เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่จะรับมืออย่างไร หากลูกเกิดความว้าวุ่นในใจ
ความว้าวุ้น หรือวิตกกังวล คืออะไร เกิดจากสาเหตุใดบ้าง? ชวนทำความเข้าใจและรับมือ กับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงในวัยรุ่นของลูกหลาน
หลายคนอาจจะได้ไปดู Inside Out กันแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนเราจะมีหลากหลายอารมณ์ โดยดูจากตัวละครที่โดดเด่นในเรื่องก็คือ "ไรลีย์" เป็นตัวการ์ตูนวัยรุ่นที่ทำให้เวลาเรามองแล้วจะเห็นภาพเรา หรือไม่ก็ลูกและหลานของเราในตัวละครตัวนี้ หากได้ดูเรื่องนี้แล้วเราอาจจะเข้าใจวัยรุ่นมากขึ้น ในด้านอารมณ์ ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไป โดย "อารมณ์" ในความหมายเชิง จิตวิทยา หมายถึง ปฏิกิริยาการตอบสนองทางร่างกาย ความคิด และพฤติกรรมของบุคคลเมื่อเจอกับสิ่งเร้า ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อสิ่งเร้านั้นมีอยู่หรือหายไป โดยอารมณ์ที่บุคคลตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นสอดคล้องกับประสบการณ์ การรับรู้ การตีความ การประเมินผล อารมณ์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัยตลอดชีวิต
นอกจากนี้ ในแง่ของอารมณ์ได้มีนักจิตวิทยาได้ให้นิยามของอารมณ์เอาไว้ อย่าง "Paul Ekman" นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เขาได้ให้นิยามอารมณ์ เมื่อปี 1970 ไว้ว่า มนุษย์มีอารมณ์พื้นฐานอยู่ 6 อารมณ์ ได้แก่ เศร้า (Sadness), มีความสุข (Happiness), กลัว (Fear), โกรธ (Anger), ประหลาดใจ (Surprise), และขยะแขยง (Disgust) แต่ในขณะเดียวกันเมื่อปี 1980 "Robert Plutchik" นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ให้นิยามต่อยอดไปอีกว่า จริงๆ แล้วสามารถจับคู่อารมณ์หลักได้เป็น 4 คู่ เช่น ความรื่นเริง (Joy) - ความเศร้า (Sadness), ความโกรธ (Anger) – ความกลัว (Fear), ความวางใจ (Trust) - ความรังเกียจ (Disgust) และความประหลาดใจ (Surprise) –ความคาดหวัง (Anticipation)
ทั้งนี้ อารมณ์แต่ละชนิดก็มีลักษณะเฉพาะตัว และความเข้มข้นที่แตกต่างกัน เมื่ออารมณ์ชนิดต่างๆ ผสมกันก็จะเกิดเป็นอารมณ์ใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้นอีกมากมาย เช่น ความรื่นเริง (Joy) + ความวางใจ (Trust) = ความรัก (Love), ความโกรธ (Anger) + ความคาดหวัง (Anticipation) = ความก้าวร้าว (Aggressiveness), ความรังเกียจ (Disgust) + ความเศร้า (Sadness) = ความสำนึกผิด (Remorse), ความประหลาดใจ (Surprise) + ความเศร้า (Sadness) = ความไม่ยอมรับ (Disapproval) และความกลัว (Fear) + ความประหลาดใจ (Surprise) = ความสะพรึงกลัว (Awe)
สาเหตุด้านไหนบ้าง ที่จะทำให้อารมณ์วัยรุ่น ว้าวุ่น สับสน ?
ในขณะเดียวกัน ทาง กรุงเทพธุรกิจ ได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาสาวท่านหนึ่งถึงด้านอารมณ์ นั่นก็คือ นางสาวศุภาพิชญ์ แก้ววัชระรังสี (ฟิวส์) นักจิตวิทยาโรงเรียน และเป็นผู้ให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาจาก เคาน์เซลลิ่ง ไทยแลนด์ (Counselling Thailand) และเว็บไซต์เมนทอลเมท (Mentalmate) โดย “ฟิวส์” ได้ให้นิยามของอารมณ์แยกย่อยออกไปจากด้านบนเพิ่มขึ้นอีกว่า ยังมีด้านปัจจัยทางร่างกาย และปัจจัยทางสังคม โดยวัยรุ่นเป็นช่วงวัยแห่งการเชื่อมต่อจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเริ่มที่ช่วงอายุ 13-14 ปี ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลากหลายด้าน
"ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ทางด้านร่างกาย เช่น เริ่มมีเสียงแตกหนุ่ม เริ่มมีประจำเดือน เริ่มมีหน้าอก แขนขายืด เด็กจึงเริ่มรู้สึกแปลกไปในร่างกายของตน เกิดความสงสัย สับสน เด็กจะเริ่มคิดว่า ต้องรับมือต้องจัดการอย่างไร ซึ่งวัยรุ่นหญิงมักจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เห็นได้ชัดก่อนเพศชาย เพศหญิงมักเริ่มเปลี่ยนแปลงช่วงประมาณ 13-14 ปี ในขณะที่เพศชายเริ่มมีหนวด มีขน มีกล้ามเนื้อ เสียงแตก คล้ายผู้ใหญ่มากขึ้น ช่วง 15-16 ปี" นางสาวศุภาพิชญ์ กล่าว
ทั้งนี้ อารมณ์แท้จริงแล้ว มีต้นเหตุมาจากอะไรบ้าง อาจจะเป็นที่ฮอร์โมน และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อม เช่น บริบทของโรงเรียน จากชั้นประถมเข้าสู่มัธยม มีการเรียนที่ยากขึ้น เจอครูคนใหม่ บางรายต้องย้ายโรงเรียน และเจอเพื่อนใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เด็กทุกคนไม่สามารถหลีกหนีได้ ทั้งหมดนี้การที่วัยรุ่นต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในเวลาพร้อมๆ กัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดอารมณ์หลากหลายในเวลาเดียวกัน ที่เป็นได้ทั้งความดีใจ สับสน กังวล โกรธ ไม่เข้าใจ เศร้า เบื่อ มีความสุข ผิดหวัง การที่วัยรุ่นต้องรับมือกับสถานการณ์ใหม่นี้จึงต้องใช้ทั้งความเข้าใจ และการปรับตัวค่อนข้างมาก ดังนั้น อาการว้าวุ่นที่สังเกตเห็นในวัยรุ่นอยู่บ่อยครั้งจึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นภายในของวัยรุ่นนั่นเอง บางทีนั่นอาจเป็นสัญญาณที่ชวนให้คนใกล้ชิดได้ใช้เวลาสังเกต รับฟัง และสนับสนุนให้เขารับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้
พ่อแม่จะต้องรับมืออย่างไร เมื่อลูกหลานมีอารมณ์ว้าวุ่น (เข้าสู่วัยรุ่น)
พ่อแม่ถือเป็นคนใกล้ชิดกับวัยรุ่น ที่มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมความคิด และพฤติกรรมของเด็กตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จึงต้องอาศัยความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของลูกในทุกด้าน ปรับบทบาทตนเองพร้อมเป็นเพื่อนที่รับฟังและสนับสนุนมากขึ้น เพราะช่วงวัยนี้ เป็นช่วงเวลาที่เด็กจะพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง การที่เขาได้มีอิสระในการคิดและตัดสินใจ ควบคู่ไปกับการได้ความสนับสนุนจากครอบครัว จะช่วยให้เขาเพิ่มการรับรู้คุณค่าในตัวเอง มั่นใจ ให้เขามีใจที่เข้มแข็ง และพร้อมเผชิญกับสถานการณ์ใหม่แม้จะไม่คุ้นเคยได้ด้วยตนเอง
ขั้นตอนที่จะปรับ เรียนรู้ เข้าหากันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก
1.) ปรับจากการสั่งหรือบอกให้ทำ เป็นการชวนให้แบ่งปันเรื่องราวร่วมกัน ผ่านการใช้คำถามปลายเปิด เช่น
- ต้องทำแบบนี้นะ ทำไมไม่ทำแบบที่แม่เคยบอก ลองปรับเป็น ลูกคิดว่าทำแบบไหนดีคะ? หรือเหตุการณ์นี้เราเคยทำแบบนี้กันนะ แล้วตอนนี้ลูกอยากลองทำแบบไหนบ้างคะ
- หยุดเอะอะเสียงดังเดี๋ยวนี้ ลองปรับเป็น ตอนนี้ลูกดูเหมือนเสียงดังขึ้นนะ เป็นอะไร เล่าให้พ่อฟังได้นะ
2.) ลองทำกิจกรรมร่วมกัน
- สังเกตสิ่งที่ลูกหลานให้ความสนใจในช่วงเวลานั้น พูดคุยในเรื่องที่เขาสนใจ ชวนทำกิจกรรมที่เขาสนใจ ให้เขามีส่วนในการเลือกและตัดสินใจ ให้เขาได้มีบทบาทเป็นผู้นำในกิจกรรมของครอบครัว มีช่วงเวลาที่พูดคุยกันเรื่องเล็กน้อยทั่วไปในชีวิตประจำวันโดยอิงจากสิ่งใกล้ตัวหรือสิ่งที่ลูกสนใจ
สำคัญมากๆ ถ้าลูกยอมเปิดใจคุย ก็อยากให้พ่อแม่เปิดใจรับฟังอย่างตั้งใจ หากเรื่องที่ลูกเล่ามาจะดี หรือไม่ดีอยากให้สอนเขา ให้คำแนะนำ แทนการว่ากล่าว เพื่อให้ลูกไม่คิดมาก และเด็กจะรับรู้ได้เองถึงความไว้วางใจ และจะให้พ่อแม่เป็นเพื่อนคุยได้ทุกเรื่องที่เขาอยากจะเล่าให้ฟัง