กรมวิชาการเกษตรชูสัญลักษณ์ “MFP” การันตีไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว
กรมวิชาการเกษตรชูสัญลักษณ์ “MFP” การันตีไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว
ด้วยประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว และได้รับผลกระทบจากข้อกล่าวหาขององค์กรประชาชน เพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม ของสหรัฐอเมริกา (People for the Ethical Treatment of Animals: PETA) ในเรื่องการเก็บเกี่ยวมะพร้าวโดยใช้ลิงเป็นการทรมานสัตว์ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมะพร้าวของไทยในการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แคนาดา และกลุ่มประเทศยุโรป
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร“จึงได้จัดทำมาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตมะพร้าวเพื่อการส่งออก (Monkey Free Plus หรือ MFP ) เพื่อตรวจสอบและรับรองกระบวนการผลิตมะพร้าวในระดับแปลงปลูกว่าไม่ได้ใช้แรงงานลิงเก็บเกี่ยวมะพร้าว โดยจะดำเนินการตรวจประเมินการใช้แรงงานลิงในแปลงเกษตรกรที่ได้การรับรอง GAP มะพร้าวเป็นลำดับแรก และตรวจประเมินแปลงเกษตรกรในเครือข่ายของบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวเพื่อการส่งออก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ในกระบวนการผลิตและแปรรูปมะพร้าวของประเทศไทย
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาในระยะยาวจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เพื่อวางแผนในการสนับสนุนการปลูกทดแทนมะพร้าวต้นสูงด้วยพันธุ์มะพร้าวลูกผสมของกรมวิชาการเกษตรโดยกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อรับสมัครเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการนำร่อง ตลอดจนกรมวิชาการเกษตรจะพัฒนาเครื่องมือการเก็บเกี่ยวมะพร้าวที่มีประสิทธิภาพและราคาที่ไม่สูงมากเพื่อให้เกษตรกรใช้ในการเก็บเกี่ยว
ผลการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการใช้ลิงเก็บมะพร้าว ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการสร้างแปลงมะพร้าวใหม่ให้เป็นแปลงแม่พันธุ์ และเพิ่มประสิทธิภาพแปลงปลูกเดิม วิจัยและพัฒนาเครื่องมือเก็บมะพร้าว วิจัยและพัฒนาพันธุ์มะพร้าวใหม่ที่ออกผลเร็ว ผลผลิตต่อต้นเพิ่มสูงขึ้น และต้นเตี้ย
กรมวิชาการเกษตร ร่วมมือกับภาคเอกชน ในการรณรงค์ให้เกษตรกรสมัครเข้าสู่ระบบตรวจรับรองแปลง GAP Monkey free plus และเชิญชวนเกษตรกรในเครือข่ายผู้ผลิตส่งออก ร่วมมือในการปลูกมะพร้าวทดแทนในสวนเดิมซึ่งมีมะพร้าวที่มีต้นสูงและอายุมาก
ตลอดจนรณรงค์การใช้อุปกรณ์สอยมะพร้าว เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อคู่ค้าต่างประเทศต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีประชากรมะพร้าวที่ให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตมะพร้าวอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กมพ.) ร่วมกับสำนักนิติการ ได้จัดทำประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการใช้เครื่องหมายรับรอง Monkey free Plus พ.ศ. 2566 อยู่ระหว่างเสนอลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยผู้ประกอบการที่ขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรอง GAP Monkey Free Plus เพื่อแสดงบนฉลากบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์มะพร้าว ต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP เป็นอย่างน้อย และต้องมีเกณฑ์การรับวัตถุดิบ แยกจัดการวัตถุดิบตามแหล่งที่มา มีเกณฑ์การแปรรูป การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ มีบันทึกข้อมูลทุกขั้นตอน เพื่อหลีกเลี่ยงการผสม ปะปนหรือสับเปลี่ยน ระหว่างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้การรับรอง Monkey Free Plus และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวทั่วไป โดยให้มีการชี้บ่งรุ่น และสามารถทวนสอบย้อนกลับได้ตลอดทุกขั้นตอน โดยการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการนี้เป็นภาคสมัครใจ หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดจะได้รับรหัสทะเบียน MFP เพื่อ นำไปใช้แสดงบนบรรจุภัณฑ์ GAP Monkey Free Plus ที่รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐของประเทศไทย ตอกย้ำสวนมะพร้าวไร้แรงงานลิง