นักวิชาการเสนอดันกฎหมายจราจร และกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์
นิติศาสตร์ ม.รามฯ คึกคัก ร่วมผลักดันการลดอุบัติเหตุการใช้รถใช้ถนนเป็นวาระแห่งชาติ
เวทีเสวนานิติศาสตร์ ม.รามฯ คึกคัก ร่วมผลักดันการลดอุบัติเหตุการใช้รถใช้ถนนเป็นวาระแห่งชาติ ด้านผู้เสวนาทนายดังและอดีตสนช. เสนอให้มีการบังคับใช้พ.ร.บ.จราจรทางบกและพ.ร.บ.แอลกอฮอล์ให้เกิดประสิทธิภาพควบคู่กับการสร้างวินัยจราจร สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดเสวนาทางวิชาการ เนื่องในวันรพี หรือวันบิดาแห่งกฎหมายไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี โดยการเสวนาจัดขึ้นในหัวข้อ “กฎหมาย..ยาแรงลดอุบัติเหตุ? ทำไมลดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ได้ กับความท้าทายการบังคับใช้กฎหมาย”
ซึ่งผู้เสวนาประกอบด้วย พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, นายประพันธ์ คูณมี ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแอลกอฮอล์, นายแพทย์แท้จริง ศิริพาณิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, นายรณยุธ ตั้งรวมทรัพย์ อดีตรองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และนายปัญญา สิทธิสาครศิลป์ ทนายความหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด โดยมี นายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย กรรมการบริหารสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 400 คน จัดขึ้น ณ ห้องประชุม อาคารศรีศรัทธา ตึกคณะรัฐศาสตร์ 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
การป้องกันอุบัติเหตุทางรถยนต์ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ผู้เสวนาในครั้งนี้มีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลผู้ใช้รถใช้ถนน ในด้านของความปลอดภัย ที่มีพระราชบัญญัติหลัก ๆ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกออล์ พ.ศ.2551 นั้น แม้จะมีข้อบังคับที่เมื่อทำผิดแล้วก็มีบทลงโทษรุนแรงไม่น้อยไปกว่าในหลายประเทศ แต่ก็มีการปฎิบัติและพฤติกรรมหลายประการ ที่ทำให้เจตนารมย์ของการร่างและบังคับใช้กฎหมายยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย ยังไม่ลดลงอย่างที่ตั้งใจ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนของคนไทยเฉลี่ยที่วันละ 60 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถิติการเสียชีวิตที่มากกว่าโรคภัยที่ร้ายแรง
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ กล่าวว่า สถิติการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นสิ่งที่น่ากลัว โดยในส่วนของผู้เสนอและบังคับใช้กฎหมายได้หาวิธีที่จะมาปกป้อง แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะแม้กระทั่งนโยบายของรัฐบาลเองก็ยังไม่ถูกบรรจุเป็นเรื่องหลักที่ต้องทำ
“ทุกวันนี้มีใครบ้างในแต่ละวันไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องใช้รถ มีใครมั่นใจได้บ้างว่าต่อให้ขับรถดีแล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุ ที่ถูกใครก็ไม่รู้มาชน แล้วอย่างดีมายกมือไหว้ ขอโทษว่าเมื่อคืนดื่มหนัก รถผมมีประกัน ซึ่งคนตายไปแล้วไม่ฟื้นนะ มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคน อยากให้สังคมตระหนักถึงปัญหานี้” พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ในส่วนผู้เกี่ยวข้องกับการเสนอและใช้กฎหมาย พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า ได้มีการศึกษาและปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องหนึ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นาน คือการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก อาทิ การกำหนดให้มีระบบบันทึกคะแนนความประพฤติของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ที่หากทำผิดจนถูกตัดคะแนนไปจนหมด จะถูกพักใช้ใบขับขี่ครั้งละ 90 วัน และถ้าทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี จะถูกเสนอให้สั่งเพิกถอนใบขับขี่
