ยูนิเซฟ ส่งแคมเปญ #ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่
เผยประสบการณ์กับเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เส้นทาง 11 ปีมุมนมแม่ ความสำเร็จที่เริ่มจากคำว่า “ให้”
“นมแม่เป็นภูมิคุ้มกันแรกสำหรับลูก และมีสารอาหารชั้นยอดที่ไม่มีอะไรเทียบเคียงได้ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา และมีผลต่อไอคิวและความสามารถในการเรียนรู้เมื่อเติบโตขึ้น”
ข้อความสั้น ๆ ที่ส่งพลังให้มนุษย์แม่ยิ่งนัก
ผู้หญิงหลายคนเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ก็คาดหวังที่จะได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อส่งสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกน้อย แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้หญิงต้องออกมาทำงานนอกบ้านเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ทำให้โอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็น้อยลงไปด้วย
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ สนับสนุนเวิร์คกิ้งมัม ส่งแคมเปญ#ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ รณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดมุมนมแม่ให้กับพนักงานหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร สามารถจัดเก็บน้ำนมระหว่างวันเพื่อนำกลับไปให้ลูกกินที่บ้านได้
องค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก รวมทั้งภาคีเครือข่ายนมแม่ในประเทศไทย แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยต่อเนื่องจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น แต่ในประเทศไทย ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี พ.ศ. 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีทารกเพียงร้อยละ 23.1 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่หยุดให้นมแก่ลูก คือการต้องกลับไปทำงาน โดยที่สถานที่ทำงานส่วนใหญ่ยังขาดนโยบายที่ชัดเจนและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น มุมนมแม่ และเป็นโชคดีที่เราได้รับเชิญจากยูนิเซฟ เข้าไปเยี่ยมมุมนมแม่ของ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หนึ่งในองค์กรต้นแบบมุมนมแม่ ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการพนักงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550
เส้นทาง 11 ปีมุมนมแม่
คุณอรทิพย์ อ้อทอง และคุณนันท์นภัส เสรีฐิติวรโชติ 2 ผู้บริหารของ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ให้การต้อนรับและเล่าให้ฟังถึงที่มาและการดำเนินการของมุมนมแม่ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน และในอนาคตข้างหน้า
มุมนมแม่ของ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2550 มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้เข้ามาเยี่ยมชมบริษัท เห็นว่าพนักงานเราส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ควรที่จะส่งเสริมให้พนักงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และยังได้สอนวิธีการบีบน้ำนมให้กับพนักงานแม่ลูกอ่อน (พนักงานท่านนั้นก็กลายมาเป็นผู้ใช้บริการคนแรก ตัดสายสะดือแจ้งเกิดห้องนมแม่ เมื่อบริษัทเปิดให้บริการ) และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน สำนักงานสาธารณสุข จ. สมุทรปราการ และหน่วยงานคุ้มครองแรงงาน ได้เชิญชวนให้สถานประกอบการในพื้นที่จัดตั้งมุมนมแม่ขึ้นในสำนักงาน
**ก่อนหน้าที่จะมีมุมนมแม่นั้น บริษัทก็จัดหลักสูตรอบรมให้กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เมื่อทราบว่าพนักงานกำลังจะมีบุตร ก็จะเชิญเข้ารับการอบรมหลักสูตรดังกล่าว จะเกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวเป็นคุณแม่การดูแลสุขภาพเด็กตั้งแต่แรกเกิด การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อีกทั้งเรื่องการศึกษา และการวางแผนทางการเงิน เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นหลักสูตรยอดนิยมของพนักงาน สมัครใจเข้าอบรมโดยไม่ต้องบังคับแต่อย่างใด**
ทางฝ่ายทรัพยากรบุคคล จึงรวบรวมข้อมูลและนำไปเสนอ คุณอนุสรณ์ มุทราอิศ ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งท่านก็อนุมัติและไฟเขียวให้ลงมือทำทันที ทำให้ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เป็นบริษัทแรกในนิคมอุตสหากรรมบางปู ที่มีมุมนมแม่ไว้บริการพนักงาน
