ปลัด มท. และนายกสมาคมแม่บ้าน มท. ร่วมหารือเตรียมการจัดนิทรรศการคู่ขนานระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA)
ปลัด มท. และนายกสมาคมแม่บ้าน มท. ร่วมหารือเตรียมการจัดนิทรรศการคู่ขนานระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) มุ่งหวังถ่ายทอดผลสำเร็จการขับเคลื่อนตามเป้าหมาย UN SDGs ของกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายภาพรวมทั้งประเทศไทยสู่สายตานานาชาติ
วันนี้ (16 มิ.ย. 66) เวลา 08.00 น. ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมประชุมหารือเพื่อเตรียมการจัดนิทรรศการคู่ขนานระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยมี นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นางสาวแคทรีนา ปทุมรส ผู้อำนวยการกองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย นำไปสู่การร่วมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย นำโดยกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และคณะ ได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ (MOU) “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มุ่งพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติเพื่อประชาชนทุกคนได้มีความสุขอย่างยั่งยืน
“การร่วมหารือในวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นภาคีเครือข่ายระหว่างองค์การสหประชาชาติและกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นพัธมิตรร่วมกันในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 17 (Partnership) คือ การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาคนเพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ตามพันธกิจของกระทรวงมหาดไทย คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนได้มีความสุขอย่างยั่งยืน ตามแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development Goals : SEP for SDGs) และนับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่กระทรวงมหาดไทยได้รับพระราชทานพระดำริที่เป็นหลักชัยสำคัญในการเสริมการปฏิบัติและเป็นกำลังใจให้กับองคาพยพกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้งมิติความมั่นคงทางอาหารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มีการบริหารจัดการขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การเสริมสร้างพลังความรักสามัคคีของคนในชุมชน แบ่งกลุ่มเป็นหย่อมบ้าน ป๊อกบ้าน กลุ่มบ้าน เพื่อดูแลช่วยกันซึ่งกันและกัน การถ่ายทอดศิลปะ วัฒนธรรม ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี สู่คนรุ่นต่อไป รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนำไปสู่ความมั่นคงด้านแฟชั่น (Sustainable Fashion) ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ให้สีธรรมชาติเพื่อย้อมผ้า เพื่อทำให้คนไทยได้สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่มาจากสีธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี ซึ่งเครื่องนุ่งห่มเป็นปัจจัย 4 (Basic Needs) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน รวมไปถึงการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องแนวทางขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการอนุรักษ์โลกอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ เป็น Circular Economy ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มทอผ้าและผู้ผลิตผ้า สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชุมชนทั่วประเทศไทย” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly – UNGA) สมัยสามัญที่ 78 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้ ถือเป็นวาระสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก เป็นช่วงเวลาสำคัญของการทบทวนความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผู้นำแต่ละประเทศจะร่วมกันแบ่งปันมุมมองและแผนการดำเนินงานสู่เส้นทางการบรรลุ SDGs ซึ่งในทศวรรษที่โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เป็นเวทีโลกที่ทุกประเทศจะได้โอกาสแสดงนโยบายและหารือประเด็นต่าง ๆ ของโลกร่วมกัน ทางกระทรวงมหาดไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการวาระการประชุมโลกดังกล่าว จึงจะใช้โอกาสนี้ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจัดนิทรรศการต่าง ๆ คู่ขนานกับการประชุมดังกล่าว ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ร่วมกับประเทศภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) และทั่วโลก เพื่อสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนคนไทย รวมถึงเพื่อนมนุษย์ในภูมิอาเซียนในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และตระหนักถึงการอนุรักษ์โลกอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยและกระทรวงมหาดไทยตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ทั่วประเทศ จะได้นำเสนอผลการดำเนินการต่างๆ ทั้งเรื่อง BCG Economy Model ที่เป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environment) การลดปัญหาโลกร้อน (Global Warming) เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างทั่วถึงบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP to SDGs) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน และการขยายฐานการค้าของผลิตภัณฑ์ผ้าไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปสู่ตลาดโลก ตอบสนองตามเป้าหมายที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญคือเพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ผู้ทรงเป็นหลักชัยพระราชทานแนวทางเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุขและความมั่นคงในชีวิต ด้วยการพัฒนาคนควบคู่กับการรักษาโลกอย่างยั่งยืน
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเพื่อความยั่งยืนของโลกเคียงข้างกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย (SDGs) ทั้งในด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้านความมั่นคงทางเครื่องนุ่งห่ม และด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้นการจัดนิทรรศการคู่ขนานที่ประเทศไทยในครั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ “การทำให้ผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้นำของประเทศต่าง ๆ ทั้งผู้บริหารและนักธุรกิจต่างชาติ ได้เห็นและได้รู้จักผ้าไทยที่เป็นภูมิปัญญาของประชาชนคนไทยที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย” เพื่อขยายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปยังต่างประเทศ นำรายได้สู่ประชาชนคนไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนฐานราก โดยอาศัยประวัติศาสตร์หรือเรื่องเล่าพร้อมกับความสวยงามของผ้าไทย ยิ่งไปกว่านั้นคือการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทย แบบ “ทำน้อยได้มาก” กล่าวคือ การผลิตเท่าเดิม แต่เพิ่มมูลค่าสินค้าได้ ลดการพึ่งพาเครื่องจักร นำไปสู่การอนุรักษ์โลกอย่างยั่งยืน อีกทั้งกลวิธีการทอผ้า เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับประชาชนอีกด้วย เป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยังเป็นการแสดงให้นานาประเทศได้เห็นว่าการที่พวกเราทุกคนน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” เรื่องผ้าไทยให้เป็น Sustainable Fashion สู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งการคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ย่อยสลายขยะครัวเรือนสร้างปุ๋ยอินทรีย์เป็นธาตุอาหารให้แก่พืช ที่สำคัญคือการนำไปสู่การคิดคำนวณคาร์บอนเครดิต โดยกระทรวงมหาดไทยกำลังจะประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน โดยธนาคารกสิกรไทยเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 นี้ แสดงให้เห็นว่าทั้งหมดที่กล่าวมา เราทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ “การทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” ดังนั้น การจัดนิทรรศการคู่ขนานระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) จึงเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการที่จะทำให้ทั่วโลกได้รับรู้ถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ด้วย passion ในการร่วมกันสร้างสรรค์โลกใบเดียวนี้ของประชาชนคนไทยทุกคน