“ผมใช้เวลามา 3 ปี ในการผลักดันเรื่องนี้ ไม่ใช่ตำรวจอยากยึดใบอนุญาต แต่อยากปรับพฤติกรรมให้ผู้ขับรถรู้ตัว เพราะเมื่อทำผิดถูกตัดคะแนน คุณต้องมีพฤติกรรมแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ทำอีก โอกาสที่จะได้คะแนนหายไปก็จะคืนมา ถ้าเราไม่ปรับพฤติกรรมกัน ก็เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาได้ ตามกฎหมายจราจรเห็นไฟเหลืองแล้วฝ่าคือผิด แล้วดูพฤติกรรมทุกวันนี้ เห็นไฟเหลืองแล้วทำอย่างไรกัน ยิ่งเร่งความเร็วให้พ้น แล้วเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง 40% ของผู้เสียชีวิตคือหัวหน้าครอบครัว
เช่นนี้ถึงเวลาต้องดิ้นรนผลักดันให้กฎหมายดีขึ้นหรือยัง” พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าว นายแพทย์แท้จริง ศิริพาณิช กล่าวว่า เป็นผู้รณรงค์เรื่องเมาไม่ขับมากว่า 20 ปี เคยคิดเลิกสิ่งที่ทำมาครั้งหนึ่งเมื่อสิบปีมาแล้ว ด้วยเหตุที่ถูกคนเมาสุราขับรถชน แต่เมื่อมาคิดให้ดีว่า ขนาดมีการรณรงค์แล้วอุบัติเหตุยังเกิดขึ้นได้กับตัวเอง แล้วถ้าไม่ทำเลยเหตุการณ์จะเลวร้ายไปอีกแค่ไหน ซึ่งสิ่งที่ผ่านมาในการร่วมดำเนินการ ไม่ว่าการจัดกิจกรรม หรือการร่วมผลักดันการออกพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ทำได้เพียงส่วนหนึ่งแต่ยังขาดหัวใจหลัก
“การที่ยังมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุตัวเลข 60 คนต่อวันนั้น ผมว่านอกจากทุกท่านต้องไว้อาลัยแล้วยังต้องภาวนาด้วยว่าไม่ให้เกิดกับตัวเองหรือครอบครัว กฎหมายนั้นใช้ได้กับทุกประเทศ แต่ผมบอกได้เลยว่าไม่ใช่กับประเทศไทย เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์กว่า คือเงิน คดีดัง ๆ เรื่องอุบัติเหตุจราจร มีใครติดคุกบ้างหรือยัง แล้วใครจะกลัวกัน นี่คือความเสียหายที่ประเทศเรายังก้าวไม่ข้าม เรากำลังพูดถึงเรื่องความเป็นความตาย ดังนั้นใครจะรับผิดชอบ ผมว่าก็ต้องให้นายกรัฐมนตรีของประเทศ ไม่ใช่ผมโยนว่าอะไร ๆ ก็ต้องนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าผู้นำไม่ทำแล้วใครจะทำ ถ้าไม่เอามาเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลต้องทำ เขียนเป็นนโยบายมาให้ชัดเจนจะเอาอย่างไร เป้าหมายต้องมี” นายแพทย์แท้จริง กล่าว
นายรณยุธ ตั้งรวมทรัพย์ กล่าวว่า การลดอุบัติเหตุนั้น นอกจากกฎหมายซึ่งก็น่าเห็นใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติทุกคนแล้ว ผู้ใช้รถใช้ถนนก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการปรับพฤติกรรมของตัวเอง ถึงวันนี้หลายฝ่ายจะเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่แก้ไขปรับกันได้ยาก แต่ก็ต้องทำถึงแม้จะไปเห็นผลกับคนไทยในรุ่นหลัง ๆ
“อยู่ที่คน อยู่ที่วินัย ความหวังอยู่ที่เยาวชนรุ่นลูกรุ่นหลานที่จะต้องดีขึ้น ซึ่งสร้างกันได้ตั้งแต่ในโรงเรียน ต้องมีการสอน มีการอบรม” นายรณยุธ กล่าว
พ.ร.บ.แอลกอฮอล์เข้มแข็งแต่ปฏิบัติเป๋
ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2551 แต่ผ่านมา 10 ปี ก็เริ่มมีเสียงสะท้อนว่าเจตนารมณ์การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ทำให้อุบัติเหตุลดลง หรือแม้แต่ไม่ได้ทำให้มีผู้ดื่มสุราน้อยลง โดยนายประพันธ์ คูณมี ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเมื่อครั้งจัดทำร่างพระราชบัญญัตินี้ กล่าวว่า เจตนาของการออกกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พร้อม ๆ ไปกับเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชน แต่ผลปรากฏว่าไม่ได้ให้ทั้งการลดอุบัติเหตุและลดการดื่มสุราลดลงมาเลย เพราะว่าพอกฎหมายมีผลบังคับใช้ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ไปเน้นไล่จับคนกินคนดื่ม แต่ไม่ได้จริงจังกับการควบคุม ไม่ให้คนเหล่านี้ออกมาขับขี่รถยนต์บนท้องถนน
