จุฬาฯ ร่วม SkillLane พัฒนาระบบ GenEd Blended Learning
พัฒนาระบบ GenEd Blended Learning ให้นิสิตจากทุกคณะสามารถเรียนออนไลน์ พร้อมนำร่องนิสิตบางส่วนช่วงฝุ่น PM 2.5 และไวรัสระบาด
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ SkillLane (สกิลเลน) บริษัท Online Learning Platform อันดับหนึ่งของประเทศไทย กำลังพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านรายวิชาการศึกษาทั่วไป (General Education) ให้แก่นิสิตทุกคณะ พร้อมขยายผลไปสู่สังคมในวงกว้าง อีกทั้งเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบในช่วงภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเผยว่าจะพร้อมให้เรียนบางรายวิชาผ่านระบบออนไลน์ภายในมีนาคม 2563 นี้
รองศาสตราจารย์ ดร. แนบบุญ หุนเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ มีความพร้อมในการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะสำคัญให้แก่นิสิต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและสังคมการทำงาน การใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังมีความห่วงใยในสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อสวัสดิภาพของนิสิตเป็นอย่างมาก ทางคณะผู้บริหารจึงมีนโยบายให้คณาจารย์ผู้สอนจัดการสอนผ่านระบบออนไลน์เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ดังกล่าว สอดรับมาตรการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยจะร่วมกับ SkillLane ทยอยนำร่องเปิดบางรายวิชาการศึกษาทั่วไปให้นิสิตสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ในเดือนมีนาคม 2563
ในการเรียนผ่านระบบออนไลน์ นิสิตจะสามารถเข้าไปเรียนผ่านสมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊คผ่านระบบได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังสามารถดูย้อนหลังเพื่อทบทวนเนื้อหาการเรียนที่ผ่านมาได้ ซึ่งจุฬาฯ จะแจ้งรายชื่อวิชาและรายละเอียดเพิ่มเติมให้ผู้เกี่ยวข้องทราบโดยเร็วต่อไป
ด้าน รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. ณุวีร์ ประภัสระกูล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป กล่าวเสริมว่า ในอนาคตจุฬาฯ จะขยายความร่วมมือกับ SkillLane พัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Blended Learning ซึ่งเป็นการผสมผสานการเรียนในห้องเรียนและการเรียนออนไลน์ เพื่อให้นิสิตทุกคณะได้เลือกเรียนวิชาการศึกษาทั่วไปที่ตนเองอยากเรียน โดยไม่ติดข้อจำกัดจำนวนที่นั่งในชั้นเรียน หรือเวลาเรียนในตารางสอน และจะเปิดโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ไปสู่สังคมในวงกว้าง ควบคู่ไปกับการคงไว้ซึ่งคุณภาพผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสร้างสรรค์สู่สังคมอุดมปัญญาแห่งนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมทั้งปัจจุบัน และอนาคต ตามวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ว่า ‘มหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’