เปิดแผนปั้น EV Ecosystem กฟผ. กับภารกิจร่วมสร้างสังคมพลังงานสะอาด
เปิดแผนปั้น EV Ecosystem กฟผ. กับภารกิจร่วมสร้างสังคมพลังงานสะอาด
อัตราการเติบโตของยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่มากขึ้นในแต่ละปีของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการรถพลังงานสะอาดเป็นทางเลือกยังมีความต้องการอีกไม่น้อย
ทั้งจากการที่ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ทั้งรายเก่าและรายใหม่พยายามส่งยานยนต์ไฟฟ้ามากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตอกย้ำแนวโน้มอนาคตทั้งด้านการผลิตและการใช้งาน EV ในไทย
เหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณที่ดีถึงความหวังในการสร้างสังคมแห่งการเดินทางยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายของประเทศที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ว่าอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ดี ในการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ได้จำเป็นต้องมีระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้จริง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่ใช้งาน EV เป็นอีกปัจจัยที่ไม่อาจมองข้าม
รุกธุรกิจ EV เต็มพิกัด
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอีกหนึ่งองค์กรด้านพลังงานที่ตัดสินใจก้าวเข้ามาเป็นผู้ให้บริการธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินงานตลอดปีที่ผ่านมาเริ่มมีภาพชัดเจนถึงการร่วมยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการหลักด้าน EV อย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่การเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ในเดือนมีนาคม 2564 และเดินหน้าขยายสถานีทั้งบนถนนสายหลักและสายรอง สถานที่ราชการ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าล้วนเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะสามารถช่วยให้ผู้ใช้ EV สามารถการเดินทางในเส้นทางหลักทั่วประเทศได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องกังวลใจว่าจะไม่มีแหล่งชาร์จเหมือนที่ผ่านมา ทั้งยังสรรหาหัวชาร์จหลากหลายยี่ห้อเพื่อมาเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันไป
และดูเหมือนว่า กฟผ. ยังวางแผนมาอย่างดีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน EleXA เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเสมือนผู้ช่วยในทุกการเดินทางด้วยรถ EV ทั้งการค้นหาสถานี การชาร์จ การจอง และจ่ายเงิน
สาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวย้ำด้วยความมั่นใจในการเป็นองค์กรหนึ่งของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยยานยนต์ไฟฟ้า และร่วมสร้างคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น
“ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฟผ. มีการเตรียมตัวเรื่องนี้มาโดยตลอด เพื่อให้ผู้ใช้ EV มีความมั่นใจว่า โครงข่ายระบบไฟฟ้ามีความพร้อมและสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ EV ทุกคน ซึ่ง กฟผ. จะพยายามขยายสถานีให้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในระยะ 150-200 กิโลเมตรจะต้องมีสถานี หรือหาสถานีชาร์จได้ ทำให้เขาใช้ชีวิตได้มากขึ้น”