“สิ่งที่เราได้คืนมาคืออะไรครับ อุบัติเหตุไม่ลด คนดื่มไม่ลด แต่บรรยากาศการท่องเที่ยว โอกาสทางธุรกิจ เสียหายไป นักท่องเที่ยวมาเมืองไทยเขาไม่รู้หรอกว่าวันนี้เราจะหยุดขาย วันนี้เราจะขายถึงกี่โมง แล้วห้ามโฆษณา รายใหญ่ ๆ เจ้าใหญ่ ๆ เขาก็ไม่ได้เดือดร้อน โน่นเขาก็ไปซื้อโฆษณาที่ต่างประเทศ เงินไหลออกอีก พวกที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นติดกฎหมาย โฆษณาไม่ได้ ก็ไม่ได้เกิด ทำลายภูมิปัญญาชาวบ้านอีก ผมไม่เห็นการสร้างวินัยที่จะไม่กินไม่ดื่ม หรือกินดื่มแล้วรู้จักควบคุมตัวเอง เพราะกฎหมายนี้มีเรื่องรางวัลนำจับหรือเปล่า เลยมุ่งไปแต่เรื่องนี้” นายประพันธ์ กล่าว
นายประพันธ์ ยังกล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ได้กลายเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ ที่ทำไปในเชิงจับผิด ซึ่งรางวัลนำจับให้ผู้ชี้เบาะแส 60% และรางวัลนำจับ 80% ให้ผู้นำจับเอง อาจเป็นส่วนหรือไม่ที่ทำให้การใช้กฎหมายไม่ต้องกับวัตถุประสงค์ ซึ่งกฎหมายยังจำเป็นต้องมี แต่จะใช้กฎหมายนั้นอย่างไรเป็นสิ่งที่ต้องทบทวน ที่ผ่านมาตีความกันไม่ชัด เพราะรัฐบาลไม่ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ
“ดังนั้นต้องผลักดันให้กฎหมายจราจร และกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์เป็นวาระแห่งชาติ ให้มีเป้าหมายให้ชัดเจน โดยในเรื่องการควบคุมแอลกอฮอล์นั้น หากจะมีเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเว้นการบังคับใช้ในสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ได้หรือไม่ แล้วไปมุ่งกันที่พฤติกรรมของคน ไปแก้ที่คน ผมเองผมให้น้ำหนักการเกิดอุบัติเหตุมาจากผู้ขับขี่ มากกว่าเจ้าหน้าที่ เพราะทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด หาทางซิกแซ็กให้ตัวเองรอดให้ได้ เรื่องกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข” นายประพันธ์ กล่าว
นายปัญญา สิทธิสาครศิลป์ กล่าวว่า ปัญหาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ อยู่ที่การตีความ ซึ่งไปมุ่งกันที่คนขาย แต่ไม่ใช่มุ่งแก้ที่คนเมา เมาแล้วจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไร ยิ่งไปทำผิดแล้วการลงโทษต้องแค่ไหน
“อย่างกฎหมายบอกว่า ห้ามขาย ห้ามซื้อ แต่ไม่ได้ห้ามคนเมาเข้าไป ก็ไม่ทำให้ตรงกับการไม่เกิดอุบัติเหตุ ข่าวที่เราเห็นการทำตามกฎหมายคืออะไร ไปตามจับตามร้านต่าง ๆ ออกกฎหมายมาฉบับหนึ่งเสียเวลากับการตีความไปไม่รู้เท่าไหร่ อย่างมาตรา 32 ในกฎหมายถูกตีความกันเยอะ เรื่องห้ามโฆษณา จนมามีคำวินิจฉัยก็ 8 ปีล่วงไปแล้ว ว่าโฆษณาได้ แต่ต้องไม่เป็นไปในเชิงยั่วยุและเชิญชวน แต่ทุกวันนี้ราชการก็ยังไม่ยอม มีคดีความคาราคาซังกันในศาลเต็มไปหมด ซึ่งตัวบทกฎหมายอะไรนั้นถ้ามันไม่ได้ดีอยู่แล้วการบังคับใช้ก็เข้ารกเข้าพงไปอีก อย่างเจตนาเรื่องให้ลดอุบัติเหตุลดการดื่ม มันจึงไม่เกิด” นายปัญญา กล่าว
นายปัญญา กล่าวด้วยว่า เมื่อ พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ผลในเรื่องของการป้องกัน ปราบปราม รณรงค์ ให้ลดจำนวนอุบัติเหตุ และลดจำนวนผู้ดื่ม ก็ต้องทบทวนแก้ไข ซึ่งผู้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้มีจำนวนมากเลย แต่ราชการสุดโต่งเกินไป ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีใครคิดร้ายต่อประเทศ พร้อมปฏิบัติตาม และยังเห็นว่า การไปมุ่งนำเทคโนโลยีมาแก้ไข เช่น การติดกล้องคุณภาพสูง การตรวจสอบใบขับขี่ ยังจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาก รวมถึงเร่งการปลุกจิตสำนึกประชาชน
พล.ต.ต.นิพนธ์ ภู่พันธ์ศรี นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า การจัดเสวนาหัวข้อนี้ขึ้นมา เพราะมองเห็นปัญหาของประเทศที่มีมากขึ้น และวิทยากรที่มาร่วมเสวนาทุกคนล้วนมีประสบการณ์จริง ประสบทั้งความสำเร็จและปัญหา จึงจะได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดนี้ให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต่อไป