Fun Fact ลึก ๆ แต่ไม่ลับของการค้นหาแหล่งพลังงานในอ่าวไทย
ปตท.สผ. ไม่ได้มาเล่าถึงกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่จะนำ Fun Fact ของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของเรา
หากพูดถึงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ชื่อที่หลายคนจะนึกถึงคือ ปตท.สผ ในฐานะบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย ที่ช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่ากว่าจะสำรวจและขุดเจาะจนสามารถนำปิโตรเลียมในแต่ละแหล่งขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้นั้น เบื้องหลังต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง ซึ่งโดยรวม ๆ แล้ว แต่ละแหล่งต้องใช้เวลานานกว่า 8-10 ปี เลยทีเดียว
วันนี้ ปตท.สผ. ไม่ได้มาเล่าถึงกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่จะนำ Fun Fact ของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของเรามาฝาก
หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่าปิโตรเลียมที่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นดินในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะทางธรณีวิทยา บางพื้นที่เช่นในตะวันออกกลาง แหล่งปิโตรเลียมจะมีขนาดใหญ่ลักษณะเหมือนผลแตงโมผ่าครึ่ง แต่บางที่ซึ่งรวมถึงแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยก็จะเป็นแหล่งเล็ก ๆ กระจายเหมือนผลองุ่น ซึ่งแหล่งที่มีลักษณะคล้ายผลองุ่นแบบนี้ จะต้องมีการออกแบบหลุมเจาะหลากหลายแบบ ทั้งหลุมตรง (Vertical Well) หลุมแนวนอน (Horizontal Well) และหลุมเอียง (Deviated Well) เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/pttepplc/posts/4363324627053740
หลุมปิโตรเลียมที่ลึกที่สุดในอ่าวไทย เทียบเท่าความสูงของภูเขาไฟฟูจิ
นอกจากหลุมเจาะจะมีหลายแบบแล้ว ความลึกของแต่ละหลุมก็ต่างกัน ซึ่งในประเทศไทย โดยเฉลี่ยจะพบปิโตรเลียมอยู่ที่ความลึกประมาณ 1.5-3 กิโลเมตร และหลุมเจาะที่ลึกที่สุดในอ่าวไทย โดยมีขนาดความลึกกว่า 3.8 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับความสูงของภูเขาไฟฟูจิเลยทีเดียว
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/pttepplc/posts/4414667805252755
หัวเจาะ “เพชรเทียม” แข็งแกร่ง ทนทาน เพิ่มความรวดเร็วในการเจาะ
“หัวเจาะ” (Drill bit) นับเป็นส่วนสำคัญที่ต้องมีความแข็งแกร่ง และทนทานสูงเพื่อให้สามารถเจาะปิโตรเลียมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด นั่นเพราะยิ่งชั้นหินอยู่ลึกก็จะยิ่งมีความแข็งและเจาะยากมากขึ้นเรื่อย ๆ หัวเจาะจึงมักจะมีส่วนประกอบของ Polycrystalline Diamond Compact (PDC) หรือที่เรียกกันว่า “เพชรเทียม” เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง ทนทาน และรวดเร็วในการเจาะหลุม
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/pttepplc/videos/306741521201298/
กิจกรรมยามว่างกลางทะเล สไตล์ชาวแท่น
การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น ชาวแท่นจะต้องเดินทางไปประจำการที่แท่นปิโตรเลียมเพื่อปฏิบัติภารกิจครั้งละ 21 วัน แล้วกลับขึ้นฝั่งอีก 21 วัน ก่อนที่จะกลับไปอยู่บนแท่นผลิตอีกครั้งในรอบถัดไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชาวแท่นจะต้องทำงานกันตลอด 24 ชม. บนแท่นจึงต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ทุกคนได้ผ่อนคลายยามว่างหลังเลิกงาน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เล่นฟุตบอล ตะกร้อ เล่นดนตรี ดูโทรทัศน์
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/pttepplc/posts/4628485877204279
Fun Fact ลึก ๆ แต่ไม่ลับที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลกการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่ละขั้นตอน สามารถ คลิกติดตามไปดูเรื่องราวน่ารู้เพิ่มเติมได้ใน https://www.thairath.co.th/spotlight/petroleumexploration/ หรือกดติดตามเพจ ปตท.สผ. ได้ที่ https://www.facebook.com/pttepplc