กรมวิชาการเกษตร วิจัยต่อยอด เพิ่มมูลค่า พืชสมุนไพรไทย อนาคตสดใส รายได้มั่นคง เกษตรกรยั่งยืน
กรมวิชาการเกษตร วิจัยต่อยอด เพิ่มมูลค่า พืชสมุนไพรไทย
อนาคตสดใส รายได้มั่นคง เกษตรกรยั่งยืน
จากกระแส รักสุขภาพ (Health Conscious) ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ แนวทางขับเคลื่อนพืชสมุนไพรเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 – 2570 โดยมีเป้าหมายเร่งการส่งเสริมการแปรรูปพืชสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่ อาหารสุขภาพและอาหารสัตว์สมุนไพร ที่หลากหลาย เช่น อาหารฟังก์ชัน , อาหารใหม่ (Novel Food) อาหารนวัตกรรมใหม่ (innovative food) อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) และอาหารอินทรีย์
นอกจากนี้ภาครัฐเร่งส่งเสริมการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะหลังโควิด-19 ด้วยพืชสมุนไพร อาโวคาโด เป็นต้น การส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อป้อน โรงงานสกัดสารมูลค่าสูง ในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ผ่านการส่งเสริมการลงทุนของ บีโอไอ ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้วหลายโครงการ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ร่วมไปถึง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพืชสมุนไพรสู่ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์สมุนไพร ล้วนส่งผลให้มีความต้องการวัตถุดิบพืชสมุนไพรจำนวนมาก พืชสมุนไพรมีการปลูกมากถึง 1.15 ล้านไร่ แต่ผ่านการรับรองมาตรฐานเพียง 6.4 หมื่นไร่ หรือ 5.6 % ทำให้ มาตรฐานการผลิตสินค้าพืชสมุนไพร ยังไม่ตอบสนองของอุตสาหกรรม เกิดปัญหาด้านคุณภาพที่หลากหลาย ล้วนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์
“กรมวิชาการเกษตร” เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ทำการวิจัยพืชสมุนไพรและเครื่องเทศเศรษฐกิจมากกว่า 20 ชนิด เพื่อให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐาน GAP พืชอาหาร (มกษ.9001-2556) เดิมมุ่งพัฒนาด้านเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ยกระดับคุณภาพและปลอดโรค รวมทั้งยังได้รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยจากทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 200 ชนิด
ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร เร่งวิจัย เพื่อเป็น ยกระดับพืชสมุนไพรสู่สู่ มาตรฐานใหม่ GAP พืชสมุนไพร (มกษ.3502-2561) ตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข 11 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน บัวบก กระชายดำ มะขามป้อม ฟ้าทะลายโจร พลูคาว ว่านหางจระเข้ หญ้าหวาน มะแขว่น กระดอม และจันทน์เทศ (แผนแม่บทว่าด้วยสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่1 ) รวมถึงศึกษากระตุ้นการเพิ่มสารสำคัญในกล้วยไม้สมุนไพรไทยและการเพาะเลี้ยงรากของตังกุยและโสมให้ได้ สารจินเซนโนไซด์ ในห้องปฏิบัติการแทนการปลูกในแปลง
ในอนาคต (ปี 2568 – 2570) กรมวิชาการเกษตรจะเร่งวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP พืชสมุนไพร อีก 4 ชนิด ได้แก่ กระชาย ไพล เพชรสังฆาต และมะระขี้นก (แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2) และเร่งสร้างชุดเทคโนโลยีการผลิตพืชสมุนไพรเชิงอุตสาหกรรม 3 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน บัวบก และว่านหางจระเข้
ทั้งนี้ งานวิจัยพัฒนาพืชสมุนไพรของกรมวิชาการเกษตร จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกร /ภาคเอกชน สามารถผลิตวัตถุดิบสมุนไพรได้ตาม มาตรฐานสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia) ยกระดับทั้งปริมาณผลผลิตและปริมาณสารสำคัญให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์ ปลอดภัยจากสารพิษและโลหะหนัก เป็นผลผลิตที่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับ ภาคอุตสาหกรรมการแปรรูป เช่น ยาสมุนไพร อาหารเสริมสุขภาพ เวชสำอาง และต่อยอดสู่อาหารและอาหารสัตว์สมุนไพร ซึ่งจะสร้าง อนาคตที่สดใส และ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่เกี่ยวเนื่องอย่างยั่งยืน