ขณะเดียวกัน กฟผ. ยังมีแนวคิดที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการผลิตตู้อัดประจุไฟฟ้าเองด้วย โดยร่วมมือกับ สวทช. ในการปรับปรุงแล็บทดสอบหัวชาร์จที่ขนาดใหญ่ขึ้น จากปัจจุบันที่ทำได้เพียงขนาด 60 กิโลวัตต์ แต่จะพัฒนาให้ทดสอบหัวชาร์จได้ถึงขนาด 120-150 กิโลวัตต์ ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณกุมภาพันธ์ปี 65 ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวและเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย
จับมือพันธมิตร ลุยอุตสาหกรรม EV Ecosystem ครบวงจร
นอกเหนือจากการเป็นผู้บุกเบิกสถานีด้วยตนเอง กฟผ. ยังทำหน้าที่เป็นแกนกลางเชื่อมโยงธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมพลังงานที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
วฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office กฟผ. กล่าวถึงความพร้อมของ กฟผ. ต่อบทบาทที่จะเป็นผู้ช่วย และการสรรหาพันธมิตรว่า แนวคิดของ กฟผ. คือใครมีอะไรมาเสนอ แล้วอยากได้อะไรก็มาคุยกัน ดังนั้นหน้าที่ กฟผ. เปรียบเสมือนคนกลางที่จะช่วยจับคู่ สร้างเครือข่าย และหาโซลูชันใหม่ ๆ เป็น one stop service สมมติว่าคนนี้เดินมาหา กฟผ. แล้วบอกว่าผมมีที่ดิน อีกคนบอกผมมีบริษัทผู้ผลิตจากจีน กฟผ. จะช่วยวางแผนโมเดลธุรกิจซึ่งแตกต่างกันไป รวมถึงกรณีล่าสุดอย่างการเปิดจำหน่าย Super Fast Charger ภายใต้แบรนด์ EGAT+ Wallbox รุ่น Supernova ทาง กฟผ. ก็เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ กรณีที่ผู้ประกอบการไม่อยากลงทุนมาก ก็สามารถมาปรึกษา กฟผ. ได้ อาจจะเป็นการเช่าหรือทำธุรกิจร่วมกัน
ตั้งทีมคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนด้วยแรงบันดาลใจ
แม้จะมีการดำเนินการต่าง ๆ มาได้เพียงขวบปี แต่หลายคนอาจประหลาดใจกับผลการดำเนินการเชิงรุกที่มีความคืบหน้ารวดเร็ว วฤตบอกเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานว่าเกิดจากความคล่องตัวของการนำรูปแบบบริหารธุรกิจแบบคนรุ่นใหม่ภายใต้ธุรกิจ EGAT EV Business Solutions
ทีมเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแรงบันดาลใจและประสบการณ์ตรง น้อง ๆ บางคนซื้อรถ EV ใช้ บางคนเป็น Youtuber เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า เขาจึงรู้ว่าปัญหาของผู้ใช้รถ EV คืออะไร ส่วนคนไหนไม่มีรถ EV เราก็ลงทุนเช่ารถ EV ให้เขาขับ เพื่อใช้ในการทดสอบสถานีของเรา วันว่างน้องในทีมก็ขับรถขึ้นเชียงใหม่แล้วก็กลับมารายงานให้เราฟังว่าเส้นทางไหนน่าจะเป็นทำเลที่เหมาะสม หรือจุดไหนหากแบตเตอรี่หมดแล้วไม่สามารถหาตู้ชาร์จได้ เราก็เริ่มรู้แล้วว่าควรลงทุนจุดใดบ้าง ควรมีสถานีแบบไหนจึงจะเหมาะสม บางคนขับในเมืองเข้าไปห้างนี้ไม่มีที่ชาร์จเลย หรือการพัฒนาแอปพลิเคชัน EleXA ซึ่งมีจุดเด่นคือ การให้บริการแบบจ่ายทีหลัง (Post Paid) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้จ่ายตามจริง ก็เป็นผลจากการประสบการณ์ใช้งานจริง ทั้งหมดคือ Lesson Learned
“ในเชิงธุรกิจ กฟผ. มองว่าค่อนข้างครบและตอบโจทย์พอสมควร ส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจแต่เป็นความร่วมมือ ปัจจุบัน กฟผ. ได้เปิดสถานีชาร์จ EV ที่กระทรวงการคลัง หากประสบความสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบสถานีชาร์จ EV ในสถานที่ราชการอื่นๆ ส่วนปีหน้า (2565) คาดว่าน่าจะเห็นสถานีชาร์จเยอะมากพอที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้ EV มากขึ้น โดย กฟผ. เองมีแผนที่จะติดตั้ง 100 แห่ง ซึ่งจะวางเส้นทางแบบยุทธศาสตร์ที่มีความห่างเหมาะสมมากขึ้น ทั้งนี้ต้องรอดูมาตรการรัฐที่จะออกมากระตุ้นส่งเสริมสนับสนุนผู้ใช้รถไฟฟ้าในปีหน้าอีกที” วฤตเอ่ยทิ้งท้าย