เมื่อมีนโยบายชัดเจน ทุกอย่างจึงดำเนินการอย่างรวดเร็วจัดประชุมทำความเข้าใจและแจ้งให้ทุกหน่วยงานในองค์กรเข้าใจ ภายใน 1 เดือน มุมนมแม่ก็เกิดขึ้นในห้องพยาบาล ซึ่งมีพนักงานแม่ ๆ ทั้งหลายเข้ามาใช้บริการกันอย่างคึกคัก จนสถานที่คับแคบไม่พอให้บริการ ผู้บริหารทราบก็ใจดี หาสถานที่เหมาะสมให้ใหม่ ส่วนเรื่องปัญหากับหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน ที่ไม่เข้าใจที่พนักงานจะต้องใช้เวลางานมาเก็บน้ำนม เราจะส่งทีมจิตอาสาของบริษัท ที่จะเข้าไปคุยทำความเข้าใจ โดยเน้นถึงความสำคัญของนมแม่ที่จะเกิดประโยชน์กับลูก ซึ่งเด็กๆ เหล่านั้นก็คือลูกหลานเดลต้า เป็นอนาคตของพวกเรานั่นเอง และเมื่อบริษัทประกาศนโยบายสิทธิมนุษยชน ที่ผู้บริหารเน้นถึงความสำคัญของครอบครัว ปัญหาเหล่านี้จึงหมดไป
ห้องนมแม่ของ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ถือเป็นสังคมเล็ก ๆ ที่อบอุ่น จากรุ่นสู่รุ่น มีอาสาสมัครประสานงาน ดูแลห้องนมแม่ จัดตารางเวรทำความสะอาด บันทึกข้อมูลต่างๆ รวมทั้งการแบ่งปันเทคนิคต่าง ๆ และให้คำปรึกษาที่เกี่ยวกับการดูแลลูกและครอบครัว แม่ที่ใช้บริการห้องนมแม่นานที่สุดคือ 2 ปี และบางคนก็ใช้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ลูกคนแรกและคนต่อ ๆ มา
จากโครงการนำร่องมาสู่องค์กรต้นแบบ
ปัจจุบัน เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบโครงการมุมนมแม่ เป็นองค์กรพี่เลี้ยงให้ทั้งหน่วยงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และหน่วยงานที่อยู่ในนิคมเดียวกันอีกด้วย จึงมีองค์กรทางภาครัฐและเอกชน เข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้การจัดการห้องนมแม่ของเราอยู่เป็นประจำ เพราะห้องนมแม่ของเรานอกจากคำนึงถึงคุณประโยชน์ของน้ำนมแม่แล้ว เรายังผนวกแนวคิดเกี่ยวกับรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย หากเราเลี้ยงลูกด้วยนมผง หรือนมปรุงแต่งอื่น ๆ กระบวนการผลิต และวัตถุดิบ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ สร้างความสิ้นเปลืองและส่งผลกระต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ในขณะที่น้ำนมแม่นั้นมีแต่ประโยชน์และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ในอนาคตอันใกล้ บริษัทกำลังดำเนินการพัฒนาห้องนมแม่ขึ้นใหม่ ออกแบบให้สวยงาม ทันสมัยและสอดคล้องกับการใช้งาน โดยคำนึงบรรยากาศที่จะส่งเสริมให้แม่เก็บน้ำนมได้มากขึ้นนั่นเอง และยังเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับหน่วยงานอื่น ๆ ที่จะเข้ามาเยี่ยมชม ให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้กำลังพิจารณาถึงเรื่องการขนส่งน้ำนมแม่ไปให้ลูกที่ส่งไปให้ครอบครัวที่บ้านเกิดดูแล เพื่อให้การบริการห้องนมแม่อย่างครบวงจร
ทีมนมแม่ วินัยเท่านั้นที่เราต้องการ
ณ ห้องนมแม่ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เราได้มีโอกาสพบกับแม่ ๆ ที่กำลังเข้ามาใช้บริการ รวมทั้งผู้ใช้บริการรุ่นพี่ที่ผันตัวมาเป็นอาสาสมัครดูแลห้องนมแม่ ซึ่งต่างก็เปิดใจมาพูดคุยกับเราอย่างสนุกสนาน ธนัญธิดา ฐิภารัตน์ รุ่งทิพย์ สุมาลี ทัศนีย์ เวิร์คกิ้งมัม เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ นั่งคุยกับเรา ในบรรยากาศกำลังเก็บน้ำนมไปด้วย สาว ๆ กลุ่นนี้ส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์ในการใช้บริการห้องนมแม่เป็นประจำ จากลูกคนแรกมาถึงลูกคนที่สอง แม่บางคนให้ลูกดื่มนมแม่จนถึง 2 ขวบครึ่ง คือหยุดให้ตอนเริ่มเข้าเรียน แม่ทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวเรื่องสุขภาพของลูก เด็กนมแม่จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่สบายมากสุดก็เป็นไข้ตัวร้อน และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก เฉลี่ยขั้นต่ำประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน ที่ไม่ต้องเสียค่านมผง หรือค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถตีเป็นจำนวนเงินได้
จากความผูกพันกันในห้องนม และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงเกิดเป็นไลน์กลุ่มนมแม่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่พูดคุย แบ่งปันประสบการณ์ ให้กำลังใจและส่งข่าวสารที่จำเป็น ให้สมาชิกกลุ่มนมแม่ของเรา อย่างเช่น เทคนิคเรียกน้ำนม ก็ต้องเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น น้ำขิง น้ำเต้าหู้หัวปลี ผัดขิง งดอาหารดอง และเคล็ดลับสำคัญคือ ดื่มน้ำอุ่น งดน้ำเย็นโดยเด็ดขาด เป็นต้น
นอกจากนี้ แม่จะต้องมีวินัยในการปั้มนม ช่วงหลังคลอด 3 เดือนแรก จะต้องปั้มทุก 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ทุก 3-4 ชั่วโมง และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าทำ ๆ หยุด ๆ หายไปสัก 3-4 วัน น้ำนมก็จะหายไปด้วย ถ้าแม่มีวินัย ปั้มนมแม่ตามกำหนด ส่วนใหญ่ก็จะมีน้ำนมพอกับความต้องการของลูกและเก็บเป็นสต๊อคไว้ได้อีก นอกจากนี้นมแม่ยังมีของขวัญสำคัญ คือการให้นมแม่ จะช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักได้รวดเร็ว แถมสุขภาพยังแข็งแรงอีกด้วย
“ขอขอบคุณครอบครัว และบริษัท ที่สนับสนุนและให้เราได้มีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้เรารู้สึกว่า บริษัท คือครอบครัวของเรา จากความใส่ใจและตั้งใจที่จะพัฒนาห้องนมแม่มาตลอด ถ้าขาดผู้สนับสนุนส่วนใดส่วนหนึ่ง ความตั้งใจของเราคงไม่ประสบความสำเร็จขนาดนี้” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนมแม่สรุปปิดท้ายให้อย่างซึ้งใจ
เราเดินออกมาจากห้องนมแม่ด้วยรอยยิ้มและความสุข และก่อนที่จะลากลับ คุณนันท์นภัส ได้บอกกับเราว่า “การสร้างมุมนมแม่ในสถานที่ทำงานไม่ใช่เรื่องยาก องค์กรที่มีวิสัยทัศน์จะต้องมีมุมนี้ จัดพื้นที่ให้เหมาะสมกับการให้บริการ ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตหรูหรา จัดพื้นที่ให้เหมาะสม ถูกสุขอนามัยก็เพียงพอ ขอให้นิยามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือการให้คุณค่ากับชีวิค และสร้างอนาคตของชาติ ถือเป็นการสร้างความดีที่ยิ่งใหญ่มาก ลงมือทำตั้งแต่วันนี้ ต้องการขอคำแนะนำเรื่องห้องนมแม่ ติดต่อเดลต้า อีเลคโทรนิคส์มาได้ เรายินดีเสมอที่จะแบ่งปันประสบการณ์ให้ค่ะ”
อัตราการลาออกของพนักงานหลังคลอด เดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 แต่เมื่อบริษัทมีห้องนมแม่ และกิจกรรมอื่นๆ อัตราการลาออกลดลง เหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมสนับสนุนแคมเปญ #ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ในสังคม สะท้อนให้ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน และผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายขององค์กรต่อไป โดยสามารถติดตามข่าวสารแคมเปญนี้ ได้ที่ Facebook: UNICEF Thailand และองค์กรที่สนใจต้องการทราบรายละเอียดหรือคำแนะนำในการเริ่มต้นจัดมุมนมแม่ในสถานประกอบการ สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.unicef.or.th/breastfeeding/workplace
จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ พบว่า
๐ ทารกร้อยละ 39.9 ได้รับนมแม่ใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
๐ ทารกร้อยละ 23.1 ได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก
๐ ทารกร้อยละ 33.3 ได้รับนมแม่ต่อเนื่องจนถึงอายุ 1 ปี
๐ เด็กร้อยละ 15.6 ได้รับนมแม่ต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ปี
นอกจากนี้ ตัวชี้วัดอื่นที่เกี่ยวกับการให้อาหารทารกและเด็กเล็กก็ยังน่าเป็นห่วง เช่น ทารกได้รับอาหารเสริมตามวัย เช่น กล้วยและข้าว ก่อนวัยที่ควรได้รับ โดยพบว่าบางรายเริ่มตั้งแต่อายุ 1 เดือน