงไปในกระทะร้อนๆ น้ำก็จะระเหยหายไปในทันที แต่ถ้าเรานำน้ำหนึ่งแก้วซึ่งมีปริมาณมากขึ้นใส่เข้าไปในกระทะร้อนๆ น้ำจะระเหยไม่สามารถระเหยหมดในทันทีฉะนั้นถ้ามีน้ำที่ค้างอยู่บนกระทะที่ร้อนจัดมันก็จะกลายเป็นอุณหภูมิที่เกิดการเผาไม้ เช่นเดียวกันกับไนโตรเจนเหลวถ้าสัมผัสผิวหนัง หรือรับประทานเข้าไปในปริมาณมากๆ ในสถานะที่ยังเป็นของเหลวอยู่ไนโตรเจนเหลวก็ไม่สามารถระเหยหายไปได้ในทันทีทำให้เกิดการเผาไหมบริเวณผิวหนังได้ เรียกว่าNitrogen Burn หรือการเผาไหม้จากไนโตรเจนเหลวส่วนการสูดดมก๊าซไนโตรเจนก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ควันที่ระเหยออกมาของไนโตรเจนเหลวก็ไม่ควรสูดดมในปริมาณมาก เพราะในอากาศมีก๊าซไนโตรเจนสูงมากอยู่แล้ว ถ้าหากสูดดมเข้าไปเพิ่มอีกอาจทำให้ร่างกายของเรามีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ เพราะร่างกายของมนุษย์สร้างขึ้นมาให้รับไนโตรเจนในอากาศได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว และรับออกซิเจนเพียง 20เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งหากยิ่งสูดดมไนโตรเจนเข้าไปมากขึ้นอีกจะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติและเป็นอันตรายต่อสมองได้//