"วิสาหกิจชุมชนเพลาเพลินฯ" ร่วมมือ "iColor" ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกัญชา กัญชง
ร่วมพัฒนาวัตถุดิบ จากกัญชา กัญชง สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อเป็น Pilot Project นำร่องเป็นรายแรกของไทย ตั้งเป้ามุ่งสู่การแข่งขันในตลาดโลก
วิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ (PHC) ผู้นำด้านการปลูกกัญชาและกัญชงแบบเกษตรมาตรฐานสูงเกรดทางการแพทย์ของประเทศไทย ร่วมมือกับ บริษัท ไอคัลเลอร์ คอสเมติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านการผลิตเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและผิวกาย ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในโรงแรมและสปา รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆคุณภาพสูงมาตรฐานระดับสากล ร่วมพัฒนาวัตถุดิบ จากกัญชา กัญชง สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อเป็น Pilot Project นำร่องเป็นรายแรกของไทย ตั้งเป้ามุ่งสู่การแข่งขันในตลาดโลก
นางศศิการ ล้อจิโรภาส ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ. บุรีรัมย์ (PHC) กล่าวว่า "จากที่ทางวิสาหกิจชมุชนเพลาเพลินฯ ได้มีประสบการณ์การปลูกกัญชาทางการแพทย์ ในระบบปิดแบบเกษตรมาตรฐานสูงเกรดทางการแพทย์ ให้กับภาคสาธารณสุขใช้ทำเป็นยารักษาโรคมาแล้ว ทางวิสาหกิจเพลาเพลินฯ จึงได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนในทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ด้วยการนำผลผลิตส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติด และไม่ผิดกฎหมายมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง"
นางศลิษา พิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอคัลเลอร์ คอสเมติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ความร่วมมือในครั้งนี้ เราได้ร่วมลงนามภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือในการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่อง สำอาง ซึ่งใช้วัตถุดิบจากกัญชา กัญชง และสมุนไพรอื่นๆ เพื่อต่อยอดและเป็นแนวทางในการหาโอกาสใหม่ๆ ในเชิงเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมให้กับกัญชากัญชงที่กำลังจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนตัวใหม่ของ ประเทศไทย ให้มีมาตรฐานสากลและพร้อมก้าวไกลไปสู่วงการเครื่องสำอางระดับโลก และในวันเดียวกันนี้ผลิตภัณฑ์ที่เราร่วมกันวิจัยพัฒนาเป็น Pilot Project คือผลิตภัณฑ์แคนนาบิส ลีฟ พาวเดอร์ เฟเชียล มาส์ก ได้มีการจดแจ้งผลิตภัณฑ์กับทาง อย. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังดำเนินการจดแจ้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่นกัน"
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศกฎหมายที่มีกัญชา กัญชง เป็นส่วนผสม ได้มีการกำหนดให้ส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบที่ไม่ติดช่อดอก และกากจากการสกัด และน้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชงและสารสกัด Cannabidiol (CBD) ซึ่งมี Tetrahydrocannabinol (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเครื่องสำอางได้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าในตลาดเครื่องสำอาง อีกทั้งยังเป็นผลดีของภาคการเกษตรผู้ปลูกกัญชาและกัญชง และเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันในอุตสาหกรรมกัญชา กัญชง ระดับสากล