ผู้ได้รับรางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์จากโครงการ SMEs ‘ต้นกล้า ทู โกล’ ปี 2564
มอบโล่รางวัลผ่านระบบ Zoom meeting ให้แก่ผู้ชนะเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บรรดาผู้ประกอบการ SMEs ไทยในการพัฒนาสินค้าและบริการต่อไปในอนาคตด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้จัดให้มีโครงการ ‘สร้าง SMEs ไทยสู่เวทีการค้าสากล’ หรือโครงการ ‘ต้นกล้า ทู โกล’ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 แล้ว และในปีนี้ DITP ได้ขานรับนโยบาย จากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ช่วยเหลือ SMEs ให้มีโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จึงมีการจัดเวทีให้ SMEs โครงการต้นกล้า ทู โกล จำนวน 75 ราย ได้พบปะเจรจาเพื่อจับคู่ธุรกิจกับห้างค้าปลีกรายใหญ่ ทั้งเซ็นทรัล, เดอะมอลล์, คิง เพาเวอร์ และแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ประสบความสำเร็จเกินคาด มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจรวม 150 คู่ ตั้งเป้ารับออเดอร์ภายใน 1 ปี อย่างน้อย 100 ล้านบาท
และในพิธีปิดโครงการ ‘ต้นกล้า ทู โกล’ 2564 ครั้งนี้ยังได้มีการมอบโล่รางวัลผ่านระบบ Zoom meeting ให้แก่ผู้ชนะรางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บรรดาผู้ประกอบการ SMEs ไทยในการพัฒนาสินค้าและบริการต่อไปในอนาคตด้วย
รางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : คุณอำพูล เอื้อจงมานี บริษัท ปึงหงี่เชียง ฟู้ด โปรดักส์ จำกัด เจ้าของสินค้าปึงหงี่เชียง กุนเชียงพร้อมทาน
“จุดเริ่มต้นของ ปึงหงี่เชียง กุนเชียงพร้อมทาน มาจากความต้องการของลูกค้าที่อยากได้กุนเชียงที่สามารถแกะทานตอนอยู่บ้านอยู่คอนโดได้เลย โดยไม่ต้องมาเสียเวลาทอด หรือสามารถนำไปเป็นของฝากระหว่างเดินทางไปต่างประเทศได้ง่าย เราจึงตัดสินใจเริ่มผลิตสินค้าตัวนี้ออกมา ซึ่งก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคนี้ได้อย่างดีทีเดียว
สำหรับ ปึงหงี่เชียง กุนเชียงพร้อมทาน ถือเป็นสินค้าที่เราเพิ่งผลิตออกมาตอนที่เข้าร่วมโครงการต้นกล้า ทู โกล นี้เลยครับ ซึ่งปกติแล้วเราจะมีแต่สินค้าแบบดั้งเดิมที่ลูกค้าต้องนำไปทอดเองที่บ้านเท่านั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการก็คือ ได้เติมเต็มความรู้และยังได้อัพเดตความรู้ใหม่ๆ จากบรรดากูรูเฉพาะทางที่มาอบรมให้กับเรา เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการหาช่องทางหม่ๆ ทางด้านตลาดให้กับเรา เป็นต้น ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์อย่างมาก ที่สำคัญยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ รวมทั้งคู่ค้าใหม่ๆ ด้วยครับ”
อำพล เสริมว่า จากเดิมที่กุนเชียงปึงหงี่เชียงเปิดโรงงานผลิตที่โคราชมากว่า 45 ปี และจะขายสินค้าดั้งเดิมคือ กุนเชียงหมู ปลา ไก่ ตามร้านแฟรนไชส์ที่อยู่ตามปั๊มน้ำมัน ปตท. 130 สาขาทั่วประเทศ และตามตลาดซะเป็นส่วนใหญ่ แต่พอได้มาเข้าร่วมโครงการนี้ ก็ทำให้สามารถต่อยอดขยายตลาดไปสู่การขายตามห้างฯ หรือโมเดิร์นเทรดต่างๆ ในอนาคตด้วย
“จากเดิมที่กุนเชียงปึงหงี่เชียงที่เป็นสินค้าดั้งเดิมนั้น จะมีระยะเวลาขายได้นานแค่ 3 เดือน เมื่อเราพัฒนาเป็น ‘กุนเชียงพร้อมทาน’ ซึ่งมีทั้งกุนเชียงหมูและปลา ก็ช่วยให้ยืดอายุสินค้าไปได้ยาวนานถึง 6 เดือน จึงเหมาะกับการส่งออกเลยละครับ โดยประเทศที่เราจะส่งออกไปก็มี จีน ฮ่องกง เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เรามีฐานลูกค้าเก่าอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้เรามาทำสินค้าประเภทพร้อมทาน ผมคิดว่าก็น่าจะเพิ่มช่องทางการขายให้กับสินค้าของเราได้มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ทำให้เราได้รางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ น่าจะอยู่ที่รูปแบบของแพ็กเกจจิ้งที่สีสันสวยงามสะดุดตา สามารถสื่อสารได้ชัดเจนว่าเป็นกุนเชียงพร้อมทานนะ ซองฉีกง่าย และในหนึ่งซองใหญ่จะมี 4 ซองย่อยอยู่ภายใน แม้เราจะจ้างนักออกแบบสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้ก็จริง แต่เราก็ได้นำความรู้และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้จากการอบรมในโครงการ มาเติมเต็มจนออกมาลงตัวอย่างที่เห็นครับ ปัจจุบันเราก็กำลังผลักดันสินค้ากุนเชียงพร้อมทานให้กระจายไปตามห้างฯ ต่างๆ อยู่ แต่ถ้าใครอยากลองทานก่อนเพื่อน ก็สามารถหาซื้อกุนเชียงพร้อมทานได้ตามร้านแฟรนไชส์ในปั๊มปตท.ทั่วประเทศได้เลยครับ มีทั้งช่องทาง FB : ปึงหงี่เชียง, Shoppe และ Lazada”
รางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ภาคใต้ : คุณปริยะ ศิริกุล บริษัท อินโนโฟ จำกัด เจ้าของสินค้า Mudjai แผ่นโปรตีนเห็ด บอกว่า ผลิตภัณฑ์ของเขาคือโปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant Base) ที่ทำจากเห็ดแครงซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นทางภาคใต้ (ขึ้นในสวนยาง) และขนุนอ่อน แทนการใช้ถั่วต่างๆ ฉะนั้นเวลาทานลูกค้าจึงสามารถนำไปย่างหรือทอด แล้วนำมาสอดไส้ในเบอร์เกอร์แทนเนื้อสัตว์ได้เลย
“ต้องบอกว่าสินค้าของเราจัดอยู่ในกลุ่ม Whole Food ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะใช้การแปรรูปให้น้อยที่สุด เราจึงเลือกใช้เห็ดและขนุนอ่อนเป็นหลัก อย่างแผ่นโปรตีนเห็ดที่ทำออกมานี้ คนทานจะยังคงสัมผัสได้ถึงเท็กซ์เจอร์ของเนื้อเห็ดและเนื้อขนุนอ่อนที่อยู่ในแผ่นโปรตีนนี้ได้แบบเต็มปากเต็มคำ แถมเหดแครงยังมีโปรตีนถึง 17% ซึ่งมากกว่าเห็ดทั่วไปที่มีโปรตีนแค่ 3% เท่านั้น จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนที่ต้องการทานโปรตีน นอกจากเนื้อสัตว์และถั่วต่างๆ หรือผู้ที่ไม่จำเป็นต้องเคร่งขนาดต้องทานมังสวิรัติ
สำหรับเทรนด์ของคนที่ชอบทานอาหารประเภท Plant Base นั้น มีเหตุผลง่ายๆ ก็คือ พวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ที่มักจะมีของแถมอย่างไขมัน คอเลสเตอรอล โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ตามมา แต่ในผลิตภัณฑ์โปรตีนเห็ดของเราจะมีแค่ไขมันที่ดีเท่านั้น ที่สำคัญยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของเห็ดเลยก็ว่าได้”
ปริยะ เสริมว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการในปีนี้ก็คือ ทำให้เขาได้ไอเดียใหม่ๆ และได้คำแนะนำในการเอาไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่ทำเป็นแผ่นโปรตีนเห็ดซึ่งต้องทานกับเบอร์เกอร์ ที่ต้องการจะเน้นส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ แต่เขามื่อเจอกับปัญหาโควิด 19 ระบาด เขาก็สามารถคิดต่อยอดมาเป็นโปรตีนที่มีรูปลักษณ์คล้ายกับหมูปิ้ง (ซึ่งทำจากเห็ด) มาเป็นสินค้าทดแทน เพราะน่าจะเข้ากับตลาดในประเทศไทยได้มากกว่า
“สำหรับรางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่ได้มา ผมคิดว่าเป็นผลมาจากการที่ผมพูดคุยปรึกษากับนักออกแบบ ซึ่งเขาได้แนะนำว่าสินค้าโฮลฟู้ดส่วนใหญ่ควรใช้สีสันแนว Craft ที่สีไม่ต้องฉูดฉาดมากนัก แต่ต้องนำภาพอาหารอย่างรูปเบอร์เกอร์มาประกอบ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น เพราะหากโชว์แค่รูปแผ่นโปรตีนเห็ดอย่างเดียว ลูกค้าก็อาจจะนึกภาพไม่ออกครับ ที่ผ่านมาผมเริ่มทำแบรนด์ Mudjai แผ่นโปรตีนเห็ดมาได้ 2 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาปรับรูปแบบของแพ็กเกจจิ้งก็ตอนที่มาเข้าร่วมโครงการนี่แหละครับ ซึ่งก็โชคดีที่กรรมการมองเห็นความตั้งใจและมอบรางวัลให้เรา”…ผู้สนใจสามารถซื้อสินค้าได้ที่หน้าร้านซึ่งอยู่ที่ตลาด อตก. และอัพเดตข้อมูลได้ที่ FB : mudjai.th
รางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ ภาคตะวันออก : คุณกัลยรัตน์ ดวงรัตนเลิศ บริษัท มาดามอร ฟู๊ด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของสินค้าไส้กรอกอีสานคีโต กล่าวว่า
“ผลิตภัณฑ์ของเราคือไส้กรอกอีสานคีโตจีนิก แบบไร้แป้ง ไร้น้ำตาลขัดสี แต่จะมีไขมันดีเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ซึ่งการทานอาหารคีโตเป็นเทรนด์ดูแลสุขภาพจากต่างประเทศที่เข้ามาในเมืองไทยได้ 4-5 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกจะทานเพื่อลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว บางคนสามารถลดได้ 10-15 กก.ภายในหนึ่งเดือน ต่อมาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ความดัน และเบาหวาน ก็หันมานิยมทานคีโตกันมากขึ้นด้วย เพราะนอกจากจะไม่มีแป้งและน้ำตาลแล้ว ยังไม่ใส่ผงชูรสด้วยค่ะ ซึ่งดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยแน่นอน
ที่จริงแล้วแรกเริ่มเลยเราทำไส้กรอกอีสาน (หมู) สูตรไขมันต่ำก่อน ซึ่งก็มีลูกค้าในระดับหนึ่ง ต่อมาเราก็พัฒนาสูตรไส้กรอกอีสาน (อกไก่) คีโตเสริมโปรตีนขึ้นมา โดยใช้เวลาประมาณปีครึ่ง จึงออกมาเป็นไส้กรอกอีสานคีโตอย่างในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มลูกค้าของเราก็มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรักสุขภาพที่ชอบทานอาหารคีโตหรือโลว์คาร์บอยู่แล้ว เราจึงสามารถขยายฐานลูกค้าได้ไม่อยากนัก”
กัลยรัตน์ บอกว่า เมื่อ 2 ปีก่อนที่เริ่มทำธุรกิจ เธอก็เคยเข้าร่วมโครงการต้นกล้า ทู โกล มาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นธุรกิจยังไม่ค่อยพร้อมสักเท่าไร และพอได้มาเข้าร่วมโครงการในปีนี้ รู้สึกเลยว่าได้ทั้งองค์ความรู้และคำแนะนำที่ดีมากๆ จากวิทยากร อาทิ วิธีทำการตลาด การออกแบบแพ็กเจจิ้ง รวมทั้งยังได้มุมมองในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้นอีกด้วย
“สำหรับรางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่ได้รับมานั้น ดิฉันมองว่าคณะกรรมการพิจารณาจากเหตุผลหลักๆ คือ 1.สินค้าของเรามีความน่าสนใจและเป็นที่นิยมของคนรักสุขภาพ 2.แบรนด์มีความยูนีค และช่วยให้ลูกค้าทานได้ง่าย สะดวกสบาย แค่ฉีกซองแล้วนำเข้าไมโครเวฟแค่ 30 วินาทีก็ทานได้เลย แถมยังเก็บได้ง่าย 3.แบรนด์เรามีการออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่สวยงาม ไม่เหมือนกับแบรนด์ไส้กรอกอีสานทั่วไปในท้องตลาด จึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความมินิมัล น้อยแต่มาก ตัวอักษรดูทันสมัย และซองไส้กรอกยังพกพาง่ายด้วยค่ะ”…อัพเดตได้ที่ FB : MadameOrn, Line@ : MadameOrn, IG : madame